กทม. จับมือ JICA และเมืองโยโกฮามา จัดเสวนาขับเคลื่อนงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งเป้าสู่ Net Zero - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กทม. จับมือ JICA และเมืองโยโกฮามา จัดเสวนาขับเคลื่อนงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งเป้าสู่ Net Zero

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 65 เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนา “กรุงเทพมหานครกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน เพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (The Bangkok Climate and Energy Action Conference for Net Zero Greenhouse Gas Emission)” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และเมืองโยโกฮามา เพื่อเผยแพร่แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี นายทาคุโระ ทาซากะ (Mr. Takuro Tasaka) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายเรียวอิชิ กาวาเบะ (Mr. Ryoichi Kawabe) ผู้แทนอาวุโส องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานประเทศไทย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมงานเสวนา ณ ห้องกมลทิพย์ 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล เขตราชเทวี

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาภาวะโลกร้อนนับเป็นประเด็นสำคัญที่แต่ละประเทศให้ความสนใจและเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักในการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และเมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกรุงเทพมหานคร ได้รับการสนับสนุนจาก JICA และเมืองโยโกฮามามาอย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเริ่มจากการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อน พ.ศ. 2550 – 2555 ซึ่งภายหลังนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556 – 2566 และมาถึงแผนแม่บท ฯ ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2564 – 2573) มีความสอดคล้องกับความตกลงปารีส และในการดำเนินงานได้บูรณาการนโยบายและโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนดังกล่าวในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลญี่ปุ่น ดำเนินโครงการ City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society ร่วมกับเมืองโยโกฮามา สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเพื่อดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมที่สนับสนุน ได้แก่ 1. การจัดทำแผนปฏิบัติการพลังงานของกรุงเทพมหานคร 2. การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน และ 3. การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชน

โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้นำร่องจากกิจกรรมที่เห็นผลได้จริง โดยจะพัฒนา โครงการ กทม. ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero) เพื่อเป็นแบบอย่างของการเอาจริง เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่องค์กรอื่น โดยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร และมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการผลิตพลังงานทดแทน การใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงทางพลังงาน สนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV car) รวมทั้งสนับสนุนการเดินทางโดยรถสาธารณะ ที่สำคัญคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้น ภายใน 4 ปี ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้ว 1.6 ล้านต้น ภายใน 3 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกคนมาร่วมมือกัน เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิกาศในกรุงเทพฯ

“เรื่องก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทั้งโลก (Global) คิดเป็นนโยบายต่อเนื่องมา แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละท้องที่ (Local) ต้องมีนโยบายที่ทำให้เป็นจริง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่นั้น ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ทางองค์การ JICA ได้ทำเรื่องเมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างต่อเนื่อง และทำเรื่อง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ (Carbon Footprint) ไว้แล้ว หน้าที่เราคือทำยังไงที่จะสามารถลดได้ ซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง คือ ลดการใช้รถยนต์ ลดการใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะและน้ำเสีย และปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มสีเขียว ซึ่งเป็นกิจกรรมหลัก คิดว่าการเสวนาในวันนี้จะได้แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและสามารถทำให้กรุงเทพมหานคร ก้าวไปสู่ Net Zero ได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

สำหรับการประชุมเสวนาฯ ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ 2 คือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน โดยแบ่งการบรรยายออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ในช่วงเช้า บรรยาย ในหัวข้อ “ภาพรวมด้านพลังงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกรุงเทพมหานคร”โดยผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และการเสวนา ในหัวข้อ “มุมมองจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ต่อภาพรวมด้านพลังงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกรุงเทพมหานคร” ส่วนในช่วงบ่าย เป็นการเสวนา ในหัวข้อ “สถานการณ์ล่าสุดของแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และการเสวนา หัวข้อ “กรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามาภายใต้โครงการความร่วมมือ City-to-City” โดยผู้ร่วมเสวนามากจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ภาคีเครือข่ายของกรุงเทพมหานครในการดำเนินกิจกรรมปิดไฟ ลดโลกร้อน และภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านการจัดการพลังงาน และด้านการขนส่ง รวมถึงภาคประชาชนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

การเสวนาในครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งจะนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภาคเอกชนในด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ และพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับกรุงเทพมหานครและภาคเอกชนทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนแล้ว กรุงเทพมหานคร ยังพยายามดำเนินการให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายใต้แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 และได้ปรับการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ ในปี พ.ศ. 2573 ที่ร้อยละ 19 เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส และสอดคล้องกับแผนระดับประเทศ ด้วยการจัดทำแผนแม่บทฯ ฉบับใหม่ สร้างความยั่งยืนในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพมหานครต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น