เกี่ยวกับเรื่องนี้ตนมิได้นิ่งนอนใจ กระทรวงแรงงานมีด่านตรวจคนหางานทั่วประเทศถึง 25 ด่าน ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการกรมการจัดหางานตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศอย่างเข้มงวด ใน 2 ด่านที่คนหางานมักเดินทางผ่านด่านไปทำงาน คือด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และด่านตรวจคนหางานดอนเมือง ที่ในปี 2565 มีการระงับการเดินทางผู้มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศแล้ว จำนวน 328 คน และย้ำเตือนให้ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินคดีผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบันได้มีการขยายผล จับกุม ดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 112 ราย เป็นการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 158 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 12,758,210 บาท พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจังและเข้มงวดกับการดำเนินการใน 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการด้านการป้องกัน มาตรการด้านการปราบปราม และมาตรการด้านรณรงค์ประชาสัมพันธ์
“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเข้าใจพี่น้องแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวผมและคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานได้เดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อเจรจาขอโควตางานเกษตรตามฤดูกาลกับเมืองต่าง ๆ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มโอกาสการมีงานทำให้พี่น้องคนไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ปรับปรุงร่าง MOU ให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามขอให้คนหางานทุกคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการลักลอบเข้าประเทศเพื่อทำงานอย่างไม่ถูกต้องของคนเพียงบางส่วน นอกจากทำให้คนไทยทั้งหมดเสียชื่อเสียง เสียโอกาสในการท่องเที่ยวหรือทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงจนตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยลักลอบเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างยิ่ง และได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน ดำเนินการใน 3 มาตรการเรื่อยมา ทั้ง “มาตรการด้านการป้องกัน” โดยจัดอบรม/สร้างความเข้าใจกับคนหางานผู้ถูกระงับการเดินทาง ผู้นำชุมชน บุคคล/นิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการไปทำงานต่างประเทศ และตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทจัดหางานทั่วประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่าฝืนกฎหมาย
รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนหางาน ณ ด่านตรวจคนหางาน “มาตรการด้านการปราบปราม” ตรวจสอบ ติดตามผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน และดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ “มาตรการด้านประชาสัมพันธ์” โดยรณรงค์และประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อให้คนหางานและผู้ที่สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศมีความรู้ความเข้าใจถึงขั้นตอนการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อควรระวังก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
“ขอฝากถึงคนไทยว่า การไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปอย่างถูกต้อง ซึ่งมีด้วยกัน 5 วิธี คือ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ และ5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง โดยต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางานก่อนเดินทางทุกครั้ง และต้องเดินทางออกไปทำงานโดยผ่านด่านตรวจคนหางานที่ประจำอยู่ ณ ท่าอากาศยาน การไปทำงานอย่างถูกกฎหมายจะลดความเสี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ และทำให้ทำงานในต่างประเทศได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีไม่ต้องหลบซ่อน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีติดตามข่าวสารจากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ doe.go.th/overseas เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายจัดส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี EPS โทร 0 2245 6716 , 0 2245 9429
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีติดตามข่าวสารจากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ doe.go.th/overseas เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายจัดส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี EPS โทร 0 2245 6716 , 0 2245 9429
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น