กทม. พร้อมเปิดเมือง เน้นความโปร่งใส สร้างความมั่นใจและความหวังให้แก่นักลงทุน..V - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กทม. พร้อมเปิดเมือง เน้นความโปร่งใส สร้างความมั่นใจและความหวังให้แก่นักลงทุน..V

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Reopening Bangkok ในงานสัมมนาผู้ลงทุนสถาบันระดับนานาชาติ “Thailand Focus 2022 : THE NEW HOPE” ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เขตปทุมวัน ว่าวันนี้พูดเรื่อง Reopening Bangkok การเปิดเมือง ซึ่งถามว่าทำไมเราถึงปิด เราปิดเพราะโควิด ถามว่าตอนนี้พร้อมหรือไม่ พร้อมแน่นอน เพราะว่าจำนวนผู้ป่วยลดลง เตียงมีเหลือเพียงพอ ใช้เตียงไปแค่ 35% ยามีเพียงพอ อัตราการฉีดวัคซีนโดส 2 เกิน 100% และอัตรากลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนก็เกิน 50% แล้ว ทุกอย่างเราพร้อมที่จะเปิดเมือง

● หน้าที่ของกทม.คืออะไร

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หัวใจของกทม.คือต้องสร้างความมั่นใจคืนมาให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยต้องมีความร่วมมือที่เข้มแข็งกับภาคเอกชน กทม.เรามีทรัพยากรจำกัด เพราะเราได้งบประมาณแค่ประมาณ 2.6% เมื่อเทียบสัดส่วนกับงบประมาณของประเทศ แต่สัดส่วนประชากรของกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 12% ของประชากรทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น หน้าที่หลักของกทม. คือต้องมีความโปร่งใส ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า มีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกำหนดทิศทางของเมือง

"หน้าที่ของผู้ว่าฯ ไม่ใช่แค่เรื่องเก็บขยะ ล้างท่อ แต่ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญของเมือง อนาคตเราต้องดึงดูดธุรกิจที่ดี คนที่เก่งมาที่เมือง เพื่อสามารถสร้างงาน และสุดท้ายก็มีภาษีจ่ายคืนมาให้เมืองเอาไปพัฒนาต่อ ถ้าเมืองไม่มีเศรษฐกิจที่ดี ไม่มีคนจ่ายภาษี สุดท้ายเมืองก็ไปไม่รอด มันก็เป็นวงจรที่ต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

● อะไรคือสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา

ผู้ว่าฯ กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าสนใจเพราะเป็นเมืองที่มีทั้ง High Tech และ High Touch ในส่วนของ High Tech เรามีความก้าวหน้า มีสิ่งปลูกสร้าง มีสิ่งอำนวยความสะดวก ส่วน High Touch เราก็มีศิลปวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนอยากมาเที่ยวมากที่สุดในโลก เพราะเรามีสิ่งที่น่าสนใจ มีเสน่ห์มากมาย นอกจากนั้นแล้ว เรายังมีค่าครองชีพที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับหลาย ๆ เมืองทั่วโลก Living Index เราไม่ได้สูงมาก เรามีโรงแรมจำนวนมากประมาณ 1.2 แสนห้อง ในกรุงเทพฯ เรามี office space ในอนาคตถึง 10 ล้านตารางเมตร ปัจจุบันเรามีอยู่ประมาณ 8 ล้านกว่า เรามี convention center (ศูนย์ประชุม) ขนาดใหญ่ สามารถรองรับอุตสาหกรรม MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ซึ่งเชื่อว่าอนาคตกรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจในภูมิภาคได้

