ตร.จับมือเครือซีพี ลง MOU ร่วมผลิตสื่อไซเบอร์วัคซีน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ตร.จับมือเครือซีพี ลง MOU ร่วมผลิตสื่อไซเบอร์วัคซีน

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.66 เวลา 14.30 น. พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมลงนาม ความร่วมมือการประชาสัมพันธ์สื่อ สร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผลิตสื่อไซเบอร์วัคซีน ร่วมสร้างความรู้ให้คนไทยเท่าทันกลโกงอาชญากรรมออนไลน์

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่หลงกลตกเป็นเหยื่อจนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งในบางรายถึงกับต้องสูญเสียชีวิต ซึ่งจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 – 8 ก.พ.66 มีการรับแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 193,850 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 29,701,477,166 บาท สามารถติดตามอายัดบัญชี 49,051 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท




สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และห่วงใยประชาชน จึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private Partnership: PPP) เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังประชาชน

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่อาชญากรรมไซเบอร์ได้พัฒนารูปแบบกลลวงอย่างหลากหลายและรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ เพราะส่งผลกระทบทั้งต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ในการประชุม World Economic Forum 2023 ได้จัดให้ 'ภัยคุกคามไซเบอร์' เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ จะสูงถึง 10.5 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2025 นั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มบริษัทในเครือฯ ในฐานะของผู้นำธุรกิจภาคเอกชน จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่องด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลโกงต่างๆ ของอาชญากรรมไซเบอร์เป็นองค์กรแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์วัคซีนให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการร่วมสร้างความตื่นรู้ให้สังคมไทยในครั้งนี้ สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯ ยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

โดยเครือฯ ได้ระดมสรรพกำลังของกลุ่มธุรกิจในเครือ เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์กลโกงของอาชญกรรมไซเบอร์ในทุกช่องทางการสื่อสารอย่างเต็มศักยภาพรวมระยะเวลา 2 ปี ทั้งจากกลุ่มโทรคมนาคมและร้านค้าปลีกค้าส่ง คือการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวม 37 ล้านเลขหมาย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อภายในลักษณะต่างๆ ในร้านเซเว่น – อีเลฟเว่นกว่า 13,000 สาขาประเทศ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการ 11,404,314 คนต่อวัน ในแม็คโคร 152 สาขา และโลตัสมากกว่า 2,000 สาขา การประชาสัมพันธ์รายการในสถานีข่าว TNN16 และช่อง True4U การจัดกิจกรรมแฮกกาธอนในกลุ่มเยาวชน คิดค้นไอเดียรับมือกลโกง รวมถึงการกระจายข่าวสารผ่านพนักงานกว่า 361,570 คนทั่วประเทศ ซึ่งความหลากหลายทางธุรกิจฯ ของเครือ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ข่าวสารเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง และทำให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดการเสวนา “จุดกระแส On Stage” ดำเนินรายการโดย คุณกรรชัย กำเนิดพลอย ในหัวข้อ “แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์” ซึ่งมีผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ คุณมยุรา เศวตศิลา นักแสดงชื่อดัง, คุณภาณุพงศ์ หอมวันทา ยูทูปเบอร์เจ้าของช่อง Epic Time, ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระบวนการกลโกง Call Center และผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อกลโกงแอพออนไลน์ดูดเงินโดยแอบอ้างสรรพากร โดยมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าโครงการความร่วมมือครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไทย เพราะความรู้ผ่านสื่อต่างๆ จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวง และจากที่เคยตกอยู่ในสถานะของเหยื่อมาแล้วนั้น ทำให้มั่นใจมากว่า ถ้ารู้ทันกลโกงก่อนจะไม่ตกเป็นเหยื่ออย่างที่ผ่านมา และหวังว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงกลโกงผ่านช่องทางที่หลากหลาย จะเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มทั่วประเทศได้

ผบ.ตร. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นนโยบายเร่งด่วน ตร. ในการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามและแสวงหาความร่วมมือทุกภาคส่วนในการร่วมป้องกันอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน ที่เป็นสุจริตชน และเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การจับมือร่วมกันของตำรวจและภาคเอกชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งพิธีการ ดารา นักแสดงใน ครั้งนี้ จะสร้างภูมิคุ้มกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้ประชาชน หวังว่าการร่วมมือนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ มีภูมิคุ้มกันทางวัคซีน ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ทำให้คดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีลดลง


สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th โดยมี 18 กลโกงหลักของมิจฉาชีพ ที่ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์ คือ 1) หลอกขายสินค้าออนไลน์ 2) หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ 3) เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์) 4) ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) 5) หลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ 6) หลอกให้รักแล้วลงทุน 7) หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หรือยืมเงิน 8) ปลอมหรือแฮคบัญชีไลน์ เฟซบุ๊ค แล้วหลอกยืมเงิน 9) แชร์ลูกโซ่ 10) การพนันออนไลน์ 11) หลอกให้โหลดโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกล เพื่อขโมยข้อมูล 12) ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน 13) ฉ้อโกงรูปแบบอื่น โดยหลอกลวงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ 14) โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ 15) หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย เพื่อข่มขู่เรียกเงิน16) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) และร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน 17) ข่าวปลอม 18) เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์


หากพบเจอเหตุการณ์น่าสงสัยที่อาจเกิดจากกลลวงของมิจฉาชีพ อย่ารีบหลงเชื่อดำเนินการใดๆ ตามที่ได้รับข้อมูล สามารถโทรปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ โทร 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น