รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าฯในพื้นที่เขตธนบุรี..D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าฯในพื้นที่เขตธนบุรี..D

ยกชุมชนกุฎีจีนต้นแบบคัดแยกขยะแปรรูปเปลือกไข่เป็นปุ๋ยอัดเม็ด จัดระเบียบผู้ค้าสี่แยกบ้านแขกถนนอิสรภาพ สำรวจที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกสาทรเปลี่ยนเป็นสวน 15 นาที เช็คค่าฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างย่านเจริญนคร ตรวจศูนย์ฯ BFC เขตธนบุรี

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.65 เวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตธนบุรี ประกอบด้วย

เยี่ยมชมชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนกุฎีจีน มีพื้นที่ 32 ไร่ บ้านเรือน 261 หลังคาเรือน 298 ครัวเรือน ประชากร 834 คน สถานที่คัดแยกขยะใช้ในที่ทำการชุมชน เพราะเป็นศูนย์กลางที่คนในชุมชนสามารถเดินนำสิ่งของเหลือใช้ ขยะรีไซเคิล มาแลกเปลี่ยน ขายได้สะดวก โดยเขตฯ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในชุมชนในการลดและคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ดังนี้ ขยะทั่วไป รวบรวมขยะและมีอาสาสมัครชักลากมูลฝอยออกมาจากชุมชน เพื่อให้เขตฯ จัดเก็บและนำไปกำจัด ขยะรีไซเคิล คนในชุมชนจะมีการคัดแยะขยะ เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กล่อง กระดาษ อะลูมิเนียม โดยมีเจ้าหน้าที่ชุมชนบริการรับซื้อขยะรีไซเคิล เดือนละ 2 ครั้ง เมื่อขยะรีไซเคิลมีจำนวนมากแล้ว เจ้าหน้าที่ชุมชนจะเรียกร้านมารับซื้อขยะรีไซเคิล เดือนละ 1 ครั้ง การขายขยะรีไซเคิลจะยังไม่ได้รับเงิน แต่จะมีการบันทึกจำนวนขยะที่ขายได้ลงสมุดไว้ก่อน ซึ่งการจัดการขยะดังกล่าวจะเหมือนธนาคารขยะ ขยะอินทรีย์ นำเปลือกผลไม้ไปทำน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ (น้ำขยะหอม) คัดแยกขยะเศษอาหารและส่งให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ รวบรวมเปลือกไข่ตามร้านทำขนมฝรั่ง นำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยเปลือกไข่อัดเม็ด ขยะอันตราย กำหนดจุดทิ้งภายในชุมชน และเขตฯ เข้าจัดเก็บนำไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการเฉลี่ยวันละ 450-500 กก./วัน ปริมาณขยะหลังดำเนินการเฉลี่ยวันละ 350-400 กก./วัน ขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ อาทิ เปลือกผลไม้ทำน้ำหมักชีวภาพ เปลือกไข่ กากกาแฟทำปุ๋ย ขยะเศษอาหารนำไปเลี้ยงสัตว์ เขตฯ เข้าไปจัดเก็บขยะทุกวัน

ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน บริเวณสี่แยกบ้านแขก ถนนอิสรภาพ ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน 4 จุด ผู้ค้า 214 ราย ได้แก่ 1.ตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง มีผู้ค้า 74 ราย 2.ตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง มีผู้ค้า 50 ราย 3.สี่แยกบ้านแขก มีผู้ค้า 45 ราย 4.ถนนรัชดาภิเษก (ไทยช่วยไทย) มีผู้ค้า 45 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 5 จุด ผู้ค้า 78 ราย ได้แก่ 1.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 มีผู้ค้า 17 ราย 2.ปากซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 16-20 มีผู้ค้า 4 ราย 3.หน้าคอนโด Whizdom ถนนรัชดาภิเษก มีผู้ค้า 10 ราย 4.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู มีผู้ค้า 14 ราย 5.ซอยอิสรภาพ 13-15 มีผู้ค้า 33 ราย ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขีดสีตีเส้นขอบเขตการตั้งวางแผงค้าให้ชัดเจน ไม่ให้มีการตั้งวางเกินจุดที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวก รวมถึงพิจารณาปรับเปลี่ยนร่มหรือผ้าใบคลุมแผงค้าให้เป็นรูปแบบลักษณะเดียวกัน

