รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าเทคโนโลยี นวัตกรรม และทิศทางการป้องกันควบคุมโรคในระดับประเทศและนานาชาติ พร้อมมอบเหรียญเชิดชูเกียรติ “ขุนประเมินวิมลเวชช์” ให้แก่ "นพ.ประยูร กุนาศล" และ "นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร" แพทย์ผู้อุทิศตนและเป็นตัวอย่างที่ดีในการป้องกันควบคุมโรค
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2565 พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญด้านการป้องกันควบคุมโรค คือ เหรียญเชิดชูเกียรติ “ขุนประเมินวิมลเวชช์” ให้ นพ.ประยูร กุนาศล และ ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติแด่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งมอบโล่และประกาศนียบัตรรางวัลคุณภาพแห่งชาติการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ 4.0 โดยกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ จำนวน 6 รางวัล โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขร่วมงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนและการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก การเตรียมพร้อมก่อนเกิดเหตุจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยมีแพทย์ อาจารย์ และบุคลากรสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี ทั้งพร้อมเรียนรู้ ปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ทำให้สามารถควบคุมโรคโควิด 19 ได้อย่างดี ดังผลการประเมินทบทวนการทำงานตอบโต้สถานการณ์การระบาดในในปี 2020 และผลการทบทวนการเตรียมพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (UHPR) โดยองค์การอนามัยโลก รวมถึงการจัดอันดับต่างๆ ซึ่งประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าทำได้ดีอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจัยความสำเร็จส่วนหนึ่งนั้นมาจากการบุกเบิกงานระบาดวิทยาของ นพ.ประยูร กุนาศล ทำให้ประเทศไทยมีรากฐานสำคัญในการต่อสู้กับโรคโควิด 19 และ ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการโรคติดต่อ ที่ให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินงานของประเทศฝ่าวิกฤตโรคระบาด จึงได้รับเลือกให้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ ขุนประเมินวิมลเวชช์" ในปีนี้
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ความสำเร็จ ความเข้มแข็ง และความยั่งยืนในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่กำลังจะก้าวหน้าต่อไปอีกขั้น คือ การตั้งศูนย์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่แห่งอาเซียน (ASEAN Centre for Public Health Emergency and Emerging Diseases :ACPHEED) โดยสำนักงานคณะทำงานเลขานุการตั้งอยู่ในประเทศไทย มีหน้าที่หลักและทำงานประสานกัน ทั้งการป้องกัน การตรวจจับการระบาด และการตอบโต้ ซึ่งศูนย์ ACPHEED นี้จะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากโรคอุบัติใหม่หรือโรคติดเชื้อต่างๆ อาจระบาดข้ามประเทศได้อย่าง่ายดาย เช่น โรคฝีดาษวานรที่เคยเกิดเป็นโรคประจำถิ่นอยู่ในทวีปแอฟริกา และมีการระบาเออกไปยังประเทศต่างๆ เป็นต้น สำหรับการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นวัตกรรม นโยบาย และทิศทางการป้องกันควบคุมโรคในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งจะนำไปใช้ปรับกระบวนการทำงานและขับเคลื่อนระบบงาน การขยายความร่วมมือในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป เพื่อให้การรองรับภาวะฉุกเฉินมีความเข้มแข็ง เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 แม้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งการดำรงชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจชะลอตัว แต่นับเป็นความท้าทายทำให้เกิดการปรับปรุง ทบทวน และใช้บทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้สร้างจุดเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น การประชุมในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้แนวคิดมิติใหม่แห่งการป้องกันและควบคุมโรค พลิกวิกฤตเป็นโอกาส (The new Chapter of Disease Prevention and Control : Turning Crisis to Opportunities) นำเสนอความรู้ทางวิชาการในรูปแบบนิทรรศการ "การป้องกันควบคุมโรคสู่ความมั่นคงสุขภาพ" การนำเสนอบอร์ดวิชาการ "บทเรียนและการพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขภาพ" การบรรยายและอภิปราย "พลิกวิกฤตเป็นโอกาส พัฒนาอนาคต ด้านการป้องกันควบคุมโรค" โดยได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรสาธารณสุขจากทั่วประเทศ รวม 1,200 คน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น