ผู้ว่าฯ – แม่บ้านมหาดไทย “เมืองคนดี” เดินหน้าแนวทาง “ผู้นำทำก่อนและทำต่อเนื่อง”....D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ – แม่บ้านมหาดไทย “เมืองคนดี” เดินหน้าแนวทาง “ผู้นำทำก่อนและทำต่อเนื่อง”....D

ผู้ว่าฯ – แม่บ้านมหาดไทย “เมืองคนดี” เดินหน้าแนวทาง “ผู้นำทำก่อนและทำต่อเนื่อง” ปลุกพลังภาครัฐ ภาคีเครือข่าย ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเมืองคนดี ที่หวงแหน และรักษ์โลกใบนี้อย่า

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 65 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกับชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัด น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการใช้พื้นที่ภายในบริเวณบ้านพักของตนเองจัดทำเป็นแปลงผักสวนครัว เพื่อได้มีพืชผักพันธุ์ต่าง ๆ รับประทานภายในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังได้นำแนวนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อน “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ซึ่งถือเป็นนโยบายที่มีความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการลดภาวะโลกร้อน และทำให้ได้มีปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน บำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักสวนครัวในแปลงผักภายในบ้าน และยังเป็นการเสริมสร้างสุขอนามัยและความรัก ความอบอุ่นของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือน กว่า 2 แสนครัวเรือนได้ปลูกผักสวนครัวมากกว่า 10 ชนิด ครอบคลุม 19 อำเภอ 142 ตำบล 1,269 หมู่บ้าน/ชุมชน ตามฐานข้อมูล จปฐ.ปี 2565
นายวิชวุทย์ จินโต ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยตนในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนางอุรสา จินโต ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำแนวคิด “ผู้นำทำก่อนและทำต่อเนื่อง” มาใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนส่งเสริมการสร้างความมั่นด้านอาหารและถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยใช้ “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี” เป็นฐานการปลูกผักสวนครัวและสาธิตการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 และมีพืชพันธุ์ผักสวนครัวนานาชนิด ไว้ปรุงอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชน รวมทั้งมอบให้กับโรงเรียนใช้สำหรับปรุงอาหารให้กับนักเรียนอีกด้วย

“โดยเมื่อวานนี้ (10 พ.ย. 65) ได้มีการจัดกิจกรรม “ปลุกพลังปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน” โดยการน้อมนำแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว ในแปลงผักสวนครัวภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งพัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายอำเภอ พร้อมข้าราชการส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สมาชิกกลุ่มสตรีอาสาพัฒนา ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน เครือข่ายโคก หนอง นา ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กว่า 50 คน ซึ่งบนพื้นที่แปลงพืชผักจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีขนาดพื้นที่ประมาณครึ่งไร่ นอกจากจะได้พืชผักปลอดภัยบริโภครายวันแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัวด้วยระบบอินทรีย์ ยึดหลักความปลอดภัย โดยมีการจัดการที่น่าสนใจ เช่น การปลูกผักชนิดต่าง ๆ มากกว่า 20 ชนิด มีการปลูกในกระบะ ล้อรถยนต์ เพื่อให้สามารถจัดการศัตรูพืชได้สะดวก มีการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เป็นครัวเรือนต้นแบบให้ประชาชนได้เรียนรู้และดำเนินวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตของแปลงผักจวนผู้ว่าฯ แห่งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรม “ถุงปันสุข” เปิดจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อมอบเครื่องบริโภค อาหาร ให้กับพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ขัดสนในพื้นที่ ในทุกวันอาทิตย์ของสัปดาห์อีกด้วย” ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวในช่วงต้น

