สธ.เผยพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายที่ 2 เป็นชายไทย เร่งสอบสวนโรคหาผู้สัมผัสใกล้ชิด - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สธ.เผยพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายที่ 2 เป็นชายไทย เร่งสอบสวนโรคหาผู้สัมผัสใกล้ชิด

กระทรวงสาธารณสุข เผย พบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายที่ 2 ของประเทศไทย เป็นชายไทย อายุ 47 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล มีอาการตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ แขนขา ลำตัว ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ อาการไม่รุนแรง อยู่ในการดูแลของแพทย์แล้ว สอบสวนโรคไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติม ส่วนผู้สัมผัสร่วมบ้านมี 10 คน เก็บตัวอย่างส่งตรวจอยู่

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคได้รับรายงานผู้ป่วยต้องสงสัยโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) จากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัย กทม. ลงพื้นที่สอบสวนโรคและเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่า ผู้ป่วยดังกล่าวเป็นชายไทยอายุ 47 ปี ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ วันที่ 14 กรกฎาคม เริ่มมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว 1 สัปดาห์ ก่อนมาโรงพยาบาลมีตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ ซื้อยามาทาเอง ต่อมามีตุ่มหนองขึ้นตามแขนขา ใบหน้า ศีรษะ ในวันที่ 27 กรกฎาคม จึงไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลด้วยอาการอวัยวะเพศบวม เจ็บ แสบ

“ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการไม่รุนแรงและอยู่ในการดูแลของแพทย์ในห้องแยก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ขณะนี้ได้เร่งค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยผู้ป่วยให้ข้อมูลว่ามีครอบครัวอยู่รวมกัน 10 คน หลังจากมีผื่นตุ่มได้แยกตัวจากคนอื่นในบ้าน ซึ่งขณะนี้ได้ติดตามเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ถือว่ามีความเสี่ยงระดับสูงมากที่จะเป็นฝีดาษวานร เนื่องจากมีอาการเข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร รวมทั้งลักษณะการดำเนินโรค ผื่น ตุ่มหนอง คล้ายกับลักษณะของโรคฝีดาษวานร โดยล่าสุด ห้องแล็บกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC) เพิ่งรายงานผลว่า เป็นเชื้อฝีดาษวานร (Monkeypox) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากผลการสอบสวนโรค อาการทางคลินิก และผลตรวจทางห้องแล็บ สรุปได้ว่าเป็นผู้ป่วยฝีดาษวานรรายที่ 2 ของประเทศไทย 

ทั้งนี้ ได้มีการเฝ้าระวังโดยขอให้โรงพยาบาลส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อพบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ และขอให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการสงสัยเข้าได้กับโรคฝีดาษวานรเข้ารับการรักษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น