● อุปสรรคคืออะไร

ผู้ว่าฯ กล่าวว่า อุปสรรคคือเรื่องความโปร่งใส ความมั่นใจ กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ มากกว่าการเป็นภาระให้เขา เราต้องผิดชอบในส่วนของตัวเอง เราต้องเริ่มจากความโปร่งใส เราทำ Open Data ทำข้อมูลให้ชัด ปรับปรุงกระบวนการขอใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น ต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่ม empower ให้ประชาชน ใช้แอปพลิเคชัน เช่น Traffy Fondue ให้ประชาชนรู้สึกว่ามีส่วนร่วม สร้างความหวังให้เขา นี่คือสิ่งสำคัญที่กทม.ต้องเร่งทำหลาย ๆ อย่างเราทำเองไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีความรู้เท่ากับผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เช่น ด้านธุรกิจ เราไม่ได้มีความรู้มากเท่ากับภาคเอกชน จึงต้องหาแนวร่วม โดยกทม.จะตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) นำภาคเอกชนมาร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ชี้จุดอ่อนต่าง ๆ ว่าจะปรับปรุงตรงไหนได้บ้าง เพื่อให้การทำงานร่วมกันสะดวก อนาคตเราอยากจะให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของธุรกิจในภูมิภาค เพราะเรามีสิ่งดี ๆ มากมายที่จะสู้ได้ ดึงธุรกิจมาสร้างงานที่มีคุณภาพให้กับกรุงเทพฯ พอเรามีงานดี มีภาษีแล้ว เราก็สามารถสร้างคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสวัสดิการได้ สุดท้ายแล้วก็จะเป็นวงจรที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น

● แนวทางการมอบอำนาจ (empower) ให้ประชาชน

ผู้ว่าฯ กล่าวว่า เราใช้โปรแกรม Traffy Fondue ให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุต่าง ๆ แจ้งปัญหาได้ แค่นี้เขาก็รู้สึกว่ามีอำนาจที่จะต่อเชื่อมกับผู้ว่าฯ ได้แล้ว ประชาชนเห็นปัญหา แจ้งเข้ามา เราแก้ไขได้เลย สิ่งนี้คือการ empower จากนี้ไปก็จะทำเรื่องการมีส่วนร่วมตั้งงบประมาณ คือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณมากขึ้น ให้เขาสามารถมีสิทธิมีเสียง ขณะนี้กำลังฟอร์มสภาคนรุ่นใหม่ คือให้เด็กรุ่นใหม่ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่มีสิทธิมีเสียง มีโอกาสเข้ามาแสดงความเห็นมากขึ้น มี Public Space หรือพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ให้คนมาเจอกัน มี co-working space ซึ่งสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้จะสร้าง momentum ขนาดใหญ่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

"ระยะเวลา 3 เดือน จะเห็นได้ว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรีในสวน หนังกลางแปลง ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ในใจคนถือเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน การที่เราให้ความสำคัญ ให้คนเห็นคุณค่าของเมือง การมาร่วมกัน การไม่ได้ดูแต่จุดต่าง แต่ดูสิ่งที่เห็นเหมือนกัน ความร่วมมือร่วมใจขนาดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี ผมเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในเมืองได้ โดยไม่ต้องใช้เงินมาก ฉะนั้น การเปลี่ยนเมืองไม่ต้องใช้เงินเป็นเมกะโปรเจกต์อะไร ขอแค่มีความร่วมมือร่วมใจ ผมว่าสิ่งต่าง ๆ มันจะเริ่มดีขึ้นได้" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

● บทบาท กทม. ในตลาดทุน

ผู้ว่าฯ กล่าวว่า ตลาดทุนต้องมีนักลงทุนที่มีคุณภาพ มีบริษัทที่ดี บทบาท กทม. ในตลาดทุน ก็คือเรื่อง "ความโปร่งใส" และกทม.ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่เป็นผู้สร้างภาระให้กับบริษัท กระบวนการขอใบอนุญาต การเก็บภาษีต่าง ๆ จะต้องมีความโปร่งใส สร้างความมั่นใจให้คืนมา

"จริง ๆ แล้ว เราเพิ่งเลือกตั้งกันมา นอกจากบทบาทในการดูแลกทม.แล้ว เราต้องเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจความไว้ใจกลับคืนมาให้กับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพื่อให้รู้ว่าการเลือกตั้งสามารถส่งผลที่เปลี่ยนชีวิตเขาให้ดีขึ้นได้ ถ้าเราทำงานได้ดี สภากทม.ทำงานได้ดี ทีมผู้ว่าฯ กทม.ทำงานได้ดี นอกจากคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ จะดีขึ้นแล้ว ทั้งประเทศก็จะเห็นเลยว่าระบบประชาธิปไตยยังมีพลังอยู่ ยังเป็นระบบที่เราเชื่อมั่นได้ว่าสุดท้ายจะสามารถให้คำตอบที่ดีกับเมืองและประเทศได้ รวมถึงยังมีความหวังได้ ซึ่งก็จะมีผลกับตลาดทุนด้วย" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจprbangkok.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น