สำรวจพื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกสาทร ถนนราชพฤกษ์ พื้นที่ 1 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ลักลอบนำขยะและสิ่งของเหลือใช้มาทิ้ง และนำรถยนต์มาจอดทิ้งไว้ อีกทั้งมีบุคคลจรจัดแอบเข้ามาพักอาศัย เขตฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บขยะและสิ่งของเหลือใช้ออกจากพื้นที่ กำจัดวัชพืชบริเวณทางระบายน้ำช่วงกลางใต้สะพาน เพื่อดูแนวทางระบายน้ำ และแนวทางเชื่อมต่อกับถนนสวย ถนนราชพฤกษ์ ความยาว 2,300 เมตร ซึ่งเขตฯ จะปลูกต้นไม้เพิ่ม 6 ชนิด ได้แก่ ต้นประดู่บ้าน 5 ต้น ต้นทองอุไร 200 ต้น ต้นไทรเกาหลี 300 ต้น ต้นเฟื่องฟ้า 1,000 ต้น ต้นไทรทอง 3,000 ต้น ต้นชาฮกเกี้ยน 3,000 ต้น โดยจะทำแนวเดิน-วิ่ง ออกกำลังกาย จากใต้สะพานข้ามแยกสาทรไปจนถึงใต้สะพานสถานีรถไฟฟ้าโพธิ์นิมิตร ในเบื้องต้นได้ประสานศูนย์ก่อสร้างและบูรณะ 5 สำนักการโยธา เพื่อนำแผ่นปูทางเท้าที่รื้อย้ายจากทางเท้าถนนรัชดาฯ และต้นไม้บางส่วนจากการล้อมย้ายเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน มาใช้ในการปรับปรุงพื้นที่ จากนั้นจะดำเนินการล้อมรั้วปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำเป็นสวน 15 นาที สวนสาธารณะแห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ออกกำลังกายและพักผ่อน นอกจากนี้ เขตฯ มีสวนสาธารณะเดิม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมรอบลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน พื้นที่ 9 ไร่ 2.สวนป่าเฉลิมพระเกียรติเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา 3.สวนหย่อมใต้สะพานพระราม 3 (ริมน้ำ) พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา 4.สวนสาธารณะและลานกีฬาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบรอบ 84 พรรษา พื้นที่ 13 ไร่ 5. สวนหย่อมอนุทินสวัสดิ์ พื้นที่ 1 งาน 50 ตารางวา 6.สวนหย่อมเฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหามหาราชินีสำนักงานเขตธนบุรี 2544 พื้นที่ 3 งาน
ติดตามมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 บริเวณสถานที่ก่อสร้างโครงการ ณ รีวา เจริญนคร โดยบริษัท ณวรางค์ แอสเชท จำกัด เป็นโครงการก่อสร้างที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานเขตธนบุรี ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการ/โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง และตรวจวัดควันดำสถานที่ต้นทาง ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัย การติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารป้องกันฝุ่น การล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ การพ่นฝอยละอองน้ำบริเวณโดยรอบและประตูทางเข้า-ออก เพื่อดักจับฝุ่นละอองและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ รวมถึงการตรวจวัดควันดำรถยนต์ในไซต์งานก่อสร้าง โดยเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตธนบุรี เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการของกรุงเทพมหานคร โดยนำงานบริการของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต มาให้บริการรวมกันที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการและติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเขตฯ เปิดให้บริการ 6 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายรายได้ ฝ่ายคลัง ฝ่ายโยธา ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม โดยแจ้งประเภทงานที่มารับบริการตรงจุดประชาสัมพันธ์ รับบัตรคิวจากตู้ BMA Q รอเรียกเข้ารับบริการตามประเภทงานของฝ่าย หรือนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Application BMA Q ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ พร้อมทั้งสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน จำนวนประชาชนที่มารับบริการ ระยะเวลาให้บริการในแต่ฝ่าย การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย ตลอดจนหาแนวทางลดขั้นตอนในการทำงาน เพื่อให้งานบริการประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ว่าที่ร้อยตรีเดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตธนบุรี สำนักสิ่งแวดล้อม ประชาชนในชุมชนกุฎีจีน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad