ผู้ว่าฯ สัญจร เขตลาดกระบัง หารือทุกภาคส่วน พร้อมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและแก้ปัญหาในพื้นที่...G - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ผู้ว่าฯ สัญจร เขตลาดกระบัง หารือทุกภาคส่วน พร้อมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและแก้ปัญหาในพื้นที่...G


18 ก.พ. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร เขตลาดกระบัง” โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานเขตลาดกระบัง หน่วยงานในพื้นที่เขตลาดกระบัง ประชาคมในพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สำนักงานเขตลาดกระบัง ทั้งนี้ ในที่ประชุมสำนักงานเขตลาดกระบังได้บรรยาย เรื่องการบริหารจัดการและปัญหาในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต ข้อมูลทั่วไปของสำนักงานเขต รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รายงานปัญหา และอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต รายงานผลการดำเนินการ Application Traffy Fondue และโครงการพัฒนาพื้นที่เขตลาดกระบัง


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ลาดกระบังเป็นเขตที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของกรุงเทพมหานคร ประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรเป็นอันดับ 7 ลาดกระบังมีถนนหนทางและซอยเป็นจำนวนมาก 673 ซอย โดย 300 กว่าซอยอยู่ในความดูแลของ กทม. และอีก 300 กว่าซอยเป็นของเอกชน มีถนนสายหลักอยู่ 9 สายและสายรองอีก 4 สาย มีคลองอยู่ถึง 65 คลอง ในแง่การระบายน้ำ คลองหลักคือคลองประเวศบุรีรมย์ ในมิติด้านการป้องกันน้ำท่วมของลาดกระบัง ปัญหาคือการขุดลอกท่อในปีนี้มีความล่าช้า เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ยังติดขัดเรื่องการเตรียมคนเพื่อมาลอกท่อให้ จึงได้สั่งการหากราชทัณฑ์ทำไม่ได้ให้หาเอกชนมาดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งคลองหลัก ๆ ที่ต้องขุดลอกประมาณ 9 สาย โดยนำงบประมาณจากส่วนกลางลงไปช่วย พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือและการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทานในการระบายน้ำออกไปทางฝั่งตะวันออก ซึ่งขณะนี้ยังมีจุดอ่อนอยู่บริเวณถนนหลวงแพ่งที่มีการก่อสร้างสะพานยกระดับอยู่

* ยกระดับเข้มมาตรการป้องกันไข้เลือดออก แนะระวังพิษสุนัขบ้า พร้อมเน้นย้ำความปลอดภัยในโรงเรียน
สำหรับเรื่องเร่งด่วนคือเรื่องไข้เลือดออก มีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายในเขตลาดกระบังเมื่อวานนี้ อายุเพียง 27 ปี ซึ่งอาจจะมีโรคแทรกซ้อนจากอาการอื่นร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าประมาทไม่ได้ กรุงเทพมหานครต้องมีการยกระดับการควบคุมป้องกันไข้เลือดออกโดยเน้นให้ทุกสำนักงานเขตและทุกส่วนราชการร่วมกับชุมชนในการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายและเข้าสอบสวนโรคให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ประชาชนสามารถใช้มาตรการ 3 เก็บ คือเก็บน้ำ เก็บขยะ เก็บบ้าน และ 5ป คือ ป1 ปิด ภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิด ป2 เปลี่ยน น้ำในภาชนะต่าง ๆ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำ ป3 ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ป4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้โปร่งลมพัดผ่านได้ไม่ให้ยุงมาเกาะพัก และ ป5 ปฏิบัติ ตามทั้ง 4ป ข้างตนเป็นประจำจนเป็นนิสัย

อีกเรื่องที่ติดตามอยู่ตลอดคือเรื่อง โรคพิษสุนัขบ้า มีการพบสุนัขในเขตลาดกระบังจำนวน 7 ตัว ซึ่งจากการลงพื้นที่ตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมาได้มีการฉีดวัคซีนให้กับสุนัขในพื้นที่ในวงจำกัดจำนวน 2,000 ตัว และฉีดยาให้กับประชาชนกว่า 1,000 คน พร้อมทั้งขอให้ระมัดระวังหากพบสุนัขจรจัดหรือมีสุนัขที่เลี้ยงไว้ให้พาไปฉีดวัคซีน ส่วนคนที่โดนสุนัขที่ไม่รู้จักและไม่มีประวัติในการฉีดวัคซีนควรจะไปพบแพทย์เพื่อฉีดยา

