นายกฯ ชี้แจงแก้ไขปัญหาทุกด้าน ชำระหนี้มากที่สุด แก้หนี้ให้ประชาชน ลดหนี้ครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำ คนเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐได้มากขึ้น..00 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

นายกฯ ชี้แจงแก้ไขปัญหาทุกด้าน ชำระหนี้มากที่สุด แก้หนี้ให้ประชาชน ลดหนี้ครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำ คนเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐได้มากขึ้น..00


นายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงด้านการต่างประเทศไทย โครงการรถไฟไทยจีน กรณีเหมืองอัครา และ long stay visa ด้วย 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 เวลา 19.20 น. ณ ห้องประชุมพระสุริยัน ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยได้ชี้แจง ดังนี้

กรณีหนี้สาธารณะในช่วงระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกู้เงินมามากที่สุดนั้น ชี้แจงว่ารัฐบาลได้มีการกู้เงินในช่วงปี 2557 – 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการลงทุนของภาครัฐมากที่สุดกว่า 179 โครงการ มีมูลค่าร่วมทั้งสิ้น 2.66 ล้านล้านบาท (เป็นเงินกู้ 2.07 ล้านบาท) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 หรือปี 2556 โดยมีสถิติที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว ทั้งนี้ เงินกู้ดังกล่าวเป็นการกู้เพื่อมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทั้งคมนาคม ประปา ที่อยู่อาศัย พลังงาน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว รวมทั้งสิ้น 75 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 104 โครงการ ซึ่งล้วนเป็นแผนงานที่รัฐบาลร่างไว้เพื่อการพัฒนาในอนาคต เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง โดยทุกอย่างดำเนินการระยะเวลา ตามงบประมาณที่มีอยู่ มีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่มีแผนงานที่ซ้ำซ้อนกัน

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร มีความคืบหน้าแล้ว 92% และพร้อมจะเปิดให้บริการบางช่วงแล้วในปลายปี 2565 รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน คาดว่าจะสามารถใช้บริการในเฟส 1 ได้ในปลายปี 2569 ซึ่งรถไฟมีประเภทที่แตกต่างกัน ทั้งรูปแบบ ระยะทาง และความเร็ว จึงไม่อยากให้นำมาเปรียบเทียบให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการบ้านเอื้ออาทรระยะที่ 5 โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 โดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตยาได้ในปี 2565

นอกจาก 8 ปีที่รัฐบาลกู้เงินมาลงทุนมากที่สุดแล้ว ยังเป็น 8 ปีที่มีการชำระหนี้ในอดีตมากที่สุด นับตั้งแต่ช่วงปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ภาครัฐได้มีการชำระหนี้สาธารณะไปแล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมทั้งต้น เงินกู้ และดอกเบี้ย ถือเป็นยอดชำระหนี้ที่สูงที่สุดมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งในจำนวนนี้ได้รวมถึงหนี้ที่เกิดความเสียหายในกรณีก่อนหน้านั้นด้วยผ่านการชดเชยชดใช้ต่าง ๆ

กรณีข้อห่วงกังวลว่ารัฐบาลจะนำเงินที่ไหนมาชำระหนี้นั้น ยืนยันว่ารัฐบาลมีศักยภาพในการชำระหนี้และยังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แม้แต่ครั้งเดียว สถานะทางการคลังของประเทศยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งมีหลายสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้การยอมรับประเทศไทย เช่น Fitch S&P ที่ยังไม่เคยลดอันดับของประเทศไทย

กรณีหนี้ครัวเรือน ต้องแจกแจงตามประเภทของหนี้ด้วย โดยสัดส่วนหนี้ครัวต่อ GDP ในภาพรวม มีการปรับตัวลดลงที่ 89.2 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งได้มีมาตรการภาครัฐต่าง ๆ มากมายเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย หนี้กลุ่มเปราะบาง โดยดำเนินการต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้ครอบคลุมทุกเป้าหมาย

