พท.จี้ปปช.-สตง.เร่งสอบพิรุธจัดซื้อ UAV ไร้อาวุธ หลังฝ่ายค้านซักฟอก ผิดทีโออาร์ชัด - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

พท.จี้ปปช.-สตง.เร่งสอบพิรุธจัดซื้อ UAV ไร้อาวุธ หลังฝ่ายค้านซักฟอก ผิดทีโออาร์ชัด

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.เพื่อไทย เปิดเผยถึงเรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณจัดซื่อ UAV หรืออากาศยานไร้คนขับ ของกองทัพเรือที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามที่ให้ไว้กับกมธ.งบประมาณ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณปี 2564 ที่กองทัพเรือมาชี้แจงของบประมาณจากกมธ.งบประมาณ เพื่อขอจัดซื้อ UAV จำนวน 3 ลำ ในภารกิจลาดตระเวนชายฝั่ง ซึ่งกมธ.ได้อนุมัติงบประมาณไป แต่หลังจากนั้นกลับพบว่าเป็นการจัดซื้อ UAV จำนวน 7 ลำ และไม่มีอาวุธ ซึงไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ให้ไว้

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าว นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และกมธ.งบประมาณ ได้นำเรื่องไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชี้ให้เห็นถึงพิรุธ และข้อบกพร่องของการจัดซื้อดังกล่าวเรียบร้อย ซึ่งตามแนวทาง การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการนำข้อมูลนำเสนอต่อสภา หน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นป.ป.ช. สตง. หรือกองทัพ ก็ต้องนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ไม่เพียงแค่นั้นหลังการอภิปรายฝ่ายค้านเองก็ต้องสรุปประเด็นเพื่อยื่นหน่วยงานต่างๆอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งหวังว่าจะเห็นการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสในทุกเรื่องที่เราตั้งคำถาม รวมถึงเรื่องการจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับนี้ด้วย ไม่เพียงแค่นั้นยังจะต้องดำเนินการตรวจสอบในการทำงานของกมธ.ปปช.ที่ตนเป็นกมธ.อยู่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นายยุทธพงศ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรมว.กลาโหม ถึงปมการจัดซื้ออาวุธของกองทัพว่ามีความไม่โปร่งใส ทั้งในเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ไม่มีเครื่องยนต์จากประเทศจีน และกรณีการจัดซื้อ UAV หรืออากาศยานไร้คนขับ ของกองทัพเรือมูลค่า 4.1 พันล้านบาท

โดยนายยุทธพงศ์ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2565 กองทัพเรือของงบจัดซื้อ UAV 3 ลำ มูลค่า 4.1 พันล้านบาท โดยทีโออาร์ที่ขอจากกมธ.งบประมาณ คือซื้ออากาศยานไร้คนขับ พร้อมระบบอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับปฏิบัติภารกิจ และติดตั้งระบบอาวุธ แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะผลการจัดซื้อที่กองทัพเรือเลือกผู้ชนะการเปิดซอง เป็นบริษัท ELBIT มีข้อพิรุธหลายอย่างนายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ประการแรกคือตั้งแต่การยื่นซองประมูล มีบริษัทยื่นซองทั้งหมด 4 ราย พบว่ามีเพียงบริษัท ELBIT เพียงบริษัทเดียว ที่ยื่นเสนอราคา UAV ถึง 7 ลำในมูลค่า 4 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทอื่นๆอีก 3 แห่งเสนอมาที่ 3 ลำตามที่ทีโออาร์กำหนด จึงกลายเป็นคำถามว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่การยื่นซองของเอกชนถึงต่างกันเช่นนี้

ส.ส.มหาสารคาม กล่าวอีกว่า แต่ไม่ใช่ว่าการเสนอราคา 7 ลำ 4 พันล้านบาทจะเป็นเรื่องคุ้มค่า เพราะ UAV ยี่ห้อ Hermes900 ทั้ง 7 ลำ เป็น UAV เปล่า ไม่ได้ติดอาวุธ แล้วจะนำไปรบกับใคร จะไปใช้ในภารกิจลาดตระเวนชายฝั่งตามที่กล่าวอ้างได้อย่างไร จึงแสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือเสนอขอขึ้นมาเพียงเพื่อต้องการใช้งบประมาณเท่านั้น ไมม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ความจำเป็นอะไรเลย

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในเรื่องของประสิทธิภาพ ก็มีปัญหา เพราะ UAV รุ่นดังกล่าว มีข่าวที่น่าเป็นห่วงคือเกิดการตกที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ต่อมาอีกปี คือเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2565 ก็เกิดตกที่ฟิลิปปินส์ เสียหายนับ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงกลายเป็นเรื่องน่ากังวลถึงเรื่องประสิทธิภาพ

“จากเหตุทั้งหมด จึงเป็นข้อกังวลที่ต้องเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรมว.กลาโหม ทบทวนและพิจารณา เพราะทราบว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้เซ็นสัญญา จึงควรเข้าไปตรวจสอบให้ละเอียด นอกจากนี้ยังเป็นงบประมาณที่เกินกว่า 500 ล้านบาท กองทัพต้องขออนุมัติจากกระทรวงกลาโหม จึงต้องทบทวนให้การใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนเกิดความโปร่งใส่มากที่สุด”นายยุทธพงศ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเหตุการณ์ UAV แบบ Hermes 900 จากอิสราเอล ตกที่ฟิลิปปินส์นั้น ทางกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ สั่งตรวจสอบด่วน เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากปัญหาระบบสื่อสารและระบบควบคุม ขณะที่กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ สั่งระงับการปฏิบัติภารกิจของ Hermes 900 ทั้ง 8 ลำทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น