พม. เป็นผู้แทนไทยประสานเสียงประชาคมโลก สร้างงาน สร้างรายได้และเสริมพลังกลุ่มเปราะบาง ฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

พม. เป็นผู้แทนไทยประสานเสียงประชาคมโลก สร้างงาน สร้างรายได้และเสริมพลังกลุ่มเปราะบาง ฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมด้วยนางสาวอังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 61 (CSocD 61) ในฐานะผู้แทนไทย ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นำเสนอความก้าวหน้าของประเทศไทยในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมอาชีพ และการจ้างงานกลุ่มเปราะบางตามภารกิจของกระทรวง พม. รวมถึงการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสังคม


นางสาวสราญภัทร กล่าวนำโดยแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในตุรกีและซีเรีย จากนั้นจึงนำเสนอการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของไทยเพื่อขยายความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม และมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามสภาพปัญหา ผ่านโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน นอกจากนั้น ไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการจ้างงาน และการเสริมสร้างทักษะด้านอาชีพแก่กลุ่มต่าง ๆ โดยเห็นว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ไทยสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์โควิด - 19 ได้อย่างยั่งยืน


นางสาวสราญภัทร กล่าวเน้นย้ำด้วยว่า ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้แก่คนพิการ ผู้ประกอบการสตรี ราษฎรบนพื้นที่สูง และเยาวชน รวมถึงการพัฒนาทักษะอาชีพแก่กลุ่มสตรีเปราะบาง โดยเฉพาะเเม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงงานที่มีคุณค่าในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ได้แบ่งปันเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ และมาตรการด้านผู้สูงอายุของไทย ที่ส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ครอบคลุมสำหรับคนทั้งสองกลุ่ม เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทย ในปี 2028


ทั้งนี้ การเข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความมุ่งมั่นของไทยที่จะส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานที่มีคุณค่าให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง รวมถึงดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นแนวทางสำคัญเพื่อฟื้นฟูประเทศจากการผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของประชาคมโลก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น