มท.หารือร่วม OKMD ขับเคลื่อนแนวทาง “การพัฒนาคน” ผ่านกลไกการเสริมสร้างและพัฒนาพื้นที่แหล่งเรียนรู้ในระดับจังหวัด พัฒนาเมืองสู่ Learning and smart city - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

มท.หารือร่วม OKMD ขับเคลื่อนแนวทาง “การพัฒนาคน” ผ่านกลไกการเสริมสร้างและพัฒนาพื้นที่แหล่งเรียนรู้ในระดับจังหวัด พัฒนาเมืองสู่ Learning and smart city

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 65  เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) โดยมี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมหารือ

นายสมคิด จันทมฤก กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ซึ่ง OKMD ถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในด้านการขับเคลื่อนงานการพัฒนาคน ตั้งแต่ปฐมวัยตลอดจนทุกช่วงวัย อันเป็นภารกิจที่สำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาพลเมืองของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาคนและชุมชนผ่านโครงการ/กิจกรรมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี หน่วยงานระดับกรม ทั้งกรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการปกครอง ซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ มีกลไกทุกองคาพยพและมีภาคีเครือข่ายใกล้ชิดประชาชนในระดับพื้นที่ทุกช่วงวัย และมีสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานกลางของกระทรวงมหาดไทยในด้านการจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ ทั้งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ซึ่งมีหลักสูตรที่สำคัญ อาทิ หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) และหลักสูตรนักบริหารระดับกลาง (บ.มท.) เป็นต้น

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ มีวิสัยทัศน์ของหน่วยงาน คือ “ขยายโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ตามแนวโน้มเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้แก่คนทุกช่วงวัย” โดยได้กำหนดเป้าหมาย “มุ่งเน้นพัฒนาและยกระดับศักยภาพทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้” ซึ่งปัจจุบัน OKMD ได้ขยายแหล่งเรียนรู้ต้นแบบสู่ภูมิภาคในรูปแบบ “สนามเด็กเล่น” หรือ “OKMD” ตามหลักการพัฒนาสมอง (BBL) 450 แห่งใน 77 จังหวัด ศูนย์ความรู้กินได้ 16 แห่ง ใน 15 จังหวัด TK Park 31 แห่ง ใน 24 จังหวัด และ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ 17 แห่ง ใน 14 จังหวัด

“OKMD ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่มีอำนาจหน้าที่และบุคลากรครอบคลุมทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชการบริหารส่วนภูมิภาค มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ และข้าราชการในสังกัดกรมต่าง ๆ รวมถึงราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกำกับดูแลถึง 7,850 แห่งทั่วประเทศ จึงถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ OKMD เห็นว่าสามารถประสานงานและบูรณาการเพื่อความร่วมมือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศใน 6 ด้าน คือ 1) การบูรณาการร่วมกับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ในด้านงาน “ห้องสมุดชุมชน” หรือ “บ้านรักษ์/ท้องถิ่นรักการอ่าน” 2) การบูรณาการงานด้าน Leaning City ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยศึกษา/ออกแบบ นำศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั้ง 11 แห่งเพื่อพัฒนาต่อยอดเป็น “อุทยานการเรียนรู้รูปแบบใหม่” 3) พัฒนาหลักสูตรและร่วมจัดอบรมด้าน “การพัฒนาสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” โดยนำแนวทาง Brain-Based Learning มาประยุกต์ใช้ 4) ขับเคลื่อน “การท่องเที่ยวเชิงความรู้” โดยร่วมกันจัดทำเส้นทาง (Routing) และแนวทางการทำการตลาด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความรู้ในระดับชุมชน 5) จัดการอบรมเยาวชน (โดยเฉพาะเยาวชนผู้ด้อยโอกาส) ผ่าน Youth Camp โดยใช้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน เป็นสถานที่ดำเนินงาน และ 6) ศึกษาและร่วมพัฒนาอาคารเก่าในพื้นที่จังหวัดที่มีความเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้เป็น ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ฯลฯ สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกช่วงวัย” ดร.ทวารัฐฯ กล่าว

ด้าน นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวถึงข้อมูลศูนย์เรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” ศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Quality of Life) โดยดึงเอาวิถีชีวิต (Way of Life) มาพัฒนาทักษะทางอาชีพ ต่อยอดภูมิปัญญา เพื่อยกระดับคุณภาพฝีมือและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อาทิ บ้านดอนกอย อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร และบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางอันเนื่องมาจากพระดำริเพื่อส่งเสริมต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้า อันเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนก่อเกิดผลลัพธ์กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น รวมทั้งกรมการพัฒนาชุมชนได้นำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามหลัก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ มาบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อีกด้วย

รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาคนและพื้นที่ในเชิงองค์รวม โดยได้มีนโยบายขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก สระบุรี ชัยนาท อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยในปัจจุบันได้มีการดำเนินการผ่านระบบฐานข้อมูล War Room MOI ที่สามารถเรียกดูข้อมูล ติดตาม หนุนเสริมงานในพื้นที่ได้

“การหารือในวันนี้เป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เกิดการหนุนเสริม ระดมสรรพกำลัง และบูรณาการการทำงานทั้งเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้ก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค ถือว่ามีความท้าทายที่เป็นไปได้ “หากมีความร่วมมือกันอย่างจริงจัง” ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย มีโครงการที่เกี่ยวเนื่องที่สามารถบูรณาการต่อยอดขับเคลื่อน อาทิ การขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” การน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาคุณภาพประชาชนในระดับพื้นที่ด้วยพลัง “บวร” โครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ เป็นต้น โดยมีศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั้ง 11 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพและมีความพร้อมในด้านการพัฒนาสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งจะได้หารือร่วมกับ OKMD ในรายละเอียดเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงและยั่งยืนต่อไป” รศ.วรวรรณฯ กล่าว

นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากแนวคิดในการทำงานเพื่อพัฒนาคน พัฒนาชุมชน โดย ใช้หลัก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ แล้ว แต่ละ ส่วนราชการระดับกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการขับเคลื่อนโครงการที่เน้นพัฒนาศักยภาพ พัฒนาทักษะ กระบวนการคิด วิเคราะห์ ในกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกช่วงวัย ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซึ่งเป็นกิจกรรมรูปแบบหนึ่งที่ช่วยจุดประกายและสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงกระทรวงมหาดไทย Change Agent for Strategic Transformation - CAST ที่มุ่งในการ “สร้างทีมงาน” ทั้งทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน เพื่อให้ทีมได้ช่วยกันระดมความคิด ระดมสมอง ในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาระดับพื้นที่ ทั้งด้านการพัฒนาคน พัฒนาเมือง และพัฒนาด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้นำข้อหารือของ OKMD มาเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานในสังกัดและจังหวัดต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทาง วางแผนการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาคนซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สอดรับกันของกระทรวงมหาดไทย และ OKMD ได้รับการพัฒนาก้าวไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad