“ชัชชาติ”ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ช่วงหยุดยาว พร้อมติดตามสถานการณ์โควิดและโรคมือเท้าปาก แนะให้นำบทเรียนจากโควิดครั้งก่อน..99 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

“ชัชชาติ”ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ช่วงหยุดยาว พร้อมติดตามสถานการณ์โควิดและโรคมือเท้าปาก แนะให้นำบทเรียนจากโควิดครั้งก่อน..99

 



เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 65 เวลา 10.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมให้กำลังบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในช่วงวันหยุดยาว พร้อมติดตามสถานการณ์โควิด-19 และโรคมือเท้าปาก โดยมี นพ.ภูริทัต แสงพานิชกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลให้การต้อนรับและให้ข้อมูล ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ เขตบางแค

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า วันนี้เป็นวันหยุดราชการ แต่จริง ๆ แล้วมีอีกหลายหน่วยงานที่ไม่ได้หยุด เพราะว่าไม่สามารถจะรอได้ เช่น เรื่องขยะ เรื่องกวาดถนน และเรื่องสาธารณสุข ซึ่งหยุดไม่ได้อยู่แล้ว วันนี้ได้มาที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแนวหน้า จริง ๆ แล้วโรงพยาบาล กทม. มีทั้งหมด 11 โรงพยาบาล มีเปอร์เซ็นต์เตียงแค่ 11% ของทั้งหมด เรายังมีทั้งสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหาร-ตำรวจ ฉะนั้นในส่วนโรงพยาบาลของ กทม. ไม่ได้มีเยอะ แต่กทม.จะเน้นปฐมภูมิ คือศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ที่กระจายอยู่ตามชุมชน โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ก็เป็นโรงพยาบาลหลักที่ช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19

นพ.ภูริทัต ได้รายงานข้อมูลว่า สถิติปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อในกทม. ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา RT-PCR ประมาณวันละ 2,000-3,000 คน กลุ่ม ATK วันละประมาณ 5,000-6,000 คน โดยผู้ติดเชื้อสามารถรับยาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่น และโรงพยาบาล แต่ในวันหยุดหรือนอกเวลาราชการ โรงพยาบาลจะมีบุคลากรมากกว่า

สำหรับผู้ที่ตรวจ ATK แล้วพบว่าขึ้น 2 ขีด สามารถขอรับยาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่น หรือโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ์ได้เลย เหตุที่ต้องดูตามสิทธิ์เพราะว่าแต่ละที่จะได้ดูแลผู้ป่วยได้ทั่วถึง สำหรับ รพ.ราชพิพัฒน์ สิทธิ์บัตรทองสามารถรับบริการได้ กลุ่มที่ทำ ATK มาแล้วเป็นบวกให้นำผลมายื่น เจ้าหน้าที่จะอธิบายข้อมูลเพื่อเข้าขั้นตอนการรับยา ส่วนกลุ่มที่ไม่มั่นใจหรือตรวจด้วยตัวเองไม่เป็น สามารถมาขอตรวจ ATK ได้เช่นกัน

สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 ถ้ามีผลบวกมา จะมีพยาบาลคัดกรอง ถ้ามีอาการมาก แพทย์ประเมินแล้วจะให้นอนโรงพยาบาล โดยแบ่งเตียงเขียว เตียงเหลือง เตียงแดง ตามอาการ ปัจจุบันมีเตียงเหลือง-แดง 1,200 เตียง เตียงเขียว ประมาณ 300 เตียง และขยายเป็น 500 เตียง ตอนนี้ครองเตียงไม่ถึง 50% แต่ก็ไม่ประมาท ปัจจุบันก็ติดกันคล้าย ๆ โรคหวัด แต่ก็ต้องระวังตัว โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และควรแยกกักตัวจากคนในบ้าน กลุ่มสีเขียว รักษาตามอาการ ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการมากขึ้น จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อโควิดยังให้รักษาอาการ 10 วันและสามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการรักษา

