มหาดไทยคัดเลือกสุดยอด “18 ทีมอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุขฯ” - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

มหาดไทยคัดเลือกสุดยอด “18 ทีมอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุขฯ”

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องในวาระครบ 130 ปีแห่งการสถาปนากระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็น 130 ปีที่คนมหาดไทยได้ร่วมกันสืบสานและถ่ายทอดจิตวิญญาณแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จิตวิญญาณแห่งการอุทิศตนของคนมหาดไทยโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ท่านนายอำเภอ” ที่อยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่างมีความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็น “นายกรัฐมนตรีที่ดีของอำเภอ” ด้วยใจ ด้วยแรงปรารถนา (Passion) ที่อยากขับเคลื่อนงานด้วยกลวิธี รูปแบบการทำงาน และทีมงานที่ดี

โดยกระทรวงมหาดไทย ได้เฟ้นหานายอำเภอและทีมงานของอำเภอจากทุกจังหวัด ๆ ละ 10 คน เข้ารับการฝึกอบรม “โครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข บูรณาการสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย” โดยภาคเหนือ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ภาคกลาง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 และภาคใต้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ซึ่งในการฝึกอบรมในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีแสดงออกทางความคิดของ “ทีมมหาดไทย” ที่เป็นเวทีรวมสุดยอดนักประสาน นักปฏิบัติ นักบูรณาการจาก 7 ภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยในทุกจังหวัด อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิด ร่วมใช้ชีวิต ทำกิจกรรมเพื่อค้นแก่นแท้แห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น มีความทุกข์น้อยลงจนหมดไป อันจะยังผลทำให้ประเทศชาติเกิดความผาสุก และทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภายหลังจากท่านนายอำเภอและทีมอำเภอได้สำเร็จการฝึกอบรม ต่างได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลับไประดมสรรพกำลังทางความคิดในการร่วมกันสะท้อนมุมมองและแนวทางเพื่อแสวงหาการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในพื้นที่อำเภอตามสภาพภูมิสังคม จัดทำข้อเสนอโครงการนำเสนอต่อคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อขับเคลื่อนโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็น “สุดยอด 18 อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยในวันนี้ คณะทำงานเฉพาะกิจฯ อันได้แก่ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนกรม และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการและระดมความคิดเห็นในการประชุมเพื่อเฟ้นหาสุดยอดอำเภอนำร่องฯ 

โดยมุ่งเน้นโครงการที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระดับพื้นที่ที่มาจากข้อมูล TPMAP หรือ ThaiQM เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัย การมีส้วมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการต่อยอดการการขยายผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) และการมีผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนและ การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยมีการดำเนินการครอบคลุมทุกตำยลในอำเภอ และความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสามารถมองเห็นเป้าหมายการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม และประเด็นที่สำคัญอีกประการคือศักยภาพของนายอำเภอในการดึงภาคีเครือข่ายและทีมงานอำเภอ เข้ามาร่วมกันพัฒนาและมีแสดงให้เห็นถึงกลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่เพื่อนำไปสู่การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขได้จริง นอกจากนี้ คณะกรรมการได้และทีมงานได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการดำเนินการต่อไป

“ผลการพิจารณาคัดเลือกอำเภอนำร่องระดับกลุ่มจังหวัด ภายใต้โครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 9 จังหวัด ประกอบด้วย 1) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ “โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพุ่งเป้า” 2) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา “โครงการการบริหารจัดการน้ำและสืบสาน รักษา ต่อยอดตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาแม่ใจอย่างยั่งยืน” 3) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก “โครงการปลุกพลังความคิด ปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนเมืองพิษณุโลกสู่ความยั่งยืน (SDGs) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน” 4) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร “โครงการแก้จนคนตะพานหินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลัง บวร” 

5) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้แก่ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี “โครงการการส่งเสริมอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิต คนโนนสะอาด ตามศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน” 6) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ได้แก่ อ.ปลาปาก จ.นครพนม “โครงการรักษ์ปลาปาก จากโคกหนองนา สู่เขตเศรษฐกิจพอเพียง” 7) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ได้แก่ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น “โครงการลำห้วยพระคือ สายน้ำแห่งชีวิต ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน” 8) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ “โครงการรักษ์น้ำ(ใจ) สู่ทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เพื่อพลิกชีวิตและความหวัง” 9) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ “โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 10) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ได้แก่ อ.หันคา จ.ชัยนาท "โครงการทำมันให้มีรอยยิ้ม" 11) กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ได้แก่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี "โครงการ Care คลอง Care คุณ" 12) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ได้แก่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี "โครงการขันโรงเปลี่ยนคน น้ำสร้างชีวิต" 

13) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ได้แก่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี "โครงการหนองหญ้าปล้องพร้อมใจสร้าง 710 ฝ่ายมีชีวิตพิชิตภัยธรรมชาติ" 14) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา "โครงการการบริหารจัดการน้ำคลองท่าลาดด้วยศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต" 15) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 อ.แหลมงอบ จ.ตราด "โครงการเพิ่มศักยภาพและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก" 16) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย อ.เทพา จ.สงขลา"โครงการดาหลาบารูสู่ความเพียร" 17) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน อ.มะนัง จ.สตูล "โครงการน้ำเปลี่ยนชีวิต สร้างเศรษฐกิจ มะนังมั่นคง" และ 18) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน อ.เมืองยะลา จ.ยะลา "โครงการจาโปตาแง แก้จน คนเมืองยะลา"” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั้ง “18 ทีมอำเภอ” จะได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำข้อเสนอโครงการของแต่ละพื้นที่มาถก มาแลกเปลี่ยน มาช่วยกันเสริมเติมเต็มให้เกิดความสมบูรณ์ โดยทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำให้ข้อเสนอไปสู่การ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชน จะได้รับการส่งเสริม สนับสนุน ให้สามารถขับเคลื่อนได้จริง เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดกับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายต้นแบบทั้ง 18 “ทีมมหาดไทย” จะได้ร่วมกันทำสิ่งที่ฝัน ทำสิ่งที่คิด ให้กลายเป็นรูปธรรมที่แท้จริง

“ทุกอำเภอทั้งที่ผ่านการคัดเลือกและไม่ได้รับคัดเลือก ขอให้ท่านนายอำเภอทุกคนได้มุ่งมั่น ทุ่มเทในการสร้างทีมภาคีเครือข่าย นำ Passion มาขับเคลื่อนงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ให้เต็มที่ เพื่อร่วมกัน Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดี ด้วยอุดมการณ์แห่งการเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม อุดมการณ์แห่งการเป็นข้าราชการและพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น