กทม. MOU เมืองฮิกาชิคาวะ จังหวัดฮอกไกโด ร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

กทม. MOU เมืองฮิกาชิคาวะ จังหวัดฮอกไกโด ร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

24 ก.พ. 66) เวลา 11.00 น. : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายอิจิโร มัตซึโอกะ นายกเทศมนตรีเมืองฮิกาชิคาวะ จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างกรุงเทพมหานครกับเมืองฮิกาชิคาวะ โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานการต่างประเทศ ผู้บริหารเมืองฮิกาชิคาวะ จังหวัดฮอกไกโด ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)







ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญกับการร่วมมือกันในทุก ๆ ด้าน เพื่อพัฒนาเสริมสร้างและสนับสนุนให้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า มีประโยชน์ให้แก่สังคม และประเทศชาติ การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และเมืองฮิกาชิคาวะ จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น มีเป้าหมายที่จะร่วมมือกันในด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาทักษะด้านภาษาญี่ปุ่น และนำมาต่อยอดในการเรียนหรือการทำงาน รวมทั้งได้เรียนรู้วัฒนธรรมและมารยาทของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในอนาคต สำหรับครูผู้สอนภาษาญี่ปุ่นในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จะได้มีโอกาสเพิ่มความเชี่ยวชาญในการสอนภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น ในส่วนของการดำเนินความร่วมมือนั้น กรุงเทพมหานครยินดีและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการคัดเลือกสถานศึกษา ผู้เรียน ผู้สอน เพื่อเข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันของทั้งสองเมือง เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ที่ดียิ่งขึ้นและเกิดประโยชน์แก่นักเรียนและครูผู้สอนในสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืนต่อไป

โดยขอบเขตความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงฯ ซึ่งหน่วยงานทั้งสองจะดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ มีดังนี้

1.การส่งเสริมการศึกษา: สนับสนุนการแลกเปลี่ยนทุนการศึกษาระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองฮิกาชิคาวะ
2.การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม: ส่งเสริมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นผ่านคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายวิชาชีพต่างๆ
3.การพัฒนาด้านอาชีพ: สนับสนุนการปรับปรุงและแลกเปลี่ยนแรงงานเพื่อการพัฒนา
4.การแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่: แลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานเพื่อการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย สำหรับบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ทั้งสองหน่วยงานลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น