พม. เตรียมนำเด็กทั้งหมดออกจากสถานสงเคราะห์ฯจ.สมุทรสงคราม เข้าคุ้มครองฯ พร้อมแผนช่วยรายบุคคล - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

พม. เตรียมนำเด็กทั้งหมดออกจากสถานสงเคราะห์ฯจ.สมุทรสงคราม เข้าคุ้มครองฯ พร้อมแผนช่วยรายบุคคล


เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 65 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทีมบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรสงครามและใกล้เคียง ได้นำเด็กรวม 29 คน ออกจากสถานสงเคราะห์เอกชนที่ถูกร้องเรียนมาอยู่ในความคุ้มครองสวัสดิภาพตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 แล้ว และเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 65 คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสมุทรสงครามได้มีมติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในการสงเคราะห์เด็กและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เข้าไปคุ้มครองเด็กที่เหลืออีก 20 กว่าคนในสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนดังกล่าว ส่วนเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งทราบว่าใบอนุญาตของสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนดังกล่าว จะหมดอายุในเดือนมกราคม 2566 ส่วนการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตต้องดำเนินการตามเงื่อนไข โดยคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานระดับพื้นที่จะทำการตรวจสอบประเมินก่อนเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาต่อไป

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า วันนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จะเข้าไปดำเนินการต่อ โดยจะเข้าไปพูดคุยกับเด็กและตั้งข้อสังเกตว่าเด็กยังมีความเสี่ยงอยู่หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาทำความเข้าใจทั้งกับเด็ก พี่เลี้ยงผู้ดูแล และใช้วิธีมิติสังคมร่วมกับ จิตวิทยา ไม่ได้จู่โจมหรือทำให้เด็กหวาดวิตก และขอยืนยันในการทำงานว่าเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ หลังจากที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยง จะเป็นอำนาจหน้าที่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ต้องเข้าไปคุ้มครองนำเด็กออกมาอยู่ในสถานที่ปลอดภัยทันที ส่วนกรณีพ่อแม่ผู้ปกครองบางคนกังวลไม่รู้ว่าบุตรหลานถูกนำตัวไปอยู่สถานที่ไหนนั้น เราอยู่ระหว่างประสานทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองและต้องดูแลเป็นรายบุคคล บางส่วนอาจจะยังไม่รู้ เพราะเราทำงานในชั้นความลับ ซึ่งต้องทำในมิติหลังบ้านประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นไปได้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะยังไม่ทราบ แต่รัฐรับประกันในบทบาทของพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ที่เข้าไปคุ้มครอง ซึ่งเราต้องรับผิดชอบ

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้จัดเตรียมสถานที่ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา รวมถึงพยาบาลเพื่อให้การดูแลเด็กและเยาวชนที่จะนำมาให้กระทรวง พม. ดูแล ซึ่งได้มีการประเมินเบื้องต้นเพื่อให้การดูแลสอดคล้องกับช่วงอายุ ความผูกพันของเด็ก และความสัมพันธ์ทางสังคม โดยพบว่า เด็กบางรายมีภาวะความเครียด วิตกกังวล และมีพัฒนาการไม่เหมาะสมตามวัย ซึ่งจะต้องมีการสืบเสาะพินิจเพื่อนำมาประเมินสภาวะเด็กและครอบครัว วินิจฉัยเพื่อกำหนดแผนการช่วยเหลือและพัฒนาเด็กรายบุคคล (IDP) ในระยะสั้นและระยะยาว โดยเด็กทุกคนจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ประสานกับทีมสหวิชาชีพ รวมถึงวางแผนช่วยเหลือเด็กร่วมกับครอบครัว หากเด็กไม่มีครอบครัวจะใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ในการวางแผนช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมรอบด้าน และเร่งฟื้นฟูสภาพจิตใจต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น