รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ปาฐกถาพิเศษ “เปิดมุมมองเมืองอัจฉริยะ เมืองฉลาด คนฉลาด บริหารจัดการอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี” ..B - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ปาฐกถาพิเศษ “เปิดมุมมองเมืองอัจฉริยะ เมืองฉลาด คนฉลาด บริหารจัดการอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี” ..B

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 65 เวลา 15.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เปิดมุมมองเมืองอัจฉริยะ เมืองฉลาด คนฉลาด บริหารจัดการอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี” ในพิธีเปิดโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (The Smart City Ambassadors: SCA) รุ่นที่ 2 ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า จัดขึ้น ณ Lido Connect Hall 2 สยามสแควร์ เขตปทุมวัน

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ มีความสำคัญในการพัฒนาเมือง แต่ที่สำคัญกว่าคือบุคลากรหรือคน เมืองคือคน ถ้าเราไม่สามารถทำให้คนเข้าใจและรู้ความต้องการของคน เราก็ไม่สามารถพัฒนาไปอย่างถูกต้อง ถูกจุดได้ เทคโนโลยีต่าง ๆ สำหรับตนมีความสำคัญต่อการบริหารกรุงเทพมหานครอยู่ประมาณ 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 คือ เรามีหน้าที่ทำให้ประสิทธิภาพของเมืองดีขึ้น เทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสิทธิภาพของเมืองดีขึ้น ตัวอย่างเช่น เรานำนวัตกรรมที่มีอยู่เดิมของสวทช. ชื่อ Traffy Fondue มาใช้กับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีคนรายงานมาประมาณ 120,000 เรื่อง สิ่งสำคัญคือนวัตกรรมนี้เป็นของเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ เนื่องจากใช้งานได้ง่ายและสามารถส่งคำร้องเรียนตรงไปที่เขต ซึ่งเขตมีหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพในการดูแลทุกคน ไม่จำเป็นต้องส่งจดหมาย ไม่ต้องผ่านสำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร ไม่ต้องผ่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน 120,000 เรื่อง แก้ไขแล้วประมาณ 50% โดยที่ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ต้องสั่งการแม้แต่คำเดียว ผมคิดว่าเทคโนโลยีแบบนี้มันทำให้สิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวัน หรือสิ่งที่ประชาชนขัดข้องหมองใจ สามารถที่จะถูกรับฟังและแก้ไขได้ภายในแอปพลิเคชันเดียว นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ตนคิดว่า มันเป็นนวัตกรรมเดิมที่เราหรือเมืองไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดอะไรใหม่ สิ่งนี้ทำให้เรากลับมามองว่า การแก้ไขปัญหา (solutions) ของเมืองหรือความท้าทาย (challenge) ของเมือง มันมีคนคิด solutions ไว้แล้วหรือไม่ เราจะใช้ platform ที่มีอยู่เดิมมาช่วยเหลือสังคมอย่างไร นี่เป็นโจทย์ที่กรุงเทพมหานครพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของเมืองผ่านการร่วมมือกับเอกชนและประชาสังคมโดยอาศัยนวัตกรรมที่มีอยู่เดิม

เรายังมี challenge อีกมาก อาทิ เรื่องการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกของกทม. ไม่ว่าจะมีผู้ว่าฯ กี่คน ปัญหานี้แทบจะไม่เคยแก้ไขได้เลย สิ่งที่เราพยายามจะทำคือการผลักดันผ่านการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการสมานทีม สร้าง one stop service ที่จะสั่งการได้ทันที สิ่งนี้สำคัญอย่างไร สิ่งนี้คือการเชื่อมคนผู้ปฏิบัติงานจริงก่อน จากนั้นจึงดูว่าเรามีเทคโนโลยีอะไรที่จะช่วยเหลือได้ นี่เป็นแนวทางที่เราจะผลักดันในเรื่องจราจร

ปัญหาเรื่องน้ำรอการระบาย ปัญหานี้เราได้กลับมามองว่าน้ำรอการระบายมีต้นเหตุมาจากอะไร เราจะทำอย่างไรให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น สำนักงานเขตมีศักยภาพและประสิทธิภาพที่จะช่วยเหลือได้ทันท่วงทีหรือไม่ สิ่งเหล่านี้อาจนำเทคโนโลยีมาช่วยได้ มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเมืองได้มากขึ้น และยังมีปัญหา PM2.5 ที่กำลังจะมาในปลายปี เรายังมีปัญหาเรื่องปากท้อง การท่องเที่ยว เศรษฐกิจต่าง ๆ ตนคิดว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยได้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ

ประเด็นที่ 2 สิ่งที่เทคโนโลยีจะช่วยได้คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำหรือการศึกษา เวลาเราพูดถึงเทคโนโลยีหรือ smart city เรามองไปข้างหน้า แต่จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีสามารถเก็บเกี่ยวคนข้างหลังไปด้วยกันได้ไหม อันนี้ถือเป็น challenge ว่า เราสามารถทำอย่างไรให้เทคโนโลยีหรือ smart city สามารถไปเก็บเกี่ยวคนข้างหลังมาอยู่ในสมการการพัฒนาได้ด้วย หลายครั้งเมืองใหญ่เรามี challenge เรื่องปัญหาคนจน คนไร้บ้าน ปัญหาคนเปราะบาง การที่เราพูดถึงเทคโนโลยี มีเขาอยู่ในสมการแค่ไหน อย่างไร ตนคิดว่าเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญคือ การศึกษา เราจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีเรื่อง smart city ต่าง ๆ ไปอยู่ในระบบการศึกษาของเมืองได้ด้วย นี่ก็เป็น challenge ที่คิดว่าเราจะพยายามเปิดโรงเรียนของกรุงเทพมหานครและสร้างหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เปิดโรงเรียนวันเสาร์ อาทิตย์ เปิดชุมชน เปิดพื้นที่ที่เป็นโจทย์จริงแล้วเอานักเรียนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาในเมืองด้วยวิธีคิดใหม่ ๆ อย่างไร

ประเด็นที่ 3 ตนคิดว่าสำคัญมากคือเรื่องของคน โจทย์ของคนหรือเมืองที่ท่านผู้ว่าฯ พูดอยู่เสมอคือ เราอยากให้มีคนเก่ง ๆ อยู่ในกรุงเทพฯ เราอยากให้คนยังมีความหวังอยู่กับกรุงเทพฯ เราไม่อยากให้สมองไหล ไม่อยากให้คนเก่ง ๆ ออกจากกรุงเทพไปในเมืองอื่น ๆ ตนคิดว่าเป้าหมายของเมืองจริง ๆ แล้วคือการดึงดูดคนเก่ง คือทำให้คนเก่งยังมีความหวัง ประเด็นนี้สำคัญมาก ไม่ใช่ประเด็นเล็ก ๆ หากคนหมดหวัง คนอยากย้ายเมือง ไม่มีความหวังอยู่กับเมืองแล้ว เมืองก็จะไม่มีทรัพยากรที่สำคัญ เมืองก็จะขาดการพัฒนาไปโดยปริยาย จะทำอย่างไรให้มีแหล่งคนเก่ง ๆ อยู่ตามจุดต่าง ๆ ตนมีความคิดความหวังที่จะสร้างสรรค์เมืองให้อยู่ได้ จะทำอย่างไรที่จะไม่ดึงดูดเฉพาะแค่คนไทย แต่รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เก่งเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ให้ได้ นี่เป็นโจทย์ที่สำคัญที่เราเล็งเห็นว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น