เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 65 เวลา 09.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม Hack BKK เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม ซึ่งกรุงเทพมหานคร และสมาคมสตาร์ทอัพไทย ร่วมกันจัดขึ้น โดยมี ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย นางวันทนีย์ วัฒนะ และนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร กลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลบางกอกวิทยา ที่ไม่ใช่สำคัญเฉพาะสำหรับสตาร์ทอัพ แต่สำคัญสำหรับกรุงเทพมหานครด้วย เพราะเชื่อว่าการที่เราจะพัฒนาแก้โจทย์ปัญหาของเมืองได้จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ความร่วมมือ ซึ่งกทม.ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเท่ากับผู้คนที่อยู่ในแวดวงต่าง ๆเมื่อก่อน วิธีการจัดทำนิทรรศการจะต้องหาออแกไนเซอร์ เพื่อคิดธีม เตรียมงาน จัดงาน กว่างานจะเกิดขึ้นก็ใช้เวลากันนาน อย่างน้อย 2 เดือน แต่ “บางกอกวิทยา” ถือเป็นวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ของกรุงเทพมหานคร โดยมองใหม่ว่า จริง ๆ แล้ว เรามีคนที่มีวิชาความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มากมายในกทม. ซึ่งกทม.เปลี่ยนจากการเป็นผู้จัดงาน มาเป็นผู้รวบรวมและช่วยสนับสนุนคนที่จัดงานอยู่เดิม โดยเราก็ได้ความร่วมมือจาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมสตาร์ทอัพไทย และ Techsauce เกิดเป็นเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำเดือนสิงหาคม 2565 ขึ้นมา
ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือน มีงานมาแล้วน่าจะเกิน 20 งาน จากเครือข่ายต่าง ๆ ประมาณ 20 เครือข่าย อาทิ นวัตกรรมต่าง ๆ space หุ่นยนต์ นิเวศวิทยา ดูนก ดูกระรอก จนกระทั่งถึงวันนี้ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสตาร์ทอัพ ทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์มีความกว้างและหลากหลายมาก
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า มีสิ่งหนึ่งที่พูดในหลาย ๆ เวที คือ ความสำคัญและความท้าทายของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อเมือง ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง การลดความเหลื่อมล้ำ และการดึงคนเก่งให้อยู่กับเมือง
1. การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง
กรุงเทพมหานครได้นำ Traffy Fondue มาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งคิดว่าเป็นมิติสำคัญที่เทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ของเมืองจริง ๆ ทำให้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องที่กังวลจิตใจ และกทม.นำมาแก้ไขให้ประชาชนได้จริง ๆ ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของการร้องเรียนที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท แต่จะต้องนำมาพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อไป เช่น การระบายน้ำ การจราจร เป็นต้น รวมไปถึงโจทย์อีก 13 โจทย์ที่เป็น Public Track และ 6 ทีม ที่มาร่วมแก้ไขกันวันนี้ เชื่อว่าวันหนึ่งเราจะได้ solution ที่มาจากประชาชน และรัฐก็นำมาใช้ในการแก้ปัญหาของเมือง ซึ่งเราจะเปลี่ยน Civic Tech หรือ Civic Technology (เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มที่องค์กรภาคประชาชนพัฒนาขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงานของรัฐ) มาเป็น GovTech หรือ Government Technology (การให้บริการจากภาครัฐโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการทำงาน ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์จากการเข้าถึงบริการของภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น ประสิทธิภาพมากขึ้น)
2. การลดความเหลื่อมล้ำ
เวลาเราพูดถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราจะพูดว่าเราจะไปข้างหน้าได้อย่างไร แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังมีมิติของการเก็บคนข้างหลังให้ไปด้วยกัน เพราะการมองไปข้างหน้าอย่างเดียวอาจจะทำให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไป ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเราจะต้องทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปลูกฝังอยู่กับน้อง ๆ นักเรียน เพื่อให้น้อง ๆ ทันต่อการเปลี่ยนผ่านของดิจิทัล
3. การดึงคนเก่งให้อยู่กับเมือง
เป้าหมายของเมืองคือการทำให้คนเก่งอยู่กับเมือง ซึ่งสตาร์ทอัพเป็นคนที่เป็นเพชรของเมือง เป็นคนที่มีความสามารถ มีศักยภาพ กทม.จึงมีหน้าที่ในการทำให้คนเก่งและมีความสามารถเหล่านี้ยังมีความหวังที่อยากจะอยู่กับเมือง เป็นเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่กทม.จะต้องทำให้ได้
“ผมก็รู้สึกดีใจมากที่วันนี้ได้นำความฝันมาทำให้เป็นความจริง จากโจทย์ที่เราไม่รู้ว่าจะมีใครสมัครมาไหม ก็มีสตาร์ทอัพ 6 กลุ่ม สมัครเข้ามา และในส่วนของ Public Track จำนวน 13 โจทย์ ก็มีคนสมัครมาเป็นร้อยคน ซึ่งก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กทม.จะมีกิจกรรมลักษณะนี้ต่อไป เชื่อมั่นว่า solution ต่าง ๆ ไม่ได้เกิดจากกทม. แต่เกิดจากประชาชนแบบนี้ ขอให้กำลังใจทุกท่าน เราไม่ได้มีแค่สถานที่ให้ แต่เรามีผู้บริหารของกทม.มาอยู่ด้วย มีทีมที่จะทำให้ทุกกลุ่มเกิดการทำงานอย่างจริงจัง และเกิด solution จริง ๆ” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวในตอนท้าย