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวฝากขอให้ ส.ส. ทุกคนให้ช่วยให้ข้อมูลการเข้าถึงช่องทางการบริการของภาครัฐแก่ประชาชนด้วย โดยในส่วนการแก้ไข พรบ. กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ถือว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งที่รัฐบาลเสนอขึ้นไป นอกจากจะเพื่อปฏิรูปโครงสร้างสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ที่เดือดร้อนแล้ว ยังเป็นกฎหมายที่สร้างความเป้นธรรมให้แก่ผู้กู้และผู้ค้ำประกันมากขึ้นด้วย ประเด็นสำคัญคือการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดให้เหมาะสม ปรับปรุงงวดการชำระหนี้จากงวดปีเป็นงวดเดือน ขยายระยะเวลาผ่อนจาก 15 ปีเป็น 30 ปี กำหนดให้เมื่อผู้กู้ชำระหนี้ให้นำไปตัดเงินต้นเป็นอันดับแรกสุด ยกเลิกไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ กยศ. ดำเนินกิจการคล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พรบ.ฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ นายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ กยศ.

ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ จากโควิด-19 คาดการณ์ว่าทำให้คนจนทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น 729 ล้านคน ในปี 2563 และ 736 ล้านคนในปี 2564 หรือมากกว่า 100 ล้านคนในช่วง 2563 และ 2564 เมื่อมีโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก มีสภาพยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความยากจนในปี 2564 นั้นปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า มีจำนวนคนยากจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน เป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 6.2 ลดจากปีก่อนที่มีคนยากจน 4.8 ล้านคน เป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 6.83 แต่คำว่า ยากจน มีการอธิบายยาก แต่จะทำอย่างไรให้คนจนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคือรัฐบาลต้องดำเนินมาตรการเข้าไปช่วย โดยให้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ครอบคลุมถึงร้อยละ 97.83 จากจำนวนคนจนทั้งหมดในปี 2564 โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ประเทศจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อสามารถหาวิธีแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อย่างสมบูรณ์ วันนี้ รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้ารายครัวเรือน ให้สามารถอยู่รอด อย่างเพียงพอ มีการจัดตั้งทีมพี่เลี้ยง โดยศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีคณะทำงาน และทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องดูแลและเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อรับทราบปัญหาและหาทางแก้ไขตาม TP Map ที่ได้กำหนดไว้

ในส่วนของผลการดำเนินงานขจัดความยากจนระดับครัวเรือน ขอย้ำว่าดูแลทั้งหมดทั้ง 77 จังหวัด เพราะฉะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพนักงานในกระทรวงต้องร่วมมือกันในส่วนนี้ ซึ่งนั่นเป็นโมเดลที่เราคิดออกมาและเริ่มดำเนินการแล้ว และคิดว่าต้องทำต่อเนื่อง ขอบคุณทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกัน ใช้และปรับงบประมาณให้ตรงกับความเดือดร้อนของประชาชน

