ออมสิน จับมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดโครงการพัฒนา “Holistic Area Based” ตั้งเป้า 5 หมู่บ้านยอดดอยเปียงซ้อ จ.น่าน เป็นต้นแบบ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ออมสิน จับมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดโครงการพัฒนา “Holistic Area Based” ตั้งเป้า 5 หมู่บ้านยอดดอยเปียงซ้อ จ.น่าน เป็นต้นแบบ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ริเริ่มเปิดตัวโครงการเพื่อสังคมโปรเจกต์ใหม่ล่าสุด โดยร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม หรือ Holistic Area-Based Development คัดเลือก 5 หมู่บ้านของพื้นที่ห่างไกลในตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ได้แก่ 1) บ้านเปียงซ้อ 2) บ้านห้วยฟอง 3) บ้านสะจุก 4) บ้านสะเกี้ยง 5) บ้านห้วยเต๋ย ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา 9 ด้าน ครอบคลุมมิติคุณภาพชีวิต และมิติเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการแนวคิดเชิงสังคมลงในกระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญ : Social Mission Integration เพื่อขับเคลื่อนการสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคมให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ธนาคารเพื่อสังคม
โครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม : Holistic Area-Based Development พื้นที่ 5 หมู่บ้านของจังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ จำนวนประชากร 500 ครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลประโยชน์ในโครงการ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เข้าไปบุกเบิกชักชวนชาวบ้านของ 5 หมู่บ้าน ให้เปลี่ยนจากการทำเกษตรเลื่อนลอยที่ทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มาปลูกกาแฟคุณภาพมาตรฐานญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายผิวดินและป่าต้นน้ำน่าน ต่อมาธนาคารออมสินได้ริเริ่มจัดทำโครงการต้นแบบตามแนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมขึ้น สนับสนุนงบประมาณ 6,900,000 บาท โดยร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คัดเลือกให้ 5 หมู่บ้านดังกล่าว เป็นพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาในขั้นต่อไป ด้วยการจัดตั้งโรงแปรรูปกาแฟ เครื่องมืออุปกรณ์ และปัจจัยที่จำเป็นในการแปรรูปเมล็ดกาแฟให้พร้อมจำหน่ายเพิ่มรายได้ต่อกิโลกรัมให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ ธนาคารยังจัดสรรงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งสำหรับมิติการพัฒนาด้านอื่นที่รับผิดชอบดำเนินการโดยบุคลากรของธนาคารทั้งจากส่วนกลาง และธนาคารออมสินภาค 9 (จังหวัดน่าน) อาทิ ด้านการจัดหาแหล่งเงินและแก้ปัญหาหนี้ การสร้างอาชีพสร้างรายได้อื่นนอกเหนือจากการเกษตร เช่น การส่งเสริมอาชีพผู้ประกอบการโฮมสเตย์รวม 18 ราย ที่ผ่านการอบรมยกระดับโฮมสเตย์มาตรฐานจากกรมการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และ Airbnb การฝึกอบรมสอนอาชีพช่างโดยวิทยาลัยเทคนิคปัว การสนับสนุนด้านการศึกษา ทั้งที่เป็นก่อสร้าง/ปรับปรุงอาคารโรงอาหาร ห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และการส่งเสริมการเรียนการสอนด้าน ICT โดยความร่วมมือของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) การสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์แก่โรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลและกิจกรรมของ อสม. การปรับปรุงระบบจัดการน้ำดื่มน้ำใช้ การติดตั้งระบบไฟ Solar System ระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาและช่วยเหลือชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลา 1 ปี และคาดว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ในโครงการต้นแบบฯ ครั้งนี้ ทั้งประชากรของ 5 หมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย
ด้วยการเริ่มต้นจากจุดเล็กที่ธนาคารออมสินได้ริเริ่มในพื้นที่นี้ เมื่อสามารถขยายตัวลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นรูปธรรมจนนำไปสู่ความสำเร็จ หากเกิดการทยอยทำหลายพื้นที่ แล้วได้ต่อภาพจากต้นแบบนี้ จนมีการขยายผลไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ธนาคารออมสินจะดำเนินการเอง หรือหากมีหน่วยงานอื่น จะทำลักษณะนี้ด้วย จะเป็นการช่วยกันใส่ความช่วยเหลือให้ในหลาย ๆ จุดตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ดังเช่นจุดริเริ่มที่ตำบลขุนน่านนี้ ถือว่ายากลำบากทุรกันดารที่สุด หากทำสำเร็จได้แล้ว พื้นที่ใด ๆ ก็ตามในประเทศไทยก็สามารถพัฒนาไปสู่ความสำเร็จเช่นนี้ได้ทั้งสิ้น.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad