รองผู้ว่าฯ ทวิดา หารือ UTC ใช้เทคโนโลยีให้ผู้มีภาวะซึมเศร้าเข้าถึงระบบสาธารณสุข กทม - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯ ทวิดา หารือ UTC ใช้เทคโนโลยีให้ผู้มีภาวะซึมเศร้าเข้าถึงระบบสาธารณสุข กทม

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 65 รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UTC) เรื่องการคัดกรอง ดูแลรักษาผู้มีภาวะซึมเศร้า ผ่านความร่วมมือในด้านแอปพลิเคชั่นและระบบสาธารณสุข กทม. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 23 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ในการประชุมหารือวันนี้ UTC ได้นำเสนอ DMIND ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า นวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท Agnos Health เป็นแอปพลิเคชั่นที่จะช่วยจิตแพทย์คัดกรองว่าผู้ป่วยคนไหนมีภาวะซึมเศร้าในระดับใด ต้องส่งต่อไปรับการรักษาในรูปแบบใด ปัจจุบันได้ขยายขอบเขตไปใช้งานในแอปพลิเคชันหมอพร้อม โดยเลือกส่วนใช้งาน “คุยกับหมอพร้อม (Chatbot)” เลือก “ตรวจสุขภาพใจ” เลือก “ตรวจสุขภาพใจกับคุณหมอพอดี” จากนั้นจะเป็นส่วนของการตอบแบบสอบถาม ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยคัดกรองและประเมินตัวเอง และสามารถประเมินเชิงลึกด้วยการพูดคุยกับหมอพอดี ซึ่งเป็น AI ผู้ใช้งานต้องอนุญาตให้มีการเปิดกล้อง บันทึกเสียงและภาพเพื่อการประเมิน โดยข้อมูลภาพและเสียงจะถูกเก็บเป็นความลับ และแอปพลิเคชันจะมีขั้นตอนการประเมิณภาวะซึมเศร้าในลำดับถัดไป

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ที่มีโรงพยาบาลในสังกัด 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และหลายหน่วยงานที่ดูแลด้านสาธารณสุข พร้อมทั้งมีแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้บริการโรงพยาบาลในเครือของสำนักการแพทย์ กทม. และกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนโยบายด้านสาธารณสุขของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทาง UTC จึงได้เข้าพบเพื่อหารือความร่วมมือให้แอปพลิเคชัน DMIND เป็นส่วนหนึ่งของแอปพลิเคชัน หมอ กทม. เพื่อให้ชาวกรุงเทพมหานคร ที่มีภาวะซึมเศร้าได้เข้าถึงระบบการรักษามากยิ่งขึ้น ซึ่งรองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับชาว กทม. และสอดรับกับคอนเซ็ปต์ของแอปพลิเคชัน หมอ กทม. ที่ในด้านหนึ่ง ไม่ใช่การยกโรงพยาบาลไปไว้ในแอปพลิเคชัน แต่คือการทำให้เตียงในบ้านเป็นโรงพยาบาลได้ โดยจะหารือเรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกันต่อไป

การหารือในวันนี้ มี นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พญ.ดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปัญญาประดิษฐ์เพื่องานวิศวกรรม ดร.ปพนวิช ชัยวัฒโนดม CEO บริษัท Agnos health จำกัด รศ.พญ โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น