ตรวจจุดติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศฝุ่นละออง PM2.5 แบบเสาเหล็กและรถ Mobile - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ตรวจจุดติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศฝุ่นละออง PM2.5 แบบเสาเหล็กและรถ Mobile

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 65 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจจุดติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) บริเวณทางเข้าสนามหลวง 2 ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา และบริเวณวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางกอกใหญ่ โดยมี นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั้ง 50 เขต และ 20 สวนสาธารณะ รวมทั้งหมด 79 สถานี ทั้งแบบเสาเหล็ก 46 จุด เครื่องตรวจวัด PM2.5 ในสวนสาธารณะ 20 แห่ง และบริเวณอื่น ๆ 4 แห่ง นอกจากนี้ยังมีรถตรวจวัดคุณภาพอากาศและเสียง 1 คัน รถตรวจวัดคุณภาพอากาศ 4 คัน (Mobile) และแบบตู้คอนเทนเนอร์ 4 สถานี โดยเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศกับสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ 12 สถานี ในปี 2565 บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอากาศด้วยระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัด PM10 PM2.5 PM1 และอุตุนิยมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 452 จุด แบ่งเป็นหน่วยงานกรุงเทพมหานคร 170 จุด เช่น โรงเรียน สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศพระโขนงและราชเทวี และหน่วยงานอื่น ๆ 282 จุด และมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน RGuard จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สถิติการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2563-2565 บริเวณทางเข้าสนามหลวง 2 ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา ปี 2563 ค่าสูงสุด 99 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 45 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 21 วัน ปี 2564 ค่าสูงสุด 104 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 51 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 34 วัน ปี 2565 ค่าสูงสุด 76 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 42 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 12 วัน (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) เมื่อเปรียบเทียบข้อมูล ปี 2564 กับปี 2565 ค่าสูงสุดลดลง 27% ค่าเฉลี่ยลดลง 18% จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานลดลง 65% (ข้อมูลถึงวันที่ 28 ก.ค. 65)

* ขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหา PM2.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผลการศึกษาสัดส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบว่า 1. การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากภาคการขนส่งทางถนน 51% 2. โรงงานอุตสาหกรรม 21% 3. ครัวเรือน 10% 4. ภาคขนส่งอื่น ๆ 9.5% 5. การเผาในที่โล่ง 6% 6. เกษตรกรรม 1% 7. ภาคพลังงาน 1% และ 8.การจัดการขยะ 0.5% ส่วนการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหา PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร มี 16 แผนปฏิบัติการ ดังนี้ 1. วิจัยหาต้นเหตุ 2. นักสืบฝุ่น (สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) 3. การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น 4. การตรวจโรงงาน 5. การใช้ CCTV ตรวจจับรถปล่อยควันดำ 6. กลุ่มพัฒนาโครงการ/ผู้ประกอบการ 7. การแจ้งเตือนป้องกันฝุ่น PM2.5 8. Traffy Fondue 9. กิจกรรมสำนักงานเขตดำเนินการ 10. Open Data 11. การตรวจวัดรถควันดำ 12. รถราชการพลังงานไฟฟ้า 13. การตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง/แพลนท์ปูน 14. การตรวจวัดควันดำรถราชการ 15. การขยายระบบ 1,000 จุด และ16. BKK Clean Air Area โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา สำนักการคลัง สำนักการแพทย์ และสำนักงานเขต 50 เขต โดยให้หน่วยงานดังกล่าวรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักสิ่งแวดล้อมทราบทุกวันที่ 10 ของเดือน

* แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชน พร้อมคำแนะนำป้องกันผ่านช่องทางต่าง ๆ

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ พร้อมรายงานข้อมูลและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ประกอบด้วย เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com www.prbangkok.com เฟซบุ๊ก: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ แอปพลิเคชัน AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และจอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ โดยศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร จะรายงานค่าฝุ่นละออง PM2.5 ทุกวัน ในเวลา 07.00 น. เพื่อแจ้งเตือนแก่ประชาชนในการดูแลระวังสุขภาพและป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ พร้อมทั้งให้คำแนะนำกับประชาชนในการเฝ้าระวังสุขภาพและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
(จิรัฐคม...สปส.รายงาน)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น