หน่วยงานด้านสาธารณสุขร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกในพื้นที่กทม.00 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565

หน่วยงานด้านสาธารณสุขร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกในพื้นที่กทม.00







เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 65 เวลา 13.30 น. : พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Microsoft Teams โดยมีผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กองระบาดวิทยา สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ การประชุมได้มุ่งเน้นการให้ความรู้ทั่วไปและแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรสำหรับสถานพยาบาล โดย พญ.ณิชกุล พิสิฐพยัต กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นโรคจากสัตว์สู่คน (Zoonosis Diseases) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus มักมีรายงานผู้ป่วยในประเทศแถบแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ West African ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 1 สายพันธุ์ Central African ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 10 มีสัตว์รังโรคที่ยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กโดยเฉพาะในสัตว์กัดแทะและลิง การติดต่อเป็นรูปแบบจากสัตว์สู่คนโดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก และรูปแบบจากคนสู่คนโดยการสัมผัสรอยโรค สารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Droplet respiratory particle) หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของ ผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีการตั้งสมมติฐานว่าโรคฝีดาษลิงอาจสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ

โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) มีระยะฟักตัว: 5-21 วัน โดยปกติอาการของโรคนี้จะแสดงอาการไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลาง แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงอาการนํา (วันที่ 0-5) จะมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อและหมดแรง ช่วงออกผื่น (ภายใน 1-3 วันหลังมีไข้) จะมีลักษณะการกระจายเริ่มจากบริเวณหน้า และกระจายไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (Centrifugal pattern) ส่วนใหญ่ (95%) ของผู้ป่วยจะมีผื่นที่หน้าและ 75% มีผื่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ยังสามารถพบผื่นได้ที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ช่องปาก (70%) อวัยวะเพศ (30%) ลักษณะของผื่นจะพัฒนาไปตามระยะดังต่อไปนี้ ผื่นนูนแดง (Maculopapular) ตุ่มน้ำใส (Vesicles) ตุ่มหนอง (Pustules) และสะเก็ด (Crust) โดยพบว่าหากผู้ป่วยมีผื่นลักษณะสะเก็ดขึ้นจนแห้งและร่วงหลุดไป จะไม่มีการแพร่เชื้อได้ ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงมักจะสามารถหายได้เอง แต่สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ อาทิ เด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล เช่น มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้มีอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อซ้ำซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตา อาจนําไปสู่การสูญเสียการมองเห็น

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก จากกระดานข้อมูลองค์กรอนามัยโลก (วันที่ 28 กรกฎาคม 2565) พบว่า 98.9% (13740/13893) ที่มีข้อมูลสมบูรณ์เป็นเพศชาย มัธยฐานอายุ 36 ปี (IQR 31-43) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยในการระบาดครั้งนี้ (77.1%) เป็นผู้ป่วยชาย อายุระหว่าง 18-44 ปี และจากข้อมูล 13,933 รายที่มีข้อมูลสมบูรณ์ของอายุ พบว่า มีผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 17 ปี จํานวน 84 ราย (0.6%) โดยมี 24 ราย อายุน้อยกว่า 4 ปี (0.2%) ส่วนประวัติอื่น ๆ พบว่า 1. รสนิยมทางเพศจากข้อมูล 6,099 รายที่มีความสมบูรณ์ของตัวแปรนี้ 98.3% (5996/6099) ระบุตนเองว่าเป็นชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) 2. ในผู้ป่วยที่เคยตรวจหาการติดเชื้อ HIV พบว่า 38.0% (2,352/6,197) มีผลบวกต่อ HIV 3. ผู้ป่วย 322 ราย (เพิ่มขึ้น 79 ราย) เป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่ส่วนใหญ่ติดมาจากในชุมชน 4. โหมดการแพร่เชื้อ คือ สัมผัสขณะมีเพศสัมพันธ์ 91.5% (3,603/3,939) และ 5. สถานที่ที่น่าจะเป็นแหล่งการติดเชื้อ คือ ปาร์ตี้ที่มีกิจกรรมสัมผัสทางเพศ 41.2% (569/1380)

สำหรับแนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ฉบับที่ 1 วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ได้กำหนดคํานิยามผู้ป่วยไว้ดังนี้ 1. ผู้ป่วยสงสัย (suspected case) คือ ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้1) ไข้ (อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส) หรือ ให้ประวัติมีไข้ร่วมกับอาการอย่างน้อยหนึ่งอย่างต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หรือ 2) มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังหรือเคยมีผื่นหรือตุ่มกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลําตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นผื่นหรือตุ่มลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองหรือตุ่มตกสะเก็ด โดยเป็นผื่นระยะเดียวกันพร้อมกันทั้งตัว หรือ เป็นผื่นที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาปกติ ร่วมกับ มีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา (epidemiological linkage) ภายในเวลา 21 วันที่ผ่านมาหนึ่งข้อดังต่อไปนี้ 1) มีประวัติการสัมผัสที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยสงสัยโรคฝีดาษวานร หรือ 2) มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ/เข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรหรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจาต่างประเทศ หรือ 3) มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่นําเข้ามาจากถิ่นระบาด เช่น ทวีปแอฟริกา

2. ผู้ป่วยยืนยัน (confirmed case) คือ ผู้ป่วยสงสัยที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอย่างน้อย 2 ห้องปฏิบัติการ จากเทคนิคการตรวจข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1) พบสารพันธุกรรม monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธี Real-time PCR จําเพาะต่อ MPXV 2) พบสารพันธุกรรม monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธี DNA sequencing เพื่อหายีนที่จําเพาะต่อ MPXV 3) พบเชื้อ monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธีเพาะเชื้อไวรัส (viral isolation) สำหรับผู้ป่วยยืนยัน จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อจําแนกว่าเป็นผู้ป่วยนําเข้า (imported case) หรือผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ (local transmission) โดยพิจารณาตามนิยามผู้ป่วยนําเข้า

ทั้งนี้ แนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานรในระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน คือ เมื่อพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ (suspected case) ได้แก่ 1. ผู้ที่มีอาการเข้าได้กับอาการตามเกณฑ์ทางคลินิก หรือเกณฑ์ทางระบาดวิทยา (ตามประกาศของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) หรือ 2. ผู้ป่วยที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโรคฝีดาษวานร ให้ปฏิบัติตามแนวทางดังนี้ 1. ให้รับไว้เป็นผู้ป่วยใน โดยให้อยู่ในห้องแยกโรคเดี่ยว (single isolation room) ที่มีห้องน้ำในตัวระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จนกว่าจะทราบผล 2. บุคลากรทางการแพทย์สวมชุด PPE ตามความเสี่ยงของกิจกรรม 3. การเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ ให้ปฏิบัติตามแนวทางของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ พิจารณาตามความเหมาะสม และให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของห้องปฏิบัติการ

ในส่วนของแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานรในคลินิก หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เมื่อพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ (suspected case) ได้แก่ 1. ผู้ที่มีอาการเข้าได้กับอาการตามเกณฑ์ทางคลินิก หรือเกณฑ์ทางระบาดวิทยา (ตามประกาศของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) หรือ 2. ผู้ป่วยที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโรคฝีดาษวานร ให้ปฏิบัติดังนี้ 1. พื้นที่ กทม. แจ้งทีมสอบสวนโรคในพื้นที่ สปคม. สำนักอนามัย 2. พื้นที่ส่วนภูมิภาค แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อติดตามสอบสวนโรค และประสานทางโรงพยาบาล เพื่อมารับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคและดำเนินการตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค และนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาเป็นผู้ป่วยใน ซึ่งการบริหารจัดการเมื่อพบผู้ป่วยยืนยัน (confirmed case) ให้ admit ทุกรายในโรงพยาบาล เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายโรคและเพื่อการติดตามอาการ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น