กทม. ถอดบทเรียน Apec ในอนาคตนัดเจ้าภาพและกลุ่มผู้ชุมนุมหารือลดข้อขัดแย้งก่อนเริ่มงาน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

กทม. ถอดบทเรียน Apec ในอนาคตนัดเจ้าภาพและกลุ่มผู้ชุมนุมหารือลดข้อขัดแย้งก่อนเริ่มงาน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 65 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 25/2565 ว่า สำหรับภาพรวมการประชุมเอเปคที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กทม. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนเรื่องที่ต้องปรับปรุงเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ปรับปรุงได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องน้ำพุที่สระน้ำ ซึ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นต้องดำเนินการซ่อมแซม ควรต้องเตรียมการล่วงหน้าให้มีเวลาเหลือมากขึ้น ดังนั้น ต้องมีผู้อำนวยการเหตุการณ์ที่สามารถคาดการณ์ประเด็นต่าง ๆ ได้ดี หรือการเทพื้นยางมะตอยแล้วทำให้เกิดน้ำขังบริเวณถนนอโศกบางช่วง แม้จะไม่มีผลกระทบต่อการประชุมแต่ก็เป็นจุดที่ต้องดูให้ละเอียด สำหรับเรื่องการประสานงานไม่ได้มีปัญหาอะไร

ในส่วนของผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงการจัดประชุมเอเปค ได้มีการอธิบายหลายครั้งแล้วว่า เราได้มีการหารือกับทางฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง การเปิดพื้นที่ลานคนเมืองเราไม่ได้คิดเอง โดยมีการหารือกับทางตำรวจ ซึ่งทางตำรวจก็เห็นด้วย โดยตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯได้ 1 เดือน ได้เปิดให้ลานคนเมือง เป็น 1 ใน 7 ที่ชุมนุมสาธารณะ มีคนขอใช้ทั้งหมด 36 ครั้ง โดย 14 ครั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง อีก 22 ครั้งเป็นเรื่องอื่น ๆ ทั่วไป จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมา เป็นพื้นที่ให้แสดงออกได้ ช่วยลดความขัดแย้งและปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ทำให้คนมาใช้พื้นที่นี้เพื่อแสดงความแตกต่าง และทำให้การวางแผนการบริหารจัดการต่าง ๆ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ยืนยันว่า สิ่งที่เราทำถือว่าเราได้มีการคิดละเอียดแล้ว อาจจะมีที่มีปัญหาที่ผู้ชุมนุมขยับออกไป และเกิดมีการปะทะขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด แต่ต้องเรียนว่ายังดีกว่าไม่มีพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากหาก กทม. บอกว่าไม่ให้มีการชุมนุม แต่มันเป็นการโยนภาระให้คนอื่น กลายว่าผู้ชุมนุมไม่มีที่ชุมนุมที่เป็นสัดเป็นส่วน ก็ต้องไปชุมนุมที่อื่นบนพื้นที่สาธารณะ หรือถนน ยิ่งไปสร้างปัญหา คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะไปชุมนุมที่ไหน การรับมือยิ่งยากลำบากมากขึ้นอีก แต่การที่เรากำหนดพื้นที่ ให้เขาสามารถพูดหรือแสดงออกได้ ผมว่าก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน แต่อาจจะมีจุดที่เกิดข้อผิดพลาดบ้าง ก็เป็นบทเรียนที่ต้องพัฒนาขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วน กทม.เอง บทเรียนที่ได้คุยของเรื่องจุดชุมนุมนี้ คือ ปัญหาเกิดจากที่คนออกจากลานคนเมืองไปยื่นหนังสือ การแก้ปัญหาในอนาคตจะจัดให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาคุยกันได้หรือไม่ หรือมีการประชุมที่มีผู้แทนจากต่างประเทศมา จัดผู้แทนจากต่างประเทศมาเจอผู้ชุมนุมที่ลานคนเมืองได้หรือไม่ จะได้ไม่มีข้ออ้างว่าจะต้องออกจากพื้นที่ อย่างประเด็นที่ผู้ชุมนุมเสนอก็ยังไม่ค่อยชัดเจนว่า เขาต้องการอะไรในรายละเอียด เราอาจจะเข้าไปสรุปประเด็นว่าเขาต้องการอะไร เพื่อจะได้ทำข้อเสนอให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ กทม. ช่วยให้การประชุมครั้งหน้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ขอบคุณทุกคนที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งตรงกับเป็นแนวคิดของเอเปคเลย คือ Open คือเราเปิดเผย มีพื้นที่ชุมนุม Connect คือเชื่อมโยงคนทุกคนไม่ว่าความเห็นแตกต่างกันอย่างไร และ Balance คือต้องหาความสมดุลของผู้ที่เห็นต่าง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวยังให้ความเห็นเรื่องการชุมนุมโดยมองว่าทุกคนเป็นคน กทม. ซึ่งจริง ๆ แล้วคนจะมาชุมนุมเพื่อสนับสนุนการประชุมเอเปค ตนก็ไม่ได้ว่าอะไร ฉะนั้น เนื้อหาเราไม่เคยรู้เลยว่าใครเป็นใคร เราดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน บางเรื่องอย่าเอาไปเป็นประเด็นทางการเมือง เราเองอยู่ตรงนี้ถือว่าเราเป็นกลาง เพราะไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง เราเป็นอิสระ และคิดว่าสิ่งที่ทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของ กทม. การประชุมเอเปคครั้งนี้ ในแง่ของการประชุมก็จัดไปได้อย่างราบรื่น ผู้นำทุกคนชื่นชมกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์ออกมาคือสิ่งที่เราคาดหวังว่าอยากจะให้มันดี อาจจะมีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ไม่ได้บานปลายขนาดที่จะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อการประชุม นี่คือยุทธศาสตร์ที่เราพยายามวางไว้ ตอนนี้เราดูแลงานเมืองอยู่ ก็อยากให้งานเมืองผ่านไปด้วยความเรียบร้อยที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นคงต้องทบทวนกับฝ่ายความมั่นคงอีกครั้งว่าจุดตรงนี้มีอะไรที่จะปรับปรุงหรือไม่ อนาคตพื้นที่นี้ยังมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนในอนาคตได้ คงต้องคุยกับทางตำรวจอีกครั้งหนึ่ง

• แจงความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว รอหนังสือตอบกลับจาก สภากทม.

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ในข้อบัญญัติ กทม. ระบุไว้ชัดเจนว่าการที่ กทม.ไปสร้างภาระหนี้ผูกพันงบประมาณต้องผ่านสภากทม. ก่อน จะเห็นว่าการทำสัญญาในส่วนต่อขยายที่ 2 ตนไม่เห็นการอนุมัติจากสภา ซึ่งเป็นภาระหนี้ผูกพันที่ต้องจ่ายทุกปีต่อเนื่องไป ดังนั้น กระบวนการตรงนี้ไม่สอดคล้องกับข้อบัญญัติ รวมถึงการจ่ายค่าซื้อรถ ซึ่งขณะนี้ได้มีหนังสือสอบถามไปยังเลขาสภากทม. ว่า เรื่องนี้ในอดีตที่ผ่านมาเคยผ่านมติจากสภากทม.หรือไม่ ในส่วนของส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเป็นโครงการที่สภากทม.เห็นชอบแล้ว และไปก่อหนี้ผูกพันผ่าน KT ผ่านเอกชน ขณะนี้รอให้ครม.ยุติเรื่องที่พิจารณาเรื่องสัญญาก่อน เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นมูลหนี้ในการพิจารณา

“ปัญหาคือ มีขั้นตอนที่ขาดหายไป ใจเราไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้าหากเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ขณะเดียวกัน เหมือนกับการรับโอนทรัพย์สินมาจากระทรวงคมนาคม มิติหนึ่งที่เรามอง มันก็คือการก่อหนี้ผูกพัน เพราะการรับทรัพย์สินมาก็คือการรับหนี้มา ต้องไปจ่ายหนี้เป็นภาระผูกพัน ซึ่งถ้าหากดูข้อบัญญัติกทม. การนับหนี้มาก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภากทม. เหมือนกัน คือการสร้างหนี้ผูกพันในอนาคตซึ่งต้องนำงบประมาณมาจ่าย เท่าทีสืบสวนดูตอนที่เขาทำสัญญามอบหมายหน้าที่ก็มีความเห็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเองบอกว่าต้องผ่านสภากทม. อีกส่วนหนึ่งบอกว่าไม่ต้องผ่านสภากทม.หรอก” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

โดยเร็ว ๆ นี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะไปพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยหารือในหลายประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือ ที่เสนอไปมีเรื่องพื้นที่ใต้ทางด่วนที่จะขออนุญาตใช้ เช่น พื้นที่ของกรมทางหลวงชนบทใต้สะพานปิ่นเกล้าที่จะทำเป็นศูนย์คนไร้บ้าน หรือบริเวณทางด่วนนานา อยากจะทำเป็น Hawker Center ให้หาบเร่แผงลอย ปัจจุบันเป็นศูนย์ OTOP อยู่ เรื่องการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเทา การเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ ร่วมกับกระทรวงคมนาคม ซึ่ง กทม.ไม่ได้มีงบประมาณมาก อาจจะให้กระทรวงคมนาคมช่วยลงทุนและเชื่อมโยงเครือข่ายให้

• ถอดรหัสการรับแจ้งเหตุและดูเกี่ยวกับกฎหมายวัสดุติดไฟ ลามไฟ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้คลินิกบริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 5 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน ว่า ให้มีการถอดรหัสการรับแจ้งเหตุระหว่างเกิดเหตุทั้งหมดว่ามีตรงไหนที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นไหม การส่งคนออก กี่นาทีรถออก มีรถออกกี่คัน จากที่ดูการเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุไม่ได้ช้า สถานีดับเพลิงบรรทัดทองเข้าถึงสถานที่เกิดน่าจะใช้เวลาประมาณ 4 นาที ได้ให้ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีการทบทวนและสรุปรายละเอียดว่าจะปรับปรุงอะไรได้บ้าง ส่วนการพิสูจน์หลักฐานเป็นเรื่องของตำรวจยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมมา โดยได้มอบหมายให้ รองผู้ว่าฯ วิศณุ ดูกฎหมายควบคุมวัสดุติดเพลิงในอาคาร

“เหตุการณ์นี้ไฟไหม้เร็วมาก พอไฟช็อตน่าจะตรงมิเตอร์ไฟหรือระบบไฟเข้าตึก ไฟไหม้ตรงวัสดุตกแต่งตัวอาคารแล้วเข้าไปในอาคาร ตรงนี้ต้องทบทวน เข้าใจว่าเรายังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องวัสดุติดไฟในอาคาร การลามไฟ ปัจจุบันวัสดุใหม่ ๆ มีเยอะ อนาคตต้องมีการดูเรื่องนี้ให้เข้มข้นขึ้น เป็นแนวคิดหนึ่งที่อาจต้องมีการออกกฎหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับวัสดุติดไฟ ลามไฟในอาคารหรือไม่” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวย้ำ

• เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง

ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ช่วงนี้มี 2 มิติที่น่าเป็นห่วง เรื่องของน้ำทะเลหนุนเพราะปลายเดือนเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุด สูงคล้ายกับเดือนที่แล้ว และอาจมีฝนตกลงมา แต่ที่เบาใจคือน้ำเหนือไม่มาก ดังนั้นผลรวมของ 3 อย่างนี้อาจไม่มีปัญหามาก แต่ก็ได้ให้เร่งดูจุดฟันหลอที่มีปัญหาคราวที่แล้ว เช่น ถนนพระราม 3 ซอย 56 และซอย 58 ที่น้ำทะลักเข้ามา อย่างเมื่อวานมีฝนตกและน้ำท่วมเล็กน้อยบริเวณบางขุนเทียน 26

นอกจากนี้ ได้กำชับให้ทุกเขตเตรียมพร้อมรับมือทั้งกรณีจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา และฝนตกในพื้นที่ คาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะเตรียมพร่องน้ำไว้เยอะ และมีการลอกท่อต่อเนื่องไม่ได้หยุด ส่วนเครื่องสูบน้ำที่หน่วยงานต่าง ๆ ให้ยืมมาได้เอากลับคืนไปแล้ว ก็ให้ดูว่ากำลังด้านต่าง ๆ เพียงพอไหม ซึ่งรองผู้ว่าฯ วิศณุ ได้รายงานว่ายังไม่มีปัญหาอะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad