รองผู้ว่าฯ ทวิดา ให้ 3 คำ กทม.ใช้ Traffy Fondue แก้ปัญหา “ประชาธิปไตย-ทลายไซโล-ตัดตอนสายบังคับบัญชา” - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ให้ 3 คำ กทม.ใช้ Traffy Fondue แก้ปัญหา “ประชาธิปไตย-ทลายไซโล-ตัดตอนสายบังคับบัญชา”

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงระบบ Traffy Fondue ในการปฐมนิเทศนักศึกษา โครงการปริญญาโท สาขาวิชาบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ สำหรับนักบริหาร รุ่นที่ 34 (EPA 34) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วานนี้ (6 ส.ค. 65) ว่า

การทำงานของ Traffy Fondue ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำมาใช้นั้น มี 3 คำที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.ประชาธิปไตย 2. ทลายไซโล 3. ตัดตอนสายการบังคับบัญชา ซึ่งหมายถึง คนทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ย่อมมีสิทธิได้รับการรับฟังความเดือดร้อน ซึ่งคือความเป็นประชาธิปไตย และเกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงานใน กทม. เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนโดยอัตโนมัติ เป็นการทลายไซโลที่มีลักษณะแบบแยกส่วนหรือต่างคนต่างทำ อีกทั้งเมื่อความเดือดร้อนของประชาชนเข้าสู่ระบบแล้ว ทุกคนตั้งแต่เจ้าหน้าที่เขต ผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการสำนัก รองปลัดกทม. ปลัดกทม. รองผู้ว่าฯ กทม. จะเห็นพร้อมกันกับผู้ว่าฯ กทม. ว่าเรื่องราวเหล่านั้นถูกรับมือโดยเขตพื้นที่อย่างไร เป็นการตัดตอนสายการบังคับบัญชานั่นเอง

นับเป็นเวลากว่า 60 วัน หลังจากการใช้ระบบ กทม.มีเรื่องร้องเรียนมาจากประชาชนกว่า 120,000 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จไปเกือบ 60,000 เรื่อง แม้ว่าการแก้ไขปัญหาแล้ว 50% อาจไม่ใช่สัดส่วนที่สูงนัก แต่หากมองในมุมการจัดการบริการสาธารณะแล้ว เรื่องกว่า 50,000 เรื่อง ได้รับการแก้ไขจนเสร็จจาก 50 เขตพื้นที่ ภายในเวลา 24 ชม. ถึงน้อยกว่า 2 เดือน ทั้งที่สำนักงานเขตไม่ได้มีบุคลากรเพิ่มแม้แต่คนเดียว แต่ทุกคนในสำนักงานเขตทุกเขตพร้อมใจกันทำงาน ทุกคนทำเต็มที่และเหนื่อยมาก

ในทางรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสายนโยบายและการบริหารระบบราชการ Traffy Fondue สะท้อนให้เห็นตั้งแต่ นโยบายการลงมือกระจายอำนาจ (decentralization) การตัดสินใจไปที่สำนักงานเขต การประสานงานข้ามสำนักหลักต่าง ๆ และหน่วยงานนอกขอบเขตของ กทม. (cross function and jurisdiction) การตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชน (responsiveness) บนประสิทธิภาพความรวดเร็วที่มีประสิทธิผล (efficiency & effectiveness) ที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึง การทำให้ความเดือดร้อนของตนเองได้รับการได้ยินเท่ากัน (equality) ผ่านเทคโนโลยีบนผ้าใบผืนใหญ่ของ 50 เขต (policy canvas) ที่แซนด์บ็อกซ์ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่

คำสำคัญทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นคำพื้นฐานของ “การบริหารจัดการความร่วมแรงร่วมใจ” (collaborative governance) เพราะมีพื้นฐานจากการทำให้ “ความเชื่อใจว่างานถูกทำ ปัญหาถูกแก้” มีกลไกมารองรับในการบันทึกรายงานการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ด้วยเป้าหมายเดียวกันง่าย ๆ คือ “ปัญหาประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับการดูแลแก้ไข” โดยสิ่งที่ยากสำหรับความร่วมแรงร่วมใจร่วมไม้ร่วมมือ คือ ความเชื่อถือไว้ใจ (trust) และการทำให้เป้าหมายที่แตกต่างตกต้องร่วมกัน (shared goal / shared interest) ซึ่ง Traffy Fondue ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกนั้นให้กับระบบงานบริการพื้นที่สาธารณะ ที่เราเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่าฯ กล่าวถึงสิ่งที่ควรระวังสำหรับ Traffy Fondue คือความไม่เท่าทันของระบบต่อปัญหาการปฏิบัติงาน และภาระงานที่ระบบจะสะท้อนให้เห็นในเร็ววัน ซึ่งทีมพัฒนา Traffy Fondue (ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม) และผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตระหนักในเรื่องนี้ มองความเสี่ยงเป็น และ foresight ระบบที่ใช้ไปด้วย คือมีกระบวนการ M&E (ติดตามประเมินผล) โดย ดร.วสันต์ ติดตามแก้ไขความสะดวกการใช้งานระบบให้สำนักงานเขตตลอดเวลา โดยมีผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ดูข้อขัดข้องของระบบที่สำนักงานเขตแทบทุกอาทิตย์ และทุกครั้งของกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะถามเจ้าหน้าที่เป็นคำถามแรกเสมอว่า “Traffy Fondue มันช่วยหรือมันทำให้ลำบากกว่ากัน บอกผมได้นะ”

สำหรับการแก้ปัญหาตามระบบ Traffy Fondue ภายใน 24-72 ชม. นั้น รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า มีทั้งที่ “ได้เลย” และ “ไม่ใช่” อาทิ ผิวถนนของทางหลวง เสาของการไฟฟ้า ท่อของการประปา หรือบางเรื่องเป็นส่วนของตำรวจ เรื่องเหล่านี้แรก ๆ กลายเป็นกองงานค้างในระบบของ กทม. ทำให้เขตเครียด ดร.วสันต์ จึงแก้ไขให้มีการ “ประสานส่งต่อ” ทำให้เรื่องค้างในระบบหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง เขตก็มีกำลังใจขึ้น ในขณะเดียวกันได้มีข้อบ่นปนข้อเสนอของประชาชนมามากมายที่ต้องการการแก้ไขเชิงนโยบายในระยะกลางถึงระยะยาว ผู้ว่าฯ ชัชชาติจึงให้ย้ายเข้ากล่อง “แก้ไขเชิงนโยบาย”

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า เมื่อคิดทบทวนแล้ว อาจจะสั่งกองระบบงาน และกองอัตรากำลัง ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ลงสัญจรร่วมด้วย เพราะจะให้เริ่มทำ Job Analysis และ Analytic Work-Process ใหม่ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ทำน่าจะเกิน 10 ปีแล้ว โดยมีแนวคิดว่า เขตไม่เคยทำงานหนักขนาดนี้ และเป็นงานที่อาศัยความเร็ว ต้องทบทวนว่า ทำให้กระบวนงานอื่นกระทบหรือไม่ งานพัฒนามุ่งเป้ายุทธศาสตร์อ่อนล้าลงหรือเปล่า ต้อง foresight เช่นเดียวกันกับที่ ผู้ว่าฯ กทม. และดร.วสันต์ ดำเนินการ

“หากทำความเข้าใจระบบ Traffy Fondue ให้ดีจะพบว่า เราสามารถตัดตอนได้หลายอย่างโดยไม่ต้องรื้อถอนโครงสร้าง เราทำให้งานประสานกันโดยกลไกไม่ใช่จิตสำนึก เรากระจายอำนาจโดยไม่ต้องอาศัยว่าเบอร์หนึ่งในพื้นที่คือใคร เราประเมินผลงานผู้อำนวยการเขตได้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ทั้งปริมาณและคุณภาพ ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วยความรู้สึกรับผิดชอบในฐานะพลเมืองมากขึ้นโดยไม่ต้องขึ้นป้ายส่องไฟ และที่สำคัญไม่ใช่การใช้เทคโนโลยีแค่เพื่ออำนวยความสะดวก แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีในฐานะกลไกในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง” รองผู้ว่าฯ ทวิดากล่าวสรุป
  (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจ prbangkok.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น