จากคาดการณ์สถิติที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ได้ประสานกับกทม. เตรียมจัดยาไว้พร้อม ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์จะสต็อกยาล่วงหน้าไว้ประมาณ 10 วัน บริการผู้ป่วยนอกได้วันละ 300-400 คน สำหรับการเดินทางมาก็จะต้องป้องกันทั้งตนเองและผู้อื่น และเมื่อกลับบ้านไปก็ต้องแยกกับคนในบ้าน ระวังการติดกลุ่มเสี่ยง 608 รวมถึงกลุ่มเด็ก สำหรับการป้องกันนั้น เราสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้ารู้ตัวว่าไปใกล้ชิดสัมผัสกลุ่มเสี่ยง กลับบ้านมาก็ควรใส่หน้ากากอนามัยด้วย แม้ตรวจ ATK ไม่พบ ก็อาจจะแพร่เชื้อได้ สำหรับ Hospitel ตอนนี้ยังปิด เพราะว่ากลุ่มสีเขียวสามารถดูแลตัวเองได้ค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าใครไม่สะดวกก็มีโรงพยาบาลสนามให้ ถ้าใครติดเชื้อตอนนี้ก็อย่าไปตกใจแต่ต้องตระหนักว่าเราสามารถแพร่เชื้อให้กลุ่มเปราะบางได้ อย่าลืมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมชมศูนย์วิทยุและหน่วยกู้ชีพ และคลินิกประกันสังคม พร้อมชูโมเดล Sandbox มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข การจัดบริการปฐมภูมิ การส่งต่อ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลด้านบริการ การส่งต่อและการดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบในพื้นที่พิเศษเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ คือ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน และเขตภาษีเจริญ (Sandbox area base) ให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงง่าย ทั่วถึง และครอบคลุมอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษา ฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและลดภาระของโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ได้ ประชาชนในทุกชุมชนจะได้รับการรักษาที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน ส่งผลให้สุขภาพชุมชนดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของระบบนี้ คือเน้นความเข้มแข็งของระบบปฐมภูมิ ทำให้ระบบเส้นเลือดฝอยกระจายไปทั่วและประชาชนสามารถเข้าถึงการสาธารณสุขได้ง่าย ซึ่งระบบปฐมภูมิจะมีความเข้มแข็งยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่นมี telemedicine คือ การให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video conference เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ซึ่งในภาษาไทยจะเรียกว่า โทรเวชกรรม หรือระบบแพทย์ทางไกล คนไข้ไม่ต้องเดินทางจากคลินิกอบอุ่นไปโรงพยาบาล สามารถคุยกันผ่าน telemedicine ได้ ซึ่งเริ่มทำแล้วตอนนี้ นอกจากนี้ยังมีรถ telemedicine สำหรับตรวจสุขภาพ เข้าไปยังชุมชนที่อาจจะเข้าถึงยาก หรือมีผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมากที่เดินทางลำบาก

“หน้าที่ผมคือเตรียมทรัพยากรให้คุณหมอ ขาดเหลืออะไรก็ต้องบอกเลย เราก็อุ่นใจที่มีทีมงานเข้าใจระบบ และทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขอื่นได้ เป็นแม่งานในการจ่ายยา ต้องคุย ต้องแบ่งงานกัน อย่างวันหยุดหมอก็ไม่ได้หยุดหรอก 5 วัน สิ่งสำคัญคือต้องเราบทเรียนมาพัฒนา อย่าให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนก่อนโควิด ทุกอย่างเป็นบทเรียนราคาแพง ต้องปรับปรุงระบบของ กทม. ให้ดี โรคอุบัติใหม่มันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเราต้องรับมือ และนำมาเป็นบทเรียน” ผู้ว่าชัชชาติฯ กล่าว

ในส่วนของเรื่องวัคซีนเข็มกระตุ้น ของกรุงเทพมหานครสามารถไปฉีดได้ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ซึ่งมีทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา โดยสามารถจองทาง QueQ และ walk in ได้ด้วย หากมีระยะห่างเข็มล่าสุดเกิน 4 เดือนจากเข็มสุดท้ายควรฉีดเข็มกระตุ้น การที่เราฉีดเพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกัน เมื่อเราติดโควิดเราจะได้มีอาการไม่มาก เราจะได้เป็นกลุ่มเขียว ถ้ากลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีแดงมีไม่มากระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจก็จะไปด้วยกันได้หมด สำหรับคนที่ติดโควิดแล้วจะฉีดเข็มกระตุ้นต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเริ่มตก สามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ แต่ผู้เข้ารับการฉีดจะต้องมีการเซ็นยินยอม เนื่องจากแต่ละที่จะมีคำแนะนำไม่เหมือนกัน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีโรคมือเท้าปากว่า นอกจากโควิด-19 แล้ว ตอนนี้ เราเริ่มเห็นจำนวนการติดเชื้อโรคมือเท้าปากในเด็กเพิ่มขึ้น ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กเล็กจะติดเยอะ ต้องระวังแต่อย่าตระหนก ยังไม่ได้แพร่ระบาดรุนแรงมาก

นพ.ภูริทัต กล่าวเสริมว่า สำหรับโรคมือเท้าปาก คือการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง คือเอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) เด็กจะมีอาการไข้ ตุ่มที่ปาก แผลที่ปาก ที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม มีตุ่มใส ๆ ที่มือ อาการคล้ายเป็นไข้หวัด เจ็บคอ น้ำมูกได้เล็กน้อย ปัจจุบันเน้นการป้องกันและคัดกรองทั้งผู้ปกครองและโรงเรียนซึ่งได้มีมาตรการการคัดกรองอยู่แล้ว หารใครเป็นต้องหยุดเรียนและเข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อป้องกันการติดต่อไปสู่คนอื่น ส่วนการป้องกันโรคมือเท้าปากนั้นต้องรักษาสุขอนามัย กินร้อนช้อนกลาง และล้างมือ ป้องกันการติดต่อทางสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ซึ่งการติดต่อของโรคมือเท้าปากยากกว่าโควิด-19 สามารถป้องกันและสังเกตอาการได้ง่าย สามารถรักษาได้ มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคน้อย ซึ่งการเสียชีวิตจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อน โดยภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายทำให้เสียชีวิตได้ คือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ผู้ปกครองต้องดูแล คือ เมื่อมีไข้สูงให้เช็ดตัวป้องกันการชัก ถ้ามีอาการไอร่วมด้วยให้เข้าตรวจที่โรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลราชพิพัฒน์พบผู้ป่วยประมาณ 3-5 คน จากเด็กที่เข้าตรวจทั่วไปประมาณ 50 คน

กรณีเกี่ยวกับผู้ป่วยจากกัญชา ที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ยังไม่พบ แต่โรงพยาบาลได้มีคลินิกแพทย์ทางเลือก มีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลุ่มอาการปวดแต่เดิมใช้มอร์ฟีน ถ้าเกิดนำกัญชามาใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์กับกลุ่มที่เหมาะสมก็จะเป็นประโยชน์ ถือเป็นทางเลือกที่ดี ส่วนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ให้มีการใช้กัญชาโดยเด็ดขาด

จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจความพร้อมของห้องความดันลบ (Modular ICU) สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรง (สีแดง) ณ ชั้น 1 โรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 1 (ศูนย์การเรียนรู้ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์) ซึ่งมีทั้งหมด 4 อาคาร รองรับผู้ป่วยได้โควิดได้ทั้งหมด 40 เตียง พร้อมทั้งขอบคุณและให้กำลังบุคลากรทางการแพทย์อย่างเป็นกันเองอีกด้วย (ขอบคุณเพจ prbangkok.com)






















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น