ศฉส.กทม. ย้ำการสื่อสารกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ เตรียมแผนรองรับโควิด-19 เปลี่ยนผ่านสู่ Post-Pandemic - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ศฉส.กทม. ย้ำการสื่อสารกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ เตรียมแผนรองรับโควิด-19 เปลี่ยนผ่านสู่ Post-Pandemic

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 65 ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร Bangkok Health Emergency Operations Center (ศฉส.กทม. : BHEOC) ครั้งที่ 2/2565 โดยมีคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ในที่ประชุม ได้มีการหารือเกี่ยวกับการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-Pandemic เพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานคร กรณีกระทรวงสาธารณสุข เตรียมอนุญาตให้โรงพยาบาลทุกสังกัดและคลินิกเวชกรรม สามารถจัดซื้อยาต้านไวรัสจากผู้ผลิตเองได้แล้ว ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. นี้ เป็นต้นไป พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเน้นย้ำการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสทุกคน ซึ่งการใช้ยาต้านไวรัส อยู่ในการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งควรให้เฉพาะกลุ่มที่มีอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ส่วนการจัดบริการด้านการรักษาพยาบาล จะพิจารณาตามอาการผู้ป่วย

ในส่วนของการพิจารณาการแยกกักตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 เหลือ 5+5 วัน ซึ่งทางคณะกรรมการวิชาการกำลังประชุมหารือ โดยจะเข้าที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข ในวันจันทร์หน้าและจะออกเป็นมาตรการต่อไป โดยที่ประชุมเห็นว่าในประเด็นของการกักตัว 5+5 วัน จะต้องสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในที่สาธารณะ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเตรียมความพร้อม หาก ศบค.ชุดใหญ่ จะพิจารณาประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ดังนั้น เมื่อทุกอย่างจะผ่อนคลายลงก็อาจจะมีการเปิดมาตรการต่าง ๆ ให้เสรีมากขึ้น และลดระดับมาอยู่ที่การเฝ้าระวัง ซึ่งจะต้องมีการสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจว่ายังคงต้องป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ยังได้เตรียมแผนรองรับหากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมในการรับมือด้วย

ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้รายงานข้อมูลผู้ป่วยที่มีการใช้กัญชาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. - 22 ส.ค. 65 พบว่า ผู้ป่วยอายุเฉลี่ย 32 ปี อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ใจสั่น แน่นหน้าอก คอแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน โดยที่ผู้ป่วยร้อยละ 60 ได้รับกัญชาผ่านการรับประทาน รองลงมาคือการสูบกัญชา ซึ่งใช้ส่วนที่เป็นใบ ลำต้น และช่อดอกของกัญชา และผู้ป่วย ร้อยละ 60 เป็นการใช้กัญชาครั้งแรก และมีบางส่วนที่ใช้มากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยที่ประชุม ขอให้สำนักงานเขต ติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับการใช้กัญชา รวมทั้งเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก โรคไข้เลือดออก และโรคอื่น ๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น