ตร.-กรมขนส่งทางบก ลง MOU เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ตร.-กรมขนส่งทางบก ลง MOU เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.30 น. ณ สารสิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายเสกสม อัครพันธ์ุ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้บริหารของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กมค. พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.สยศ.ตร. และ พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล. ได้ร่วมกัน แถลงข่าวประชาสัมพันธ์การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการจราจรทางบก เพื่อลดการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน



ผบ.ตร. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน ให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จึงได้สั่งการ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ร่วมกันดำเนินการกวดขันวินัยการขับขี่ โดยบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดในกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้ง 2 หน่วยงาน จึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 การตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้กระทำผิดกฎจราจรและถูกตัดคะแนนแล้ว จำนวน 15,456 ราย

มาตรการที่ 2 คือมาตรการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี สำหรับรถที่มีใบสั่งค้างชำระ ตาม 141/1 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลยานพาหนะ และข้อมูลใบสั่งค้างชำระ เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลได้แบบ Real Time ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้กำหนดให้มีการลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กรมการขนส่งทางบก เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

สำหรับ มาตรการชะลอเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี จะใช้กับรถยนต์ที่ที่มีใบสั่งจราจรที่ค้างชำระ ซึ่งเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามที่กำหนด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะส่งข้อมูลโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก เมื่อประชาชนไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนจะรับต่อภาษีประจำปี แต่ยังไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายภาษี) โดยจะได้หลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษี ซึ่งมีอายุ 30 วัน เพื่อให้ผู้นั้นไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน แล้วจึงสามารถมารับป้ายภาษีได้ แต่หากประชาชนต้องการจะชำระค่าปรับในขณะต่อภาษี กฎหมายกำหนดให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้นายทะเบียนสามารถรับชำระค่าปรับตามใบสั่งพร้อมกับชำระภาษี และรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้เลยทันที

ผบ.ตร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับรถโดยไม่มีป้ายภาษี จะมีโทษตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ มาตรา 11 ซึ่งกำหนดว่า รถยนต์คันที่ต่อภาษีแล้วจะต้องแสดงเครื่องหมายตามที่กรมการขนส่งกำหนดให้ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติได้ จากเว็บไซต์ E-ticket PTM และ แอปพลิเคชั่น ขับดี


ทางด้าน นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายในการป้องกันและรณรงค์ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการตามนโยบาย โดยการร่วมจัดทำ “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ กรมการขนส่งทางบก” ซึ่งบันทึกข้อตกลงนี้ มีที่มาจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 141/1 ที่กำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายจราจรและได้รับใบสั่งจากเจ้าพนักงานตำรวจ และไม่ชำระค่าปรับจราจรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะแจ้งข้อมูลผู้ค้างชำระค่าปรับจราจรให้กรมการขนส่งทางบกเพื่อแจ้งให้เจ้าของรถหรือผู้มาติดต่อในขั้นตอนที่มาขอชำระภาษีประจำปีให้ชำระค่าปรับ บันทึกข้อตกลงจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกในกรณีดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมในการควบคุมความประพฤติของผู้ขับรถเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนและการจราจร อันจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยแก่สาธารณะ และสวัสดิภาพของประชาชน


โดยความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับกรมการขนส่งทางบก และส่งข้อมูลค่าปรับตามใบสั่งจราจรที่ค้างชำระตามมาตรา 141/1 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มายังกรมการขนส่งทางบก เมื่อเจ้าของรถมาติดต่อชำระภาษีรถประจำปี ณ สำนักงานขนส่ง หากปรากฏว่า มีข้อมูลค่าปรับที่ค้างชำระ เจ้าของรถก็สามารถชำระค่าปรับที่ค้างชำระพร้อมกับชำระภาษีกับนายทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก และรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีฉบับจริงได้ทันที และกรณีเจ้าของรถประสงค์จะชำระภาษีรถประจำปี โดยไม่ชำระค่าปรับที่ค้างชำระ เจ้าของรถก็ยังคงสามารถชำระภาษีรถประจำปีได้ตามปกติโดยจะได้รับหลักฐานชั่วคราวแทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี ซึ่งหลักฐานชั่วคราวดังกล่าวจะมีอายุ 30 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนออกให้ หากต่อมาเจ้าของรถได้ทำการชำระค่าปรับที่ค้างชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้วสามารถนำหลักฐานแสดงการชำระค่าปรับมาแสดงต่อนายทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกเพื่อให้ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปีได้ และหากเจ้าของรถมีความประสงค์ตรวจสอบข้อมูลค่าปรับที่ค้างชำระหรือจะโต้แย้งข้อมูลค่าปรับที่ค้างชำระสามารถติดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านช่องทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด ทั้งนี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้ามาดำเนินการด้านทะเบียนและชำระภาษีรถประจำปี และส่งเสริมมาตรการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การเสริมสร้างวินัยจราจร จิตสำนึกด้านความปลอดภัยซึ่งจะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ การเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งค้างชำระของทั้งสองหน่วยงานนั้น จะเริ่มใช้กับใบสั่งจราจรสำหรับการกระทำผิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก เชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าว จะสามารถนำไปสู่การเสริมสร้างวินัยจราจร จิตสำนึกด้านความปลอดภัยซึ่งจะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น