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต่ออีกว่า ในด้านการบริหารจัดการขยะ เป็นปัญหาที่สะสมยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และอาหารการกิน รวมทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก จึงเป็นแหล่งผลิตขยะติดอันดับประเทศอีกจังหวัดหนึ่ง ทั้งขยะบนผืนดินใหญ่ และขยะจากเกาะต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของการดำเนินนโยบายจังหวัดในการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการขยะครบวงจรตามหลัก 3Rs คือ Reuse ใช้ซ้ำ Reduce ใช้น้อย Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ เริ่มตั้งแต่ครัวเรือน สถานประกอบการ หน่วยงานราชการ และทุกภาคส่วน ซึ่งแน่นอนว่า ปริมาณขยะที่เกิดจากเศษอาหารมีจำนวนมาก ทั้งอาหารทะเล และเศษพืชผักต่าง ๆ จังหวัดจึงได้ส่งเสริมให้มีการจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” โดยใช้ถังพลาสติกเหลือใช้มาตัดก้นถัง แล้วขุดหลุม วางถังลงไปในหลุม และปิดฝาทิ้งไว้ เพื่อให้เศษอาหาร เศษพืชผักเหล่านั้น ได้ทำปฏิกิริยาแปลงสภาพกลายเป็นปุ๋ย โดยข้อดีของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างหนึ่ง คือ บ้านเรือนของพี่น้องประชาชนจะมีพื้นที่เป็นจำนวนมาก ที่เหลือพอจะทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และปลูกผักสวนครัว รวมถึงสวนต่าง ๆ จึงทำให้จังหวัดได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการดำเนินการดังกล่าวอย่างทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศของกระทรวงมหาดไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน เพื่อนำไปสู่การดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ สภาพแวดล้อมของชุมชนรวมถึงปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน

ด้าน นางอุรสา จินโต ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กิจกรรม “ปลุกพลังปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ในวันนี้ เป็นการปลุกพลังภาครัฐและภาคประชาชนในการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดความต่อเนื่องต่อเนื่อง คำว่า “ผู้นำทำก่อนและทำต่อเนื่อง” เป็นการเริ่มต้นของท่านวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เป็นแบบอย่างกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน ทุกครัวเรือนได้ตระหนักถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งทั้งสองกิจกรรมเป็นการเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี กล่าวคือ เมื่อครัวเรือนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และเวลาผ่านไปจะเกิดการย่อยสลายของขยะอินทรีย์ก็จะได้ปุ๋ยชั้นดีสำหรับใส่บำรุงพืชผักสวนครัวให้งามมีความปลอดภัย สามารถประหยัดค่าซื้อปุ๋ย ค่าซื้อผักรับประทานได้ประมาณครัวเรือนละ 50 บาทต่อวัน ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีครัวเรือนตามฐานข้อมูล จปฐ.ปี 2565 จำนวนกว่า 2 แสน ครัวเรือนเท่ากับว่ามีการประหยัดเงินได้ถึง 10 ล้านบาท/วัน ซึ่งบางครัวเรือนมีพื้นที่ข้างบ้านเยอะสามารถปลูกผักได้จำนวนมาก มีเหลือบริโภคและแจกจ่ายแล้ว ยังสามารถรวบรวมจำหน่ายที่ตลาดนัดประชารัฐคนไทยยิ้มได้หน้าศาลากลางจังหวัดฯซึ่งได้จัดพื้นที่ให้จำหน่ายฟรี นอกจากนี้ยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้ออกกำลังกายอันจะส่งผลให้สมาชิกในครัวเรือน และผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง ลดภาระและงบประมาณของงานด้านสาธารณสุขลงได้ ทั้งยังเป็นช่องทางการสร้างรายได้หากผลผลิตมีมากเกินความต้องการบริโภคในครอบครัว และแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านและคนรอบข้างได้ ทำให้จิตใจสดชื่นเมื่อได้ลงมือปลูกผักด้วยตนเอง อีกด้วย

นายวิชวุทย์ จินโต กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน อันสอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : UN SDGs) ซึ่งได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทยเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา และเดินหน้ามุ่งมั่นในการทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเมืองคนดี ที่หวงแหน และรักษ์โลกใบนี้ ตลอดไป
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น