เดินหน้าโครงการ Open Education เปิดการศึกษาของนักเรียน รร.สังกัด กทม. ให้มากกว่าในห้องเรียน เริ่มภาคเรียนที่ 2/2565 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เดินหน้าโครงการ Open Education เปิดการศึกษาของนักเรียน รร.สังกัด กทม. ให้มากกว่าในห้องเรียน เริ่มภาคเรียนที่ 2/2565


เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 65 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุมโครงการ Open Education โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กับมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School Foundation) และสมาคม Thai Startup เพื่อวางแผนดำเนินงานในการออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนทุกคน โดยมี นางชุลีพร วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้แทนสมาชิกของสมาคม Thai Startup ที่เป็นผู้จัดทำระบบจัดการเรียนการสอนและคอร์สเรียนออนไลน์ ได้แก่ Globish, Frog Genius, Classwin, Monkey Everyday และ Notero ร่วมประชุมรับฟังนโยบายและการดำเนินการ ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และประชุมผ่านระบบทางไกล


รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่เราได้ภาคีเครือข่ายมาร่วมกันเปลี่ยนแปลง การศึกษาทำได้หลายอย่าง ซึ่งมีหลายมุมมอง และวิธีการที่จะพัฒนา เราต้องปักธงให้ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน การศึกษาไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ คือ การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ภาพรวมทั้งหมด เพราะฉะนั้นการที่สำนักการศึกษาจะออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนทุกคน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องคิดว่า ตลอดเวลาของเด็ก 1 คน เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง และจะมีวิธีการเรียนรู้ในห้องเรียน นอกห้องเรียน อยู่ที่บ้าน หรือวันเสาร์-อาทิตย์ อย่างไร

โครงการ Open Education เป็นโครงการที่มุ่งเติมเต็มการเรียนรู้ของนักเรียนในสังกัดกทม. ผ่านการร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคม ในการแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญให้แก่นักเรียนและโรงเรียนโดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร คณะทำงานนโยบายการศึกษา และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยโครงการนี้ จะนำอาสาสมัคร ครูผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก จัดการเรียนการสอน จัดกิจกรรมให้กับนักเรียน ตามหัวข้อและวิชาที่นักเรียนสนใจและต้องการ ซึ่งจะมีแบบสำรวจโครงการ Open Education เพื่อสำรวจความต้องการของโรงเรียนในการรับการสนับสนุนการจัดหามาสอนนักเรียนและคุณครู ในโครงการ Open Education ปีการศึกษา 2565 ทั้งนี้ กิจกรรมทั้งหมดจะเริ่มในภาคการศึกษาที่ 2/2565 โดยรูปแบบกิจกรรมจะมีทั้งหมด 4 รูปแบบด้วยกัน คือ

1. การเปิดห้องเรียนวิชานอกห้องเรียนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ห้องเรียนที่เปิด จะเน้นการสอนวิชาที่ปกติแล้วไม่มีสอนในโรงเรียน เช่น ภาษา ดนตรี กีฬา สื่อ ฯลฯ ผ่านรูปแบบการสอนแบบ Active Learning โดยจะมีการสรรหาและอบรมประชาชนทั่วไปที่มีความรู้ในด้านวิชาที่ทางโรงเรียนต้องการให้พร้อมสำหรับการสอนนักเรียน อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 สัปดาห์ โดยปกติแล้ว หนึ่งห้องเรียนจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการสอน ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สถานที่เรียนจะเป็นห้องเรียนที่โรงเรียน

2. การเปิดห้องเรียนวิชานอกห้องเรียนหลังเลิกเรียน ซึ่งมีด้วยกัน 2 รูปแบบหลัก คือ 1) ทางคณะทำงานจะสรรหาและอบรมประชาชนทั่วไปที่มีความรู้ในด้านวิชาที่ทางโรงเรียนต้องการ ให้พร้อมสำหรับการสอนนักเรียนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 สัปดาห์ 2) นำ Platform การเรียนรู้ในสาระวิชาต่าง ๆ ให้ครูและนักเรียนได้ใช้ในการจัดการเรียนรู้

3. กิจกรรมวิชาชีพเลือกเสรี โดยนำข้อมูลความต้องการจากทุกโรงเรียนไปใช้ในการสรรหาองค์กรเอกชนที่สามารถช่วยเสริมทักษะทางวิชาชีพให้นักเรียนได้ รูปแบบอาจขึ้นอยู่กับองค์กรและวิชาชีพที่เลือก อาจมีพนักงานจากองค์กรเข้าไปเป็นวิทยากรรับเชิญ อาจมีการสร้างหลักสูตรและอบรมคุณครู เพื่อนำไปสอนนักเรียนต่อ มี Platform การเรียนรู้ออนไลน์เกี่ยวกับวิชาชีพต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละองค์กร

4. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็นครู การสรรหาอาสาสมัครและร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ช่วยครู เพื่อสนับสนุนการสอนวิชาในหลักสูตร ที่อาจจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญมากกว่าคุณครู นอกจากการมีผู้ช่วยครูแบบ Onsite แล้ว จะมี Platform การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่สามารถเสริมความรู้และทักษะสำหรับวิชาในหลักสูตรอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังสำรวจความต้องการของโรงเรียนในการรับ Digital Talent เพื่อเข้าไปช่วยเรื่องเทคโนโลยีอีกด้วย ตามที่ทางสำนักการศึกษามีนโยบายให้โรงเรียนเริ่มใช้ระบบ BEMIS ในการเป็นระบบฐานข้อมูลกลาง ซึ่งแต่ละโรงเรียนอาจมีบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน จึงมีการสร้างระบบอาสาสมัครที่จะเข้ามาช่วยโรงเรียนในการใช้ระบบ BEMIS โดย Digital Talent หนึ่งคนจะดูแลโรงเรียนประมาณ 5 โรงเรียน

“Open Education เป็นโครงการที่ผมคิดว่าสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นการเปิดการศึกษาให้มากกว่าในห้องเรียน อยากให้มองการเรียนรู้ว่ามีความสำคัญแค่ไหน อยากให้เปิดการเรียนรู้ทั้งหมด ซึ่งโครงการ Open Education เพียง 1 โครงการ สามารถครอบคลุมนโยบายด้านการศึกษาทั้งหมด 6 ข้อ คือ 1. After School Program ซึ่งหลาย ๆ โรงเรียนได้จัดทำอยู่แล้ว คือ การเรียนรู้หลังเลิกเรียน 2. การเปิดโรงเรียนเป็นพื้นที่กิจกรรม 3. พี่สอนน้องนอกเวลาเรียน 4. วิชาเลือกเสรี 5. ผู้ช่วยครูเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และ 6. Digital Talent นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้ได้ ซึ่งหลายภาคีเครือข่ายทำอยู่แล้ว และได้นำมาร่วมใช้กับกทม. ถ้ามีความร่วมมือ หรือสามารถพัฒนาด้านใด กทม.ยินดีเป็นอย่างยิ่ง” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว (ขอบคุณข่าวและภาพจากเพจ prbangkok.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น