สำหรับ Hack BKK เป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาล “บางกอกวิทยา” ประจำเดือนสิงหาคม ภายใต้นโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ โดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมสตาร์ทอัพไทย จัดกิจกรรม Hack BKK ระหว่างวันที่ 6 - 25 สิงหาคม 2565 เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการได้มีส่วนร่วมในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเมืองและขับเคลือนนโยบายให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม
Hack BKK คือ Hackathon ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งคำว่า แฮกกาธอน (Hackathon) มาจากการรวมคำว่า “แฮก (Hack)” หมายถึง การสร้างสิ่งใหม่ กับ “มาราธอน (Marathon)” หมายถึง การทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก รวมกันแล้วได้ความหมายว่า การสร้างสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับตามระยะเวลาที่ผู้จัดกิจกรรมกำหนด โดยกิจกรรม Hack BKK ครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน สำหรับประชาชนทั่วไป (Public Track) และสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup Track)
● Public Track เปิดรับสมัคร “Hack from Anywhere” คือเปิดกว้างสำหรับประชาชนที่สนใจได้เสนอไอเดียแก้ปัญหาผ่านนวัตกรรม ภายใต้โจทย์ 13 หัวข้อ จาก กทม. ได้แก่
1. คนไร้บ้านมีสวัสดิการ
2. ตัวเลือกที่อยู่อาศัยไม่เกิน 2,000 บาท
3. น้ำท่วมไม่เกิน 20 เซนติเมตร
4. ฐานข้อมูลต้นไม้ใน กทม. เรียกดูได้ทุกที่
5. รับมือฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นระบบ
6. การเดินทางวางแผนได้
7. ฐานข้อมูลสายไฟและสายสื่อสารที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน
8. เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างสะดวก ถูกต้อง เป็นธรรม
9. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานระดับเขต
10. สร้างแรงจูงใจ คนกรุงเทพฯ รักสุขภาพ
11. นัดหมายแพทย์ทางออนไลน์ ง่าย รวดเร็ว
12. ติดอาวุธเทคโนโลยีให้อาสาสมัครสาธารณสุข
13. ส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินแบบไร้รอยต่อ ระหว่างโรงพยาบาล - กู้ภัย
โดยได้มีการเปิดรับสมัคร Hack from Anywhere ไปแล้ว และคัดเลือก 10 ผลงาน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและโหวต เพื่อเฟ้นหารางวัลขวัญใจมหาชน “Popular Vote” ทางเพจเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ จากนั้นจะมีการประกาศคะแนน Public Vote ในวันที่ 24 ส.ค. 65 เวลา 18.00 น. และ 3 ทีมที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด จะได้นำเสนอผลงานในวันที่ 25 ส.ค. 65 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
● Startup Track สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์และบริการพร้อมโดยจะมาร่วม Hack ในหัวข้อ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม” ซึ่งในวันนี้มี 6 ทีม ที่ได้เข้ามาหาแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบจากทางกรุงเทพมหานคร ได้แก่
1. iTAX ซึ่งร่วมหารือในหัวข้อ ระบบขึ้นทะเบียนจัดการหาบเร่แผงลอย (เศรษฐกิจดี)
2. Vulcan Coalition ซึ่งร่วมหารือในหัวข้อ การบริการที่ทั่วถึงสำหรับคนพิการ (บริหารจัดการดี)
3. Zipevent ซึ่งร่วมหารือในหัวข้อ ระบบจองพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งกรุงเทพฯ (สร้างสรรค์ดี)
4. เป็ดไทยสู้ภัย ซึ่งร่วมหารือในหัวข้อ ระบบการจัดการโรคระบาดและโรคติดต่อฉุกเฉิน (สุขภาพดี)
5. Baania ซึ่งร่วมหารือในหัวข้อ การเชื่อมฐานข้อมูลชุมชน ทำให้เป็น Open Data (โครงสร้างดี)
6. Horganice ซึ่งร่วมหารือในหัวข้อ ฐานข้อมูลห้องพักในราคาที่เข้าถึงได้ (โครงสร้างดี)
ทั้ง 6 ทีม จะมาร่วมกิจกรรมกันที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ระหว่างวันที่ 23 - 25 ส.ค. 65 ซึ่งในวันนี้ (23 ส.ค. 65) แต่ละทีมจะได้รับฟังการบรรยายในหัวข้อ Government Transformation โดย ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต หัวข้อ Data-driven Government โดยรศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) หัวข้อ Makoto Marketing for Government โดย ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันกำหนดปัญหา และสรุปการดำเนินการในแต่ละกลุ่ม ในวันที่ 24 ส.ค. 65 แต่ละทีมจะร่วมกันออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหา และในวันที่ 25 ส.ค. 65 จะเป็นการนำเสนอผลงาน
ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ส.ค. 65 กรุงเทพมหานครจะดำเนินการ LIVE การนําเสนอไอเดียของผู้ผ่านการคัดเลือก ทั้งในส่วนของ Startup Track และ Public Track โดยประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์” จากนั้น ในวันที่ 26 ส.ค. 65 จะมีการนำผลงานที่ได้รับการคัดเลือกไปเสนอในงาน Techsauce Global Summit 2022 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เขตคลองสาน (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจprbangkok)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น