ในด้านการเกษตร รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจฐานรากทุกจังหวัด ถือเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่คลอบคลุม 70,000 กว่าหมู่บ้าน 7,000 ตำบล 878 อำเภอ รวมกรุงเทพฯ โดยเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน หนี้สิน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้มาเรื่อย ๆ สร้างกลไกการทำงาน ความร่วมมือในทุกระดับ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ขอเพียงความร่วมมือและความเข้าใจ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว รักษาเกียรติภูมิศักดิ์ศรีคนไทยมาเสมอ ใช้นโยบายการทูตเชิงรุก ด้วยความสมดุลให้ทุกฝ่ายยอมรับไทย โดยสรุปนายกรัฐมนตรีเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ 75 ครั้ง ให้การต้อนรับผู้นำต่างประเทศเยือนประเทศไทย 29 ครั้ง การเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศผ่านระบบการประชุมทางไกล 13 การประชุม มีโอกาสได้พบผู้นำประเทศทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์ของไทยในการแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ในประเด็นหลัก ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน SEP for SDGs โมเดลเศรษฐกิจ BCG การลดโลกร้อน การฟื้นฟูยุค Next Normal เป็นต้น พร้อมเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ชวนทุกชาติให้เข้ามาลงทุน เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ขยายผลการปฏิบัติต่าง ๆ ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบาย Thailand+1 หรือ +2 +3 นายกรัฐมนตรีได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุมระหว่างประเทศในหลายโอกาส นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีโอกาสแลกเปลี่ยนการเยือน การประชุมร่วมกันกับประมุขรัฐและผู้นำรัฐบาล 120 ครั้ง ผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ 44 ครั้ง ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลต่างประเทศ 129 ครั้ง ผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนต่างประเทศ 118 คณะ ในการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย เมื่อปี 2559 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสถานการณ์ในประวัติศาสตร์ คือ นายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ และพบหารือกับนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย นำไปสู่การเข้าเฝ้าฯ พัฒนาความสัมพันธ์กับมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2562 และสามารถทำสำเร็จ กลับมามีความสัมพันธ์กันตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 ซึ่งมีความร่วมมือทั้งภาครัฐกับภาคเอกชน การเปิดการท่องเที่ยว การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร พลังงาน แรงงาน เป็นต้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นผู้ดำเนินการลงทุนในโครงการ 100% สิทธิประโยชน์ต้องเป็นของประเทศไทยตลอดเส้นทาง แต่ก็มีปัญหาพอสมควรเพราะประเทศจีนไม่ได้ดำเนินการแบบนี้กับประเทศไหน แต่ยอมให้ไทยทำ ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับของประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่า รถไฟของประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างประเทศนั้นๆ กับจีน โดยประเทศนั้นลงทุนร้อยละ 30 จีนลงทุนร้อยละ 70 รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมีต้นทุนกิโลเมตรละ 358 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่ารถไฟสายที่ว่าซึ่งเป็นทางเดี่ยวและมีต้นทุนกิโลเมตรละ 480 ล้านบาท ซึ่งเปรียบเทียบแล้ว ไทยมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เป็นทางคู่ และมีความเร็วที่ต่างกัน โดยมีเป้าหมายหลักที่จะเชื่อมต่อไปยัง One belt one road และไปถึงยุโรปตะวันออกเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางของประเทศนั้น ไทยลงทุนเอง เพราะเราจะได้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศเองได้ มีอิสระในการกำหนดแผนการเดินรถ ไม่เสียสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ข้างทางรางรถไฟ บริหารจัดการได้เอง เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมทางรางอีกด้วย

กรณีเหมืองแร่อัครา กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะมีกระบวนการที่แตกต่างจากศาลอื่น ๆ ซึ่งมีการแนะนำให้มีการเจรจากันเพื่อทำความเข้าใจในแต่ละประเด็น โดยอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ จึงขอให้ระมัดระวังอย่างที่สุด ซึ่งในขั้นแรกเป็นเรื่องเฉพาะของกระทรวงนั้น ๆ จึงถูกสั่งให้ระงับเป็นการชั่วคราวก่อนเพื่อให้มีการตรวจสอบให้เรียบร้อย และขอให้ปรับปรุงในส่วนต่าง ๆ ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีคำนึงถึงสุขภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ทุกอย่างทำตามระเบียบ ไม่นำงบประมาณมาใช้ส่วนตัวแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อกรณีดังกล่าวมีการร้องเรียน ก็ต้องดำเนินไปตามขั้นตอน และหากทำได้ตามระเบียบก็สามารถเปิดต่อได้ โดยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของ Long Visa วัตถุประสงค์ก็เพื่อจะให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของประเทศไทย เพื่อผลดีต่อเศรษฐกิจผ่านการลงทุน ท่องเที่ยว การซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ จะต้องเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เป็นผู้มีทักษะสูง เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง และกลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ระยะเวลามาตรการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569 การถือครองที่ดินนั้นเป็นมาตรการเพื่อจูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ แต่ต้องเป็นกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น นำเงินมาลงทุนในธุรกิจไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ถือครองได้ไม่เกิน 1 ไร่ต่อคนเพื่ออยู่อาศัย ส่วนการกังวลถึงการเสียพื้นที่ของไทย นายกรัฐมนตรีคิดว่ามีกฎหมายดูแลอยู่แล้ว แต่ขอยกตัวอย่างว่าถ้า 5 ปีแล้วมีชาวต่างชาติมาตามเงื่อนไขดังกล่าว 1 ล้านคน ภายใน 5 ปี ในที่ดินถือครองไม่เกิน 1 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของประเทศไทยทั้งหมด 320 ล้านไร่ และต้องเป็นพื้นที่ตามมาตรการเท่านั้น จะทำให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศอย่างน้อยในระบบกว่า 1 ล้านล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น