รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ลงพื้นที่ย่านหลักสี่ สำรวจสวน 15 นาที แก้จุดเสี่ยงเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง เยี่ยมชุมชนต้นแบบคัดแยกขยะ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ลงพื้นที่ย่านหลักสี่ สำรวจสวน 15 นาที แก้จุดเสี่ยงเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง เยี่ยมชุมชนต้นแบบคัดแยกขยะ

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 65 เวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่เขตหลักสี่ จำนวน 5 จุด ดังนี้ จุดที่ 1 พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที บริเวณหมู่บ้านเจริญทรัพย์ ซอยวิภาวดี 25 จุดที่ 2 พื้นที่จุดเสี่ยงก่ออาชญากรรม บริเวณสะพานลอยคนเดินข้ามหน้าวัดหลักสี่ จุดที่ 3 พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที บริเวณหมู่บ้านเกษตรนิเวศน์ ซอยพิทักษ์ 6 จุดที่ 4 พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที บริเวณหมู่บ้านรุ่งอรุณ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 และจุดที่ 5 ตรวจเยี่ยมชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะมูลฝอยโดยชุมชน บริเวณชุมชนหมู่บ้านชื่นกมลนิเวศน์ 2 โดยมีนายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหลักสี่ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่เขตหลักสี่ ซึ่งเขตฯ มีความประสงค์จะจัดทำพื้นที่สีเขียวเพิ่ม ตามนโยบายสวน 15 นาที หรือ pocket park ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยได้สำรวจพื้นที่สาธารณประโยชน์และพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เตรียมปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที รวมถึงพัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ จุดแรกเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ บริเวณหมู่บ้านเจริญทรัพย์ ซอยวิภาวดี 25 พื้นที่ขนาด 57 x 10 ตารางเมตร อย่างไรก็ตามที่ดินดังกล่าวมีบ้านเรือนรุกล้ำอยู่ 1 หลัง ที่ผ่านมาเขตฯ ได้เจรจาสร้างความเข้าใจกับเจ้าของบ้านแล้ว ซึ่งเจ้าของบ้านยินยอมย้ายออกจากที่ดินดังกล่าวภายในเดือนตุลาคมนี้ และจะเดินทางกลับไปอาศัยอยู่ภูมิลำเนาต่างจังหวัด

จุดต่อมาบริเวณหมู่บ้านเกษตรนิเวศน์ ซอยพิทักษ์ 6 เป็นที่ดินของเอกชน พื้นที่ขนาด 33 X 27 ตารางเมตร ซึ่งเจ้าของที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว แต่ได้เสียภาษีให้กับเขตฯ อย่างต่อเนื่องทุกปี ทางเขตฯ ได้สำรวจพบว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมในการจัดทำสวน 15 นาที จึงได้ขอความอนุเคราะห์จากเจ้าของที่ดินและได้รับการตอบรับให้เขตฯ ปรับปรุงเป็นสวนธารณะ ซึ่งตามหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดิน เจ้าของที่ดินจะมอบให้กรุงเทพมหานครใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี นอกจากนี้เขตฯ ได้สอบถามประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว ซึ่งเห็นด้วยในการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สีเขียว ขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวมีผู้ประสงค์จะบริจาคต้นไม้แล้ว ในส่วนของวัสดุอุปกรณ์จะมีสำนักการโยธาหรือทางเขตฯ เข้ามาดำเนินการ ดังนั้นการปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้จะลงทุนไม่มาก ส่วนบริเวณหมู่บ้านรุ่งอรุณ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ขนาด 76 x 12 ตารางเมตร ซึ่งจะปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน

“จากการสำรวจในเบื้องต้นพื้นที่ฝั่งธนบุรีมีพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที ประมาณ 50 แห่ง ในส่วนของเขตหลักสี่จะมีอยู่ 4 แห่ง โดยจะได้ข้อมูลสรุปตัวเลขทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ จากข้อมูลที่ได้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ที่ดินที่เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ กับที่ดินของเอกชนที่มีความประสงค์ให้กรุงเทพมหานครเข้าไปดำเนินการปรับปรุงเป็นพื้นที่สีเขียว ในขณะเดียวกันการปรับปรุงอาจต้องใช้งบประมาณ ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่สำนักสิ่งแวดล้อมจะเป็นผู้ดำเนินการ ถ้าพื้นที่ขนาดเล็กสำนักงานเขตจะดำเนินการเอง” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงจุดเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสำนักเทศกิจรายงานว่ามีประมาณ 463 จุด ส่วนในพื้นที่เขตหลักสี่มีอยู่ 13 จุด จุดเสี่ยงที่มาตรวจในวันนี้ คือบริเวณสะพานลอยคนเดินข้ามหน้าวัดหลักสี่ ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องของไฟฟ้าส่องสว่าง โดยจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวของ เช่น สำนักการโยธา สำนักงานเขตหลักสี่ ทั้งไฟฟ้าที่อยู่บนสะพานลอย และไฟทางที่อยู่บริเวณถนนหน้าวัดหลักสี่ นอกจากนี้ประชาชนมีความประสงค์ให้จัดทำทางม้าลายบริเวณหน้าวัดหลักสี่ โดยจะประสานให้สำนักการจราจรและขนส่ง ดำเนินการในส่วนนี้ต่อไป

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดสุดท้ายเป็นการตรวจเยี่ยมชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะมูลฝอยโดยชุมชน บริเวณชุมชนหมู่บ้านชื่นกมลนิเวศน์ 2 ซึ่งในแต่ละเดือน กรุงเทพมหานครจะเสียงบประมาณในการคัดแยกขยะเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการแยกขยะจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในปัจจุบันทั้ง 50 สำนักงานเขต มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะแล้ว 818 แห่ง ในพื้นที่เขตหลักสี่มีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 14 แห่ง อย่างเช่น ชุมชนหมู่บ้านชื่นกมลนิเวศน์ 2 ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวมี 92 หลังคาเรือน มีประชากร 315 คน มีปริมาณขยะที่สำนักงานเขตหลักสี่ดำเนินการจัดเก็บประมาณ 1,200 กิโลกรัม/วัน หลังจากที่ได้ดำเนินการคัดแยกขยะแล้ว สามารถลดปริมาณขยะลงได้คงเหลือประมาณ 890 กิโลกรัม/วัน นอกจากนี้ยังได้นำขยะไปทำขยะ Recycle รวมถึงนำขยะไปทำน้ำหมักชีวภาพ ถ้าหากชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะได้ ปริมาณการจัดเก็บขยะของกรุงเทพมหานครก็จะลดน้อยลง ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็จะเสียค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะของกรุงเทพมหานครน้อยลง ในแต่ละเดือนสำนักงานเขตหลักสี่จะจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ได้ประมาณ 15 ตันเป็นอย่างน้อย ในขณะเดียวกันการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าจะเอาขยะชิ้นใหญ่ทั้งหมดไปกำจัด แต่จะคัดแยกขยะชิ้นใหญ่บางส่วนที่สามารถ Recycle หรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นขยะชิ้นใหญ่ที่จัดเก็บได้ 15 ตัน จะมีเพียง 10 ตันเท่านั้นที่จะนำไปกำจัด

“การคัดแยกขยะจะอยู่ที่ใจมากกว่าอยู่ที่เงินหรือวัสดุอุปกรณ์ ถ้าหากชุมชนมีความตั้งใจ ประชาชนมีความตั้งใจแล้ว ก็สามารถดำเนินการได้เลย ถ้าจะให้สำนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานครเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนและดำเนินการให้ทันที” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #ปลอดภัยดี

----- (จิรัฐคม...สปส.รายงาน)
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น