ส่วนเรื่องอื่น ๆ เขตลาดกระบังมีโรงเรียนอยู่ 20 แห่ง ได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยภายในโรงเรียน มีแห่งหนึ่งซึ่งลิฟต์มีปัญหาเนื่องจากอาคารทรุดตัว ต้องมีการรื้อย้ายออกไป รวมทั้งเรื่องคุณภาพอาหารกลางวัน ได้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเรื่องคุณภาพอาหารและความโปร่งใสโดยมีผู้ปกครองร่วมเป็นคณะกรรมการดูแลด้วย


* เตรียมพร้อมรับมือฝุ่น19-20 ก.พ. ต้องหารือหลายภาคส่วนรับมือระยะยาว
เรื่องฝุ่น pm 2.5 ได้มีการแจ้งเตือนว่าช่วงสองวันนี้ (19-20 ก.พ.) จะมีสภาวะฝุ่นที่สูงขึ้นเนื่องจากมีลมตะวันออกมาปะทะกับลมใต้ ช่วง 10 วันที่ผ่านมาค่าฝุ่นดีเพราะมีลมใต้แรงพัดเอาฝนเข้ามาด้วย แต่ช่วงนี้ลมตะวันออกรุนแรงขึ้น การมีฝนตกทำให้ผลกระทบจากปัญหาการเผาชีวมวลลดลง จากการพยากรณ์อากาศคาดว่าแนวโน้มของฝุ่นจะดีขึ้น ขณะนี้ได้มีการแจกอุปกรณ์กรองอากาศ และหน้ากากอนามัย ให้กับ ศูนย์เด็กเล็กของกทม.ทั้งหมด 270 แห่ง เพื่อดูแลปกป้องกลุ่มเด็กเล็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกันประชาชนมีความเข้าใจในการเฝ้าระวังการพยากรณ์อากาศได้ดีขึ้น ซึ่งสถานการณ์ช่วงสองวันข้างหน้าน่าจะดีขึ้นเช่นกัน


ส่วนในระยะยาวจะต้องมีการคุยกันหลายภาคส่วนทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิด เช่นเรื่องรถยนต์ต่างๆ ที่ผ่านมาหลายเรื่องที่เราทำได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น มาตรการ WFH ภาคเอกชนหลายหน่วยงานให้ความร่วมมือมากขึ้นเนื่องจากเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ สำหรับพื้นที่ลาดกระบังมีปัญหาในเรื่องของการเผาถ่านในบางพื้นที่ ได้ให้ทางสำนักงานเขตเข้าไปชี้จุดและดำเนินการตามมาตรการ ซึ่งจุดที่มีการเผาถ่านอาจจะไม่ขึ้นใน GPS เนื่องจากความร้อนยังไม่สูงพอ แต่ก็สร้างความเดือดร้อนรำคาญและเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดฝุ่นได้ นอกจากนี้การเผาชีวมวลเป็นเรื่องที่ต้องกำกับดูแลให้เข้มข้นขึ้นโดยจากนี้เป็นต้นไปเราจะเห็นการเผาชีวมวลมากขึ้นในเขตรอบนอกจึงจะต้องขอความร่วมมือและควบคุมดูแลอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ได้ย้ำให้ทุกสำนักงานเขตดูแลพื้นที่ก่อสร้างอย่างเข้มงวดไม่ให้เกิดเดือดร้อนรำคาญ ทั้งในแง่ของตึกและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า ทั้งนี้ประชาชนสามารถร่วมเป็นหูเป็นตาแจ้งเหตุและเบาะแสผ่าน traffy fondue เพื่อเป็นข้อมูลให้เขตนำไปปรับปรุง โดยลงละเอียดในพื้นที่จุดที่มีการทิ้ง-เผาขยะในที่รกร้าง จุดที่มีการเผาถ่าน เผาชีวมวลต่างๆ


ส่วนปัญหาจราจรในจุดที่มีการสร้างสะพานยกระดับ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา การก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย ในเบื้องต้นทางสำนักเขตลาดกระบังได้มีการล้างทำความสะอาดและฝุ่นละอองในพื้นที่

* โครงการไม่เทรวม เขตลาดกระบังทำได้ค่อนข้างดี

เขตลาดกระบังเป็นเขตที่ ทำโครงการไม่เทรวมได้ดีมาก เป้าหมาย 2,000 กว่าหน่วยงานมีคนเข้าร่วมมากกว่า 37% เนื่องจากมีเกษตรกรอยู่จำนวนมากทั้งผู้ที่เลี้ยงปลา และทำการเกษตรซึ่งสามารถนำขยะเปียกเหล่านี้ไปใช้งานได้เลย มีความสะดวกกว่าเขตในเมืองที่ไม่มีเกษตรกร ความเอาจริงเอาจังของผู้อำนวยการเขตและ ส.ก.ในพื้นที่ ช่วยกันกระตุ้นให้โครงการนี้เห็นผลชัดเจน จาก 6 เดือนที่แล้วมีขยะ 290 ตัน เหลือประมาณ 260 ตันต่อเดือน ลดลงอย่างเห็นได้ชัดแต่เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณขยะยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย คือมีปริมาณ 1.4 กิโลกรัมต่อคนในขณะที่ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานครเป็น 1 กิโลกรัมต่อคน เนื่องจากมีประชากรแฝงเป็นจำนวนมากรวมทั้งมีนิคมอุตสาหกรรมและนักศึกษาต่างๆ

เชื่อว่าการแยกขยะเดินมาถูกทางแล้ว การแยกขยะเปียกออกมาทำให้สามารถนำขยะที่เหลือไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ปนเปื้อนและเหม็นเน่า สิ่งที่เขตลาดกระบัง ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทดลองแต่ประชาชนมีความต้องการร่วมกิจกรรมจำนวนมาก เป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่ อื่นๆ เป็นแนวคิดว่าหากเรามีขยะเปียกมากพอในพื้นที่ก็อาจจะทำให้เกษตรกรหรือคนที่มีความต้องการนำขยะเปียกไปใช้ต่อเข้าไปรับ โดยหน้าที่หลักของเขตคือเป็นตัวกลางในการรวบรวมขยะเปียกและแยก เพื่อส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ได้อาจเป็นอาหารปลาหรือ เป็นปุ๋ยหมักได้

* ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและแก้ปัญหา

ในช่วงบ่าย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามงานในที่พื้นที่เขตลาดกระบัง เดินทางไปพื้นที่ก่อสร้างสำนักงานเขตลาดกระบังแห่งใหม่และโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร บริเวณ ซ.ลาดกระบัง 15 ถ.ลาดกระบัง เดินทางไปจุดปัญหาจราจรติดขัดสะสมหนาแน่นจากก่อสร้างสะพานยกระดับ บริเวณ ถ.ลาดกระบัง-หลวงแพ่ง ต่อด้วยเดินทางไปจุดปัญหาจราจรติดขัดสะสมหนาแน่นเนื่องจากมี 2 ช่องจราจร บริเวณ ซ.ลาดกระบัง 54 ถ.ลาดกระบัง เดินทางไปที่ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม ตรวจเยี่ยมชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์/ท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน จากนั้นเดินทางไปจุดปัญหาพื้นที่น้ำท่วมขังและชำรุด ที่ยังไม่ยกเป็นทางสาธารณะประโยชน์ บริเวณถนนหลวงแพ่ง (ซอย สน.จรเข้น้อย) และเดินทางไปจุดเสี่ยงด้านความปลอดภัยการสัญจรของประชาชนเพื่อติดตั้งสัญญาณไฟจราจร/ทางข้ามถนน บริเวณถนนเลียบคลองมอญ สี่แยกวัดอุทัยธรรมาราม และบริเวณถนนเจ้าคุณทหาร บริเวณจุดตัด ถนนคุ้มเกล้าฝั่งเหนือและฝั่งใต้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น