เช็กค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้าง Premio Unic คุมเข้มฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนคอนสตรัคชั่น ต่อยอดคัดแยกขยะเขตวังทองหลาง - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เช็กค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้าง Premio Unic คุมเข้มฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนคอนสตรัคชั่น ต่อยอดคัดแยกขยะเขตวังทองหลาง


เมื่อวันที่ 22 ก.พ.66 เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวังทองหลาง ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Premio Unic บริเวณถนนอินทราภรณ์ พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัยสูง 8 ชั้น (มีดาดฟ้า) ประกอบด้วย อาคาร A จำนวน 1 หลัง 187 ห้อง และอาคาร B จำนวน 1 หลัง 153 ห้อง ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้แก่ การตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ฉีดพ่นหมอกน้ำในอากาศบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ควบคุมให้มีการปิดคลุมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ การขนย้ายวัสดุที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองต้องมีการปกปิดที่มิดชิด เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ตรวจสอบบำรุงรักษาสภาพเครื่องยนต์เครื่องจักรที่ใช้ก่อสร้าง ควบคุมการขนส่งภายในพื้นที่ก่อสร้าง เช่น การล้างรอรถก่อนเข้าและออกพื้นที่ก่อสร้าง การฉีดพรมน้ำบนถนน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการดูแลทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษดินเศษทรายตกค้าง เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน



ตรวจความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท คอนสตรัคชั่น คอนกรีต จำกัด ซอยสหการประมูล ถนนประชาอุทิศ ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่าแพลนท์ปูนดังกล่าว ไม่มีบ่อล้างล้อรถบรรทุกบริเวณก่อนออกจากแพลนท์ปูน มีกากปูนจากการล้างรถสะสมเป็นจำนวนมาก บริเวณพื้นมีเศษปูนเศษทรายตกหล่น ระหว่างการทำงานและการเคลื่อนย้าย ปรับปรุงระบบรางระบายน้ำย้อนกลับ เนื่องจากเศษปูนออกนอกพื้นที่ โดยรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้กำชับให้ผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไข ซึ่งจากการติดตามความคืบหน้าในวันนี้พบว่า ทางผู้ประกอบการแพลนท์ปูน ได้เพิ่มบ่อล้างล้อรถบรรทุกบริเวณก่อนออกจากแพลนท์ปูน จำนวน 2 บ่อ มีการติดต่อบริษัทรับเหมากำจัดกากปูนดำเนินการขนกากปูนออกจากพื้นที่ เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นในเวลาช่วงเช้าและหลังเลิกงาน ส่วนระบบรางระบายน้ำปรับปรุงแก้ไขแล้ว อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณโดยรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำปูนไหลลงสู่ท่อระบายน้ำภายนอก รวมถึงให้ขุดลอกบ่อพักและท่อระบายน้ำในจุดที่น้ำปูนไหลลงไป เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบแพลนท์ปูนตลอดเวลา เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และป้องกันมลพิษในอากาศ


ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ ภายในสำนักงานเขตวังทองหลาง มีข้าราชการและบุคลากร 666 คน วิธีการคัดแยกขยะตามประเภท โดยตั้งวางถังรองรับขยะแยกประเภทในอาคาร ได้แก่ ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) ถังขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) ถังขยะอันตราย (สีส้ม) ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) โดยดำเนินการคัดแยก ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายตั้งวางถังรองรับมูลฝอยรีไซเคิล โดยมีเจ้าหน้าที่รวบรวมและนำมาขายเพื่อเป็นรายได้ 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละฝ่ายตั้งวางถังรองรับมูลฝอยเศษอาหาร โดยมีเจ้าหน้าที่รวบรวมและนำมาเทลงถังขยะเศษอาหารที่กำหนด และมีเกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะอันตราย แต่ละฝ่ายตั้งวางถังรองรับมูลฝอยอันตราย โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมไว้ ณ อาคารปฏิบัติการและส่งศูนย์กำจัดมูลฝอย 4.ขยะทั่วไป แต่ละฝ่ายตั้งวางขยะทั่วไป โดยมีเจ้าหน้าที่รวบรวมและนำมาทิ้งรวมบริเวณจุดที่กำหนด เขตฯ จัดเก็บทุกวันก่อนเวลา 05.00 น. สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไป ก่อนคัดแยก 345 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 270 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล ก่อนคัดแยก 69 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ ก่อนคัดแยก 230 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 180 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย ก่อนคัดแยก 15 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อ ก่อนคัดแยก 0.001 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.001 กิโลกรัม/เดือน

สำรวจการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 42,971 แปลง สำรวจครบแล้ว สิ่งปลูกสร้าง 38,508 แห่ง สำรวจครบแล้ว ห้องชุด 24,783 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 106,262 รายการ สำรวจครบแล้ว คิดเป็น 100% ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายรายได้ สอบถามปัญหาอุปสรรคในการจัดเก็บภาษี การใช้งานระบบจัดเก็บภาษีแบบใหม่ พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย ภาษีน้ำมัน ตลอดจนการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ วัดสามัคคีธรรม พื้นที่ 11 ไร่ ประชากร 40 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ทำปุ๋ย แยกใบไม้แยกเศษอาหาร 2.ขยะรีไซเคิล แยกคัดขวดพลาสติกและแยกกระดาษ 3.ขยะทั่วไป ไม่แยกเพราะเศษอาหารให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยงสัตว์ สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไป ก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล ก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 80 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ ก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/เดือน สำหรับโรงเรียนวัดสามัคคีธรรม พื้นที่ 1 ไร่ มีประชากร 495 คน จำนวน 3 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ทำปุ๋ย 2.ขยะรีไซเคิล นำไปขายและผลิตสื่อและชิ้นงานของนักเรียน 3.ขยะทั่วไป เจ้าหน้าที่เขตฯ มารับไปกำจัด 4. ขยะอันตราย เจ้าหน้าที่เขตฯ มารับไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไป ก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 4 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิล ก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ ก่อนคัดแยก 8 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 7 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตราย ก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อ ก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน

ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง คณะผู้บริหารเขตวังทองหลาง ได้ร่วมกันกิจกรรมปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยปลูกต้นทองอุไร จำนวน 40 ต้น บริเวณริมถนนประดิษฐ์มนูธรรม

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวังทองหลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น