กทม. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำโดยการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้...D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กทม. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำโดยการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้...D

“การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาประเทศ หน่วยงานรัฐต้องรู้บทบาทว่าเราทำอะไรได้ ซึ่งกทม.มีโรงเรียนในสังกัด 437 โรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถม การพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ในเด็กระดับประถมอาจจะเป็นจุดยืน (positioning) สำคัญของโรงเรียนกทม. หากเรามีจุดเด่นในระดับประถมศึกษาได้ เราจะสามารถส่งต่อนักเรียนคุณภาพไปสู่ระบบมัธยมของโรงเรียนต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ เรามีทรัพยากรที่จำกัด การโฟกัสที่ระดับประถมเป็นหลัก จะทำให้เราจัดการทรัพยากรได้ดีและทำได้อย่างเต็มที่” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในการร่วมเสวนาออนไลน์ Monthly Webinar Session เรื่อง เพิ่มศักยภาพเด็กไทยด้วย “โรงเรียนฉลาดเล่น” ถึงเหตุผลที่เน้นสร้างการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครในระดับประถมศึกษาเป็นหลัก

สำหรับการเสวนาดังกล่าวออกอากาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก MUSEF Conference วันนี้ (26 ส.ค. 65) เมื่อเวลา 19.00 น. โดยมี รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์กรและสารสนเทศ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนา และนายพัทธ์ ชนภัณฑารักษ์ เป็นพิธีกร

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนอยู่กับสถานการณ์โควิดนาน จึงทำให้อยากออกมาใช้ชีวิต อยากอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และกทม.มีโครงการหลายอย่าง เช่น ดนตรีในสวน หนังกลางแปลง บางกอกวิทยา เปลี่ยนพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เรียนรู้ และจะมีเทศกาลตลอดทั้งปีเพื่อให้คนได้ออกมาใช้ชีวิต โดยในส่วนของบางกอกวิทยา เป็นกิจกรรมที่เราใช้พื้นที่ที่เรามีอยู่ จับมือกับหน่วยงานหรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาอยู่แล้ว และกทม.นำมาขยายให้กว้างขึ้น เพราะเราเชื่อว่า “การศึกษาไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้”

จากนั้น ได้กล่าวถึงนโยบาย Open Education เติมเต็มการเรียนรู้ของนักเรียนในสังกัดกทม. ผ่านการร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคม อาทิ โครงการ After School Program โครงการ Saturday School โครงการ Sunday Funday เปิดโรงเรียนเป็นพื้นที่กิจกรรม เป็นต้น เพื่อให้เด็กสนใจในการเรียนรู้ โดยมีครูสนับสนุน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เกิดจากความสมัครที่เด็กอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งได้กล่าวถึงนโยบายในการลดภาระครู เพิ่มสวัสดิการครูให้เหมาะสม ซึ่งหลายนโยบายของกทม.สอดคล้องกับงานวิจัยของ รศ.ดร.ปิยวัฒน์

ด้าน รศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า ทุกคนในสังคมตอนนี้รู้สึกเป็นห่วงและรับรู้ได้ว่า การศึกษาไทยน่าจะถึงเวลาที่จะขยับ ปรับลดหลักสูตร ปรับวิธีกระบวนการในการเรียนรู้ สร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีประเด็นที่สร้างผลกระทบที่น่าเป็นห่วง โดยใน 188 ประเทศเด็กเกิดภาวะ learning loss หรือการสูญเสียการเรียนรู้ คือการเรียนรู้ในสิ่งควรจะรู้ในช่วงวัยนั้น ๆ ช้าลงไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเด็กไทย แม้ว่าการเรียนออนไลน์จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการศึกษาในช่วงโควิดได้ แต่ก็มีส่วนที่เป็นปัญหา อาทิ เด็กมีอาการปวดหลัง ปวดตา วิถีชีวิตเด็กเปลี่ยนไป ตื่นมาเข้าเรียนโดยยังไม่ได้รับประทานอาหาร เข้านอนดึก เด็กมีภาวะเครียด ซึ่งสถานการณ์ข้างต้นกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะการนอนจะทำให้เด็กเจริญเติบโต ทั้งเรื่องความสูง สติปัญญา และสภาพจิตใจ รวมถึงส่งผลกระทบกับการเล่น คือเด็กนั่งอยู่แต่หน้าจอเป็นเวลานาน

จากนั้นได้กล่าวถึง โรงเรียนฉลาดเล่น ซึ่งเป็นโครงการให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้และเล่นไปพร้อมกัน ทำให้เสียงหัวเราะของเด็กและรอยยิ้มของครูกลับมา โดยนำกิจกรรมเข้าไปสอดแทรกในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการและจังหวะของการเรียนรู้ที่ตรงกัน จากการวิจัยพบว่าใน 1 วัน เด็ก 1 คน ต้องมีกิจกรรมทางกาย 60 นาที เพราะสมองของเด็กพัฒนาการได้โดยการเคลื่อนไหว โดยเป้าหมายและกลไกสู่ Active School คือให้เด็กเคลื่อนไหว ออกแรง วิ่งเล่นออกกำลังกาย เล่นกีฬา สะสมเฉลี่ยให้ได้ 60 นาทีทุกวัน ด้วยแนวคิด 4PC คือ Active Policy (นโยบาย) Active People (บุคลากร) Active Program (กิจกรรม) Active Place (พื้นที่) และ Active Classroom (ห้องเรียน)

พร้อมได้เล่าถึงตารางการเรียนรู้ เวลาที่เหมาะสมในการเรียนรู้ของเด็ก เวลาที่ควรสอดแทรกกิจกรรม รวมถึงพีระมิดการเล่น ซึ่งหมายถึงกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการของเด็ก โดยกิจกรรมที่จะต้องมีมากที่สุดคือ การเล่นเพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลาย เพิ่ม EQ รองลงมาคือการเล่นเพื่อเสริมสร้างทักษะ ให้เกิดการพัฒนาการตามเป้าหมาย ส่งเสริมการเรียนรู้ และที่น้อยสุดคือกิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง จากนั้นได้แนะนำหนังสือ 2 เล่ม ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยนี้ คือ สารตั้งต้น เล่ม 1 “สนามฉลาดเล่น” และสารตั้งต้น เล่ม 2 “ห้องเรียนฉลาดรู้” โดยยินดีให้กทม.และครูจากทั่วประเทศที่สนใจสามารถนำไปต่อยอด เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนได้

สำหรับผู้ที่สนใจรับชมการเสวนาย้อนหลัง สามารถรับชมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก MUSEF Conference หรือคลิก https://fb.watch/f8BzeGxupa/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad