คกก.เศรษฐกิจฯ สภากทม. กำชับกทม.ให้ความสำคัญการระบายน้ำ ลดผลกระทบกับประชาชน...G - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

คกก.เศรษฐกิจฯ สภากทม. กำชับกทม.ให้ความสำคัญการระบายน้ำ ลดผลกระทบกับประชาชน...G

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.65  นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและงบประมาณ ประจำสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ประชุมติดตามงานของสำนักการระบายน้ำ กทม. โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักงบประมาณ กทม. ร่วมประชุมและชี้แจง ณ ห้องประชุม 5 อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง
ในที่ประชุม สำนักการระบายน้ำ ได้รายงานจำนวนเครื่องสูบน้ำที่อยู่ในความดูแลปัจจุบันทั้งหมด โดยเครื่องสูบ ขนาดใหญ่ 48 นิ้ว ติดตั้ง ณ ประตูระบายน้ำ มีจำนวน 360 เครื่อง ขนาด 40 นิ้ว จำนวน 149 เครื่อง รวมทั้งหมด 509 เครื่อง ปัจจุบันยังสามารถซ่อมแซมและใช้งานได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความต้องการเครื่องสูบน้ำใหม่อยู่ เนื่องจากสภาพพื้นที่ของกรุงเทพฯเปลี่ยนไป มีการก่อสร้างอาคารสูง และคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำได้จัดประชุมเพื่อถอดบทเรียน ของ 6 กลุ่มโซน เพื่อหาจุดอ่อนน้ำท่วมซ้ำซาก กำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน รวมถึงได้สอบถามความต้องการเครื่องสูบน้ำของเขต เนื่องจากเขตจะเข้าใจพื้นที่ได้ดีกว่า รวมถึงในที่ประชุม สำนักการระบายน้ำยังได้ชี้แจงรายละเอียดคุณลักษณะของเครื่องสูบน้ำแต่ละประเภท ประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำแต่ละยี่ห้อ แนวทางการใช้งาน การซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำที่เสียหาย การยุบสภาพเครื่องสูบน้ำ และการจัดซื้อเพื่อทดแทน

คณะกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกต ว่า สำนักงบประมาณควรให้ความสำคัญกับการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำของสำนักการระบายน้ำเพื่อทดแทน หรือการจัดซื้อใหม่ เนื่องจากภารกิจของสำนักการระบายน้ำจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนชาวกรุงเทพฯ ซึ่งหากเกิดความเสียหายจะกระทบทั้งประชาชนและสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และควรเร่งรัดพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปีต่อไป

รองผู้ว่าฯ กล่าวชี้แจงข้อซักถามของคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับการซื้อครุภัณฑ์หรือเครื่องสูบน้ำเพื่อทดแทน ที่กำหนดให้ซื้อทดแทนในแบบเดิม ว่า หากหน่วยงานจำหน่ายเครื่องสูบน้ำเดิมแล้ว และมีเหตุผลความจำเป็นในการซื้อใหม่ทดแทน ซึ่งมีรายละเอียดคุณลักษณะที่แตกต่างกันก็สามารถทำได้ เนื่องจากจะพิจารณาจากความคุ้มค่าและประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ตาม เอกสารที่จัดทำ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดคุณสมบัติของครุภัณฑ์นั้นๆ ต้องชัดเจนและสามารถเข้าใจได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกต ว่า การจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยให้บริษัทที่เข้ามาร่วมประมูลจัดซื้อจัดจ้างใช้ผลิตภัณฑ์ SMEs นั้น บางครั้งบริษัทที่เป็นSMEs จะมีราคาที่สูงกว่า ทำให้ภาครัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มมากขึ้น กว่า 10% และไม่เป็นธรรมในการต่อสู้ราคา จึงควรหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว

รองปลัดฯ กล่าวว่า ในภาวะวิกฤตพบว่ากระบวนการวางแผนเครื่องสูบน้ำไม่พอ เขตจึงต้องมีการวางแผนเผชิญเหตุด้วย และต้องเลือกเครื่องสูบน้ำให้เหมาะกับพื้นที่ และไม่กระทบต่อการสัญจรของพี่น้องประชาชน ที่สำคัญคือการเตรียมเครื่องสำรองให้พร้อมกรณีฉุกเฉินด้วย

หลังการประชุม ประธานคณะกรรมการฯ ได้กล่าวขอบคุณผู้บริหารและหน่วยงานที่ได้มาร่วมตอบข้อซักถามของคณะกรรมการ และขอให้นำข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในอนาคต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad