ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กบดินทรเดชา บอกเล่าประสบการณ์ 5 ข้อ เชื่อชีวิตเปลี่ยนได้ เพราะตัวเราเอง - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กบดินทรเดชา บอกเล่าประสบการณ์ 5 ข้อ เชื่อชีวิตเปลี่ยนได้ เพราะตัวเราเอง

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นวิทยากร ในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้ปกครองและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 3 เรื่อง "กระตุ้นความคิด ต่อยอดความฝัน" โดยมี นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ ส.ก.เขตวังทองหลาง น.ส.อัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง นายสุพัฒน์ อัตจริต รองผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มบริหารงานบุคคล คณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง ร่วมรับฟังการบรรยาย ณ หอประชุมบดินทรพิพัฒน์ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เขตวังทองหลาง

• สิ่งสำคัญที่ทุกคนมีเท่ากัน คือ เวลา

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หัวใจของการประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนหนึ่งคือการบริหารเวลา ที่เรามีเท่ากันทุกคนอย่างไร ซึ่งความแตกต่างในชีวิตมาจากการบริหารเวลา โดยยกตัวอย่างเรื่องโถแห่งชีวิต (jar of life) ชีวิตของคนเราทุกคนเหมือนโถแก้วว่างเปล่า 1 ใบ หน้าที่ของเราคือจะต้องนำสิ่งของ 3 สิ่งใส่ลงไป ได้แก่ หินก้อนใหญ่ แทนสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต กรวด แทนสิ่งที่สำคัญรองลงมา และทราย แทนสิ่งที่ไม่สำคัญในชีวิต ถ้าเราใส่ทรายลงไปในโถแก้วก่อน แล้วค่อยใส่กรวดและหิน เราอาจไม่มีที่ว่างเหลือสำหรับหิน แต่ถ้าเราใส่หินก่อน ตามด้วยกรวดและทราย กรวดจะแทรกตามช่องว่างของหินและทรายแทรกลงในช่องว่างที่เหลือ ดังนั้นเราต้องกำหนดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต และจัดลำดับความสำคัญก่อนหรือหลังให้ดี ต้องจัดความสมดุลให้กับชีวิต และรู้จักแบ่งเวลาให้ดี

"ชีวิตเราก็คือ เวลา ถ้าชีวิตมีค่ามหาศาล เวลาแต่ละวินาทีก็มีค่ามหาศาลเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าให้เวลาผ่านไปโดยไม่มีประโยชน์" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

• ระเบียบวินัยทำให้เรามีอิสระในการเลือกทางเดินในชีวิต

ต่อมาเป็นเรื่องการมีวินัยในชีวิต โดยสร้างวินัยในตนเอง จัดสรรเวลาในชีวิตให้ดี ดังคำกล่าวของ Eliud Kipchoke นักวิ่งชาวเคนย่า ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “คนที่มีระเบียบวินัยในตัวเอง เท่านั้นถึงจะมีอิสระในชีวิต” ถ้าไม่มีระเบียบวินัยเราจะต้องเป็นทาสของอารมณ์และความรู้สึก

• เอาใจเขามาใส่ใจเรา

จากนั้น ได้ให้ข้อคิดว่า ปัญหาของโลก คือ เราเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้คิดถึงคนอื่นไม่ได้คิดถึงสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่ค่านิยมจะเน้นที่ตัวเอง (Self) การจะประสบความสำเร็จในอนาคตได้ ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย คือ มีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่าเอาตนเองเป็นที่ตั้ง ความสุขจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามีความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เรามีอนาคตที่ดีขึ้นได้ด้วย

• เคารพความคิดเห็นของคนอื่น

ต่อมาได้บรรยายถึงปัญหาที่เจอในสังคม คือ การรีบตัดสินคนจากสิ่งที่เราเห็น เพราะเราไม่รู้ว่าชีวิตเขาผ่านอะไรมาบ้าง เรื่องราวในชีวิตคนทุกคนล้วนมีเบื้องหลัง อย่าวิจารณ์ด่าคนอื่น ถ้าอยากชนะใจเพื่อนต้องหาจุดร่วม เปรียบเหมือนการเต้นรำเป็นจังหวะเดินไปด้วยกัน ไม่ใช่การฟันดาบที่ค่อย ๆ ขยับ สังเกตว่าเพื่อนต้องการอะไร หาข้อดีของเพื่อน ชื่นชมเพื่อน รอยยิ้มคือสิ่งที่สร้างไมตรีจิตได้ ฟังเพื่อนให้เยอะ ๆ แล้วเราจะมีเพื่อนมากขึ้น และมีศัตรูน้อยลง

• Growth Mindset เราเป็นเจ้านายของชะตาชีวิต

เรื่องสุดท้ายคือ ความฝัน จะตามความฝันเป็นเรื่องที่ใจและความคิด เพราะจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ต้องสร้าง Mindset เชื่อว่าความฉลาดไม่สำคัญเท่ากับความขยันและความพยายาม เคยอ่านหนังสือของ Carol S. Dweck ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า Mindset (กรอบความคิด) ประกอบด้วย Fixed Mindset และ Growth Mindset โดย Fixed Mindset คือความเชื่อว่าคนเราเก่งมาแต่กำเนิด คนกลุ่มนี้มักเชื่อว่าความฉลาดเป็นเรื่องพรสวรรค์ ปรับปรุงไม่ได้ ซึ่งเป็นกรอบที่ยึดติด ขณะที่ Growth Mindset เชื่อว่าทุกอย่างความสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้

"เราควรที่จะมี Growth Mindset เชื่อในความพยายาม ซึ่งจะมีความสำคัญในระยะยาวและมีผลกับความสำเร็จในชีวิต อย่าคิดว่าโชคชะตากำหนดชะตาชีวิต เพราะเราจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราเอง" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในช่วงท้ายของการบรรยาย

สำหรับการประชุมสัมมนาผู้ปกครองและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนต่อ อันนำไปสู่การวางแผนการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ความฉลาดทางคุณธรรมและจริยธรรม (MQ) และความฉลาดทางสังคม (SQ) ในยุคดิจิทัล โดยมี ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายด้วย (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจprbangkok)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น