คณะกรรมการตรวจสอบฯ DES ติดตามการใช้งานระบบ GDCC ใน จ.นครราชสีมา – แนะดีป้าทำโมเดลต้นแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2565

คณะกรรมการตรวจสอบฯ DES ติดตามการใช้งานระบบ GDCC ใน จ.นครราชสีมา – แนะดีป้าทำโมเดลต้นแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล


เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ค.ต.ป.ดศ.) พร้อมคณะเดินทางตรวจเยี่ยมการใช้งานระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ณสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ สถาบันฯ มีการใช้งานระบบ GDCC จำนวน 6 ระบบ ซึ่งเป็นระบบงานที่ใช้ภายในสถาบัน และมีความต้องการใช้งาน GDCC เพิ่มอีก 3 ระบบ โดย ค.ต.ป.ดศ. เห็นว่าแนวทางที่สถาบันฯ ดำเนินการดังกล่าวนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศ กรณีต้องการใช้งานระบบ GDCC เพิ่มขอให้จัดส่งโครงการเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้พิจารณาโดยเร็ว ในโอกาสนี้ ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนกับทางสถาบันฯ เห็นควรส่งเสริมให้มีการใช้ในระดับ SME มากขึ้น เพื่อจะได้นำไปพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไป


จากนั้น ได้ติดตามโครงการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีแก่วิสาหกิจชุมชนด้านเกษตรและท่องเที่ยว ณ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ตำบลพุดซา อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการปลูกผักสลัดเพื่อเพิ่มรายได้ และได้ขยายผลในการปลูกผักสวนครัว พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ในการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้กับชุมชนอื่นๆ ถือเป็นการดำเนินงานที่ครบวงจรและเกิดผลสำเร็จอย่างแท้จริง ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด./ดีป้า) ในการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานทำการเกษตรอินทรีย์ ซึ่ง ค.ต.ป.ดศ. เสนอให้ทำเป็นโมเดลต้นแบบให้เห็นภาพการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปต่อยอดถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชนและเกษตรกรกลุ่มอื่นต่อไป จากนั้น คณะฯ เดินทางไปยังศูนย์ดิจิทัลชุมชนเมืองนครราชสีมา เพื่อติดตามการดำเนินงานและการใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งเสนอแนะให้ผู้ดูแลศูนย์ฯขยายผลไปยังประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์ด้วยนอกเหนือจากเด็กนักเรียน และขอให้ผู้บริหารโรงเรียนเมืองนครราชสีมาพิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการภายหลังสิ้นสุดโครงการของกระทรวงฯ แล้ว เพื่อให้ศูนย์ฯ มีความยั่งยืนต่อไปได้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad