"ประยุทธ์" แจงการเดินทางในตำแหน่งนายกฯ 8 ปี เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน คือความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

"ประยุทธ์" แจงการเดินทางในตำแหน่งนายกฯ 8 ปี เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน คือความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ


นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อวันที่  22 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.20 น. ณ ห้องประชุมพระสุริยัน ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า นอกจากเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตทั้งโควิดและพลังงานที่ได้ชี้แจงไปแล้ว ขอสรุปการเดินทาง 8 ปี แห่งความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่คือความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ โดยสิ่งแรกที่ต้องทำ และรักษาให้ได้ ก็คือ “ความมั่นคง” โดยการรักษาบรรยากาศบ้านเมือง ให้สงบร่มเย็น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการชุมนุมทางการเมือง การรวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การแสดงความเห็นต่าง หรือการเรียกร้องของพี่น้องประชาชน เกษตรกรที่เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น เพียงแต่ต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย หากมีการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง สังคมก็จะไม่ยอมรับ รัฐบาลก็ใช้แนวทางสันติเป็นสากลในการกำกับดูแล ไม่ให้บานปลาย จนนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ คนไทย ด้วยน้ำมือคนไทยด้วยกันเองเป็นอันขาด จากนั้น ปัญหาอะไรที่ว่ายากซับซ้อน ก็เอามาคลี่ แล้วแก้ทุกปม ไม่เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องแก้อย่างยั่งยืน โดยภารกิจที่ท้าทาย คือ

(1) การปลดธงแดง ICAO หรือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ที่ผมถือว่าเป็นภารกิจเร่งด่วน ช่วงปี 2558 / เนื่องจากถูกเตือนมาตั้งแต่ปี 2552 ถึงการละเลย ไม่กำกับดูแล บกพร่องการตรวจสอบสายการบินมาเป็นเวลานาน จากการดำเนินนโยบายน่านฟ้าเสรี (หรือ Open Sky Policy) ของรัฐบาล เมื่อปี 2547 ที่ส่งเสริมการเปิดสายการบินมากถึง 41 สายการบิน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการกำกับดูแล ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้ต่อมาในปี 2558 ICAO ประกาศติด “ธงแดง” เป็นเหตุให้ไม่สามารถเพิ่มเส้นทางบิน และความถี่การบินได้ อีกทั้งสายการบินของไทยที่บินไปต่างประเทศ จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากประเทศปลายทาง เนื่องจากขาดความเชื่อมั่น สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และระบบเศรษฐกิจของไทย ในภาพรวม แม้จะเป็นปัญหาที่ซับซ้อน สะสมมานับ 10 ปี แต่นายกฯ ก็ได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ในการแก้ไขทุกข้อบกพร่อง เช่น การแก้ไขเรื่องโครงสร้างองค์กร กลไก ขั้นตอน กระบวนการกำกับดูแล ตรวจสอบ ออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO อย่างเคร่งครัด ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลา 2 ปีจนผ่านการประเมินโดย ICAO และ “ปลดธงแดง” เมื่อ 6 ตุลาคม 2560 ช่วยให้ไทยได้รับความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานความปลอดภัยและนิรภัยการบิน (Safety and Security) อีกครั้ง สามารถเพิ่มปริมาณเส้นทางบินและความถี่ของเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการบินของไทย และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนนโยบายที่จะผลักดันให้ไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค โดยรัฐบาลได้ต่อยอดลงทุนสนามบินอู่ตะเภาและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เพื่อพัฒนาเมืองการบินในพื้นที่ EEC อีกด้วย

(2) เรื่องค้ามนุษย์ วันนี้อยากให้คนไทยได้ภูมิใจในความสำเร็จที่ทางการสหรัฐฯ ประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้น จาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 2 สะท้อนว่าเราได้มีความพยายามมากขึ้นในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แม้จะยังไม่มากพอตามมาตรฐานขั้นต่ำ ตามกฎหมายสหรัฐฯ แต่ถือว่าดีขึ้นจากปีที่แล้ว ปัญหานี้เป็นสิ่งที่โลกให้ความสนใจ และเป็นปัญหาที่รุนแรงในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จนถูกบรรจุเป็น วาระแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ ที่สำคัญเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของความเป็นคน อันไม่อาจให้อภัยได้ โดยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา การประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย โดยทางการสหรัฐฯ มีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เกือบทุกปี เนื่องจากเราสามารถสร้างกลไกในการทำงาน บูรณาการกันของทุกภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว การตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงใน 7 จังหวัดนำร่อง การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย/เหยื่อ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความจริงจังจริงใจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เป็นผู้ทำผิดเสียเอง อย่างตรงไปตรงมา ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่ง ที่ไม่เพียงจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของประเทศไทย ในสายตาชาวโลก เรื่องค้ามนุษย์เท่านั้น แต่จะสามารถขยายผลไปสู่การทำลายเครือข่ายอาชญากรรม ข้ามชาติ ยาเสพติด ฟอกเงิน หรือขบวนการผิดกฎหมายอื่น ๆ ตามมาด้วย ในทางกลับกันผลร้ายที่จะเกิดหากเราไม่สามารถเอาชนะขบวนการค้ามนุษย์ได้ ก็คือระบบเศรษฐกิจและแรงงานของประเทศจะถูกบั่นทอน กระทบต่อการค้า การลงทุนในภาพรวม รวมถึงเราอาจสูญเสียความเชื่อมั่นจากนานาชาติ ทั้งอาจถูกปฏิเสธ หรือกีดกันการซื้อขาย-ส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการประมง และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ที่มีมูลค่ามหาศาล

(3) การแก้ไขปัญหาการบินไทย สายการบินแห่งชาติของไทย ให้หลุดพ้นจากสภาวการณ์ล้มละลาย จากปัญหาการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2554 เฉลี่ยปีละกว่า 7,000 ล้านบาท ทำให้ปี 2563 มีภาระหนี้สินกว่า 300,000 ล้านบาท และขาดสภาพคล่องกว่า 54,000 ล้านบาท จำเป็นต้องให้รัฐเพิ่มทุนกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งในการฟื้นฟูกิจการการบินไทยให้เป็นไป ตามแผน อย่างมีประสิทธิภาพนั้น โดยนายกฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย สำหรับติดตามผลการดำเนินงานและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของการบินไทย อีกทั้งได้ติดตามและสนับสนุนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างใกล้ชิด ผ่านกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการแต่งตั้งผู้แทนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ด้วย โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ อย่างเคร่งครัด ช่วยให้ผลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูฯ ล่าสุด ณ 30 มิถุนายน 2565 ปรากฏผลดีกว่าเป้าหมายอย่างมาก แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้การเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศต้องหยุดชะงักลง ปัจจุบันการบินไทยมีสภาพคล่องทางการเงินที่เข้มแข็งมากขึ้น มีเงินสดสุทธิ ประมาณ 15,770 ล้านบาท ที่เป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่ มิถุนายน 2563 คาดว่าการบินไทย จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายในปี 2567 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้เดิม

นอกจากเรื่องยากดังกล่าวแล้ว ปัญหาที่หมักหมม ซุกใต้พรม แต่ถูกละเลยมาหลายสิบปีก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาพื้นฐานทางสังคมและปากท้อง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงตามมา ในหลากหลายรูปแบบ นายกฯ จึงให้ดำเนินการใน 2 เรื่องพร้อม ๆ กัน คือ (1) ตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อบริหารจัดการที่ดินของประเทศ ให้ประชาชนผู้ยากไร้ เกษตรกร เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยจัดที่ดินให้กับประชาชนในลักษณะแปลงรวม แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ ดำเนินการแล้วกว่า 1.2 ล้านไร่ และจะเดินหน้าทำต่อไป ตามเป้าหมาย 5.7 ล้านไร่ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการบุกรุกป่าแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินรกร้าง และสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย (2) การจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งบนพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ ที่มีมากว่า 50 ปี ทำให้ที่ดินถูกแช่แข็ง ใช้ประโยชน์ไม่ได้ พื้นที่เดียวกันมีหลายหน่วยงานเป็นเจ้าของ และมีกฎหมายหลายฉบับใช้อยู่บนพื้นที่เดียวกัน ดังนั้น การจัดทำแผนที่ One Map ทำให้เกิดความชัดเจน ทั้งพื้นที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งที่ป่าไม้ ที่ สปก. ที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินของประชาชน ซึ่งดำเนินการเสร็จไปแล้ว 22 จังหวัด ยังเหลืออีก 44 จังหวัด ที่จะดำเนินการต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง 8 ปี เร่งลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศ สู่อนาคตที่ดีกว่า ว่า สาเหตุที่การพัฒนาบ้านเมืองของติดหล่มไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ เนื่องจาก (1) ที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้ง ทะเลาะกัน ไม่ยอมกัน ทำให้การตัดสินใจระดับนโยบายไม่ตกผลึก ส่งผลให้การลงทุน-แผนพัฒนาต่าง ๆ หยุดชะงัก นักลงทุนต่างชาติไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองไทย ไม่กล้าหอบเงินเข้ามาลงทุน และมีการย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน (2) ไม่มียุทธศาสตร์ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ในอดีตก่อนปี 2557 มีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก ทำได้เพียงกระจายงบประมาณ กระจายการพัฒนาย่อย ๆ ไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยไม่มีความเชื่อมโยงกัน จึงไม่เกิดพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะยาว เช่น แผนแม่บทรถไฟฟ้าของสำนักงานคณะกรรมการขนส่ง ทำเสร็จตั้งแต่ปี 2547 แต่ไม่มีรัฐบาลไหนเอาไปทำ และระบบขนส่งทางราง ช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงเป็นทางเดี่ยว มีทางคู่ไม่กี่ร้อยกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างถูกพลิกโฉมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ โดยช่วงปี 2558 - 2562 มีการลงทุนจริงในโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐ ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี ดังนี้

ทางถนน สร้างทางหลวงแผ่นดิน/เส้นทางสายหลัก เพิ่มขึ้น เดิมปี 2557 มี 4,271 กิโลเมตร สิ้นปี 2564 เพิ่มเป็น 11,583 กิโลเมตร มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางหลัก พัฒนาระบบรถไฟฟ้า เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดิมมี 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 147.8 กิโลเมตร สร้างเพิ่มและเปิดบริการแล้ว 11 เส้นทาง ระยะทาง 212 กิโลเมตร มีแผนก่อสร้างเพิ่มจนครบ 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร ถ้าเฉลี่ยคร่าว ๆ รัฐบาลวาระ 4 ปี ที่ผ่าน ๆ มา สร้างรถไฟฟ้าได้ 1-2 สาย หรือระยะทางสูงสุด 46 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลนี้ ถือว่า 2 สมัย คือ 8 ปี สร้างได้ 10 สาย 200 กว่ากิโลเมตร ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ย 2.5 เท่า โดยมี 2 สายที่จะเปิดใช้ในปีนี้ เป็น Monorail สายสีชมพูกับสีเหลือง สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน ต้นแบบสถานีอัจฉริยะ ด้วยระบบ 5G แห่งแรกของไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รถไฟความเร็วสูง Hi-Speed Train 4 เส้นทาง (1) สายอีสาน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ - หนองคาย กว่า 500 กิโลเมตร ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา 253 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2569 สำหรับระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาด คาดว่าจะเสนอ ครม.ในปี 2565 และจะเปิดให้บริการในปี 2571 (2) สายตะวันออก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา เชื่อมกรุงเทพฯ – EEC 220 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งมอบพื้นที่แล้ว 100% และในอนาคตอีก ได้แก่ สายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และสายใต้ กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณาในปี 2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ ในปี 2569

ทางน้ำ เพิ่มศักยภาพการขนส่งทางทะเล ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่งเสริมบทบาท EEC เชื่อมทั่วโลก คาดเปิดให้บริการปี 2568 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ศูนย์กลางขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG Hub ในกลุ่มประเทศ CLMV คาดเปิดให้บริการปี 2569 ทางอากาศ พัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมปี 2557 รองรับ 118 ล้านคน ปี 2564 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 คาดเปิดให้บริการเดือนตุลาคม 2565 ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวใน EEC ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ส่งเสริมบทบาทไทยให้เป็น “ศูนย์การบิน” Aviation Hub ในภูมิภาค

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนภาคการผลิต ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และบริการ ในขับเคลื่อนประเทศนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง นายกฯ ได้ริเริ่มให้จัดทำแผนแม่บทระยะ 20 ปี สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ อย่างบูรณาการ ซึ่งช่วงปี 2561 - 2565 มีผลการดำเนินงานทั่วทั้งประเทศ ดังนี้ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ 156,070 ไร่ ลดการชะล้างพังทลายของดิน 367,900 ไร่ พัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ-แหล่งน้ำขนาดเล็ก 496 ล้าน ลบ.ม. พัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่ 422 ล้าน ลบ.ม. พัฒนาน้ำบาดาล-ธนาคารน้ำใต้ดิน 149 ล้าน ลบ.ม. พัฒนาประปาหมู่บ้าน 4,973 แห่ง ตลอดจนสามารถลดความเสียหายจากภัยแล้งได้ 1.5 ล้านไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 350,525 ครัวเรือน เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง 8 ปี มุ่งพัฒนาสู่ความ “ยั่งยืน” ว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังขาดกลจักรที่มีพลังมากพอ ในการเดินหน้าประเทศไปในอนาคต อย่างยั่งยืน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้สร้างเครื่องจักรยักษ์ใหญ่สำหรับขับเคลื่อนประเทศไปได้ ในอีกอย่างน้อย 20 ปีข้างหน้า ก็คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างโอกาส และสร้างแรงงานทักษะสูง ตลอดห่วงโซ่ รวมกว่า 420,000 ตำแหน่ง ส่งเสริมการจ้างงานในภาคธุรกิจ มากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี ในภาคแรงงานการก่อสร้าง อีกกว่า 16,000 อัตรา อีกทั้ง ให้ผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบส่วนแบ่งรายได้และภาษีให้กับภาครัฐ จากโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง-สนามบิน-ท่าเรือ มากกว่า 3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ EEC มีส่วนส่งเสริมในการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ อีกมากมาย โดยในช่วงปี 2557 – มิถุนายน 2565 มีมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว มูลค่ากว่า 5.3 ล้านล้านบาท ยิ่งกว่านั้น EEC ยังเป็นต้นทางการพัฒนาอีกมหาศาล ได้แก่ เมืองแห่งนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็นซิลิคอนวัลเลย์ของเมืองไทย เมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (EECmd)

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากการลงทุนเพื่ออนาคตแล้วยังได้เตรียมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกันทิศทางการพัฒนาของโลกในวันข้างหน้า และทำให้เกิดฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ โดยดำเนินการใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ เรื่องที่ 1 การวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) รองรับโลกในศตวรรษที่ 21 โดยได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้ครอบคลุม ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นับได้ว่าเราเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียน ที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล มีโครงข่าย Internet ที่ส่งผ่านข้อมูลได้รวดเร็ว โดยมีสถิติที่น่าสนใจ ได้แก่ สถิติ e-Commerce ช่วง 2560 – 2564 มีการขยายตัวต่อเนื่อง เฉลี่ยที่ 9.79% และ สถิติด้านดิจิทัล ในปี พ.ศ. 2564 ความเร็วเฉลี่ยอินเทอร์เน็ตบ้านของไทย เร็วเป็นอันดับ 7 ของโลก และคนไทยปรับตัวสู่การช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น เป็นอันดับที่ 4 ของโลก เป็นต้น สำคัญที่สุด คือ รัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” เช่น พัฒนาระบบพร้อมเพย์ การชำระเงิน-โอนเงินแบบทันที พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ และพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการภาคเอกชน ประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ เข้าถึงง่าย เป็นต้น ช่วยให้คนไทยได้ค่อย ๆ เรียนรู้และปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวิกฤตโควิดนั้น ผลักดันให้คนไทยปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจกิจดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด โชคดีที่เรามีความพร้อมมาก่อนแล้ว ทั้งเรื่องธุรกรรมและบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ + เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) + e-Commerce + Digital Banking ขยายตัวอย่างรวดเร็วไม่ติดขัด ตลอดจนการผลักดันแนวคิด National e-Payment ที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) สู่การปฏิบัติจริง ประสบความสำเร็จยิ่ง ซึ่งวันนี้ทุกคนรู้จักและคุ้นชินแล้ว เช่น การจ่ายเงินอุดหนุนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การใช้จ่ายเงินดิจิทัล Government Wallet (หรือ G-Wallet) ผ่านแอปเป๋าตังและแอปถุงเงิน ในโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ การชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์แบบ Any ID โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ผ่าน Prompt pay และQR Payment เป็นต้น

เรื่องที่ 2 อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน โดยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ที่มีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ. 2065) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลก ในการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26 ดังนั้น จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ อีก 3 ประการ คือ (1) ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งกำลังเป็นทิศทางหลักในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก โดยได้ขับเคลื่อนและพยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุด แห่งหนึ่งของโลก ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นับตั้งแต่การกำหนดนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573 โดยจะต้องเดินหน้าให้เร็ว และเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค จะต้องทำงานบูรณาการกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแข็งขัน วันนี้เราเดินมาได้ไกลแล้ว จนผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลกหลายราย แสดงเจตนารมณ์ว่าจะมาตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา หนึ่งในนั้นเป็นบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ยืนยันกับเราว่าจะตั้งศูนย์ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นศูนย์ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งที่ 2 ในโลกของเขา อีกหนึ่ง คือ TOYOTA บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ยืนยันกับเราแล้วว่าเอาด้วย และอีกรายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ รถกระบะ และรถ SGV ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ก็ยืนยันเช่นกัน และยังมีอีกหลายรายอยู่ระหว่างการพูดคุย ในขณะที่ภายในประเทศ ก็เร่งส่งเสริมอย่างเต็มที่ตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ช่างซ่อม ช่างผลิต อีกทั้งเราจะต้องทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า มีราคาที่ถูกลง สำหรับคนไทยทุกคนด้วย สำหรับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ เช่น รถเมล์ไฟฟ้า ภายในปีนี้ จะออกมาให้บริการประชาชนประมาณ 1,000 คัน โดยนายกฯ ได้สั่งการให้ไปศึกษาและพัฒนา “ตุ๊กตุ๊กไทย” ให้มาใช้พลังงานไฟฟ้าด้วย และปัจจุบันนี้เรามีเรือ Smart Ferry เรือโดยสารไฟฟ้าให้บริการแล้ว เชื่อมระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลวง รถ ราง เรือ รวมทั้งเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม ที่เปิดบริการนานแล้ว ตั้งแต่ปลายปี 2563 (2) ปรับโครงสร้างพลังงาน โดยลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริด ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณ 70 สนามฟุตบอล มีแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 145,000 แผง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ (3) การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน โดยกำหนดแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับทุกภาคส่วน ชุมชน และท้องถิ่นก็สามารถมีรายได้จากการปลูกป่าได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้อีกด้วย

เรื่องที่ 3 นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เช่น ส่งเสริมเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่ม เกษตรคุณภาพสูงและการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริหารพื้นที่เกษตรกรรมเชิงรุกด้วย Agri-map เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ การพัฒนาแพลตฟอร์มและ Big data สนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล และเอทานอล เป็นต้น

เรื่องที่ 4 มาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง เป็นมาตรการกระตุ้น ชั่วคราว ระยะ 5 ปี ช่วง 2565-2569 เป็นการจูงใจให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง หรือเป็นผู้มีทักษะสูง เช่น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย สามารถถือครองที่ดินได้ไม่เกินคนละ 1 ไร่ เพื่ออยู่อาศัย ในพื้นที่ที่กำหนดให้เท่านั้น เป็นการยิงปืนนัดเดียว ได้นก 2 ตัว คือ (1) การยกระดับอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว โดยสมองไหลเข้าไทย เพื่อร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ด้วยการสอนงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างคน สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในประเทศไทย (2) การใช้จ่าย การลงทุน เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมหาศาล ด้วยเงื่อนไขที่จะต้องนำเงินลงทุนในธุรกิจ หรือกิจการที่กำหนด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านคน สำหรับข้อกังวลเรื่องการเสียพื้นที่ของไทยให้ต่างชาตินั้น ยืนยันว่าพื้นที่ที่ต่างชาติสามารถถือครองตามมาตรการดังกล่าว รวมทุกรายจะต้องไม่เกิน 1 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด 320 ล้านไร่ และต้องเป็นพื้นที่ที่กำหนดให้ตามมาตรการนี้เท่านั้น ไม่ใช่จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการบริหารบ้านเมืองท่ามกลางโลกที่เป็นพลวัต จึงไม่อาจหยุดนิ่งได้ โดยทุกโอกาสที่ได้พบปะ ประชุมกับผู้นำประเทศ แบบทวิภาคี หรือพหุภาคี นายกฯ พร้อมที่นำเสนอนโยบายเชิงรุก และแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ ในประเด็นหลักที่เป็นวาระของโลก ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน SEP for SDG เศรษฐกิจ BCG การลดโลกร้อน เป็นต้น และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อเชิญชวนเข้ามาลงทุนและเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกันที่เข้มแข็งกับทุกพันธมิตร โดยสิ่งที่ถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุด คือการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ที่ห่างหายมานานกว่า 30 ปี ที่ทั่วโลกต่างจับตามอง และนับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งนำมาสู่การต่อยอดความร่วมมืออีกมากมายตามมา ทั้งการเปิดประเทศท่องเที่ยวไปมาหาสู่กัน ในทุกระดับ การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร การลงทุนและร่วมมือด้านพลังงาน รวมถึงการส่งออกแรงงานฝีมือไทย สู่ตลาดแรงงานซาอุฯ และตะวันออกกลาง อีกด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความปรารถนาสูงสุดของนายกฯ นอกจากความอยู่ดีกินดี เข้มแข็ง ไร้หนี้สิน ของพี่น้องประชาชนชาวไทยแล้ว การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางนั้น ถือเป็นอีกความสำคัญเช่นกัน ซึ่งได้ผลักดันกฎหมายหลายฉบับ เพื่อแก้ปัญหาหมักหมมเหล่านี้ เช่น การแก้ไขวิธีการคิดดอกเบี้ย ที่ถือเป็นการปฏิวัติดอกเบี้ย เพราะเกือบ 100 ปีแล้ว ที่ลูกหนี้ต้องชำระดอกเบี้ยตามที่กฎหมายเดิมกำหนด ร้อยละ 7.5 ที่สูงเกินควร หรือลูกหนี้อาจประสบปัญหาจากเจ้าหนี้ที่อาศัยความไม่ชัดเจนของกฎหมาย กำหนดให้ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระจะต้องจ่ายดอกเบี้ย ที่คำนวณจากเงินต้นทั้งหมด กฎหมายดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยในประเทศไทย เป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนที่เป็นหนี้ ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะบรรดาเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา มนุษย์เงินเดือน คนหาเช้ากินค่ำ ที่มีความจำเป็นจะต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อมาใช้ดำรงชีวิต และเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ รวมถึงกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้ชำระดอกเบี้ยลดลง จากเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือร้อยละ 3 ต่อปี สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ ให้ชำระหนี้ ร้อยละ 5 ต่อปี ลดจากเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี และหากผิดนัดชำระ เจ้าหนี้จะสามารถคิดคำนวณได้เฉพาะจากเงินต้นที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น ไม่ใช่คิดจากเงินต้นทั้งหมดที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ จึงเป็นการสร้างความเป็นธรรมในการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายการปรับเป็นพินัย เพื่อให้ผู้กระทำผิดที่ยากจน เลือกถูกขังแทนการจ่ายค่าปรับได้ โดยไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัว หรืออาจเปลี่ยนเป็นการทำงานสาธารณะแทนได้ กฎหมายปลดล็อคไม้มีค่า 58 ชนิดให้ปลูกได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องลงทะเบียน แก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ส่งเสริมการปลูกป่าในพื้นที่ตนเอง ตัดได้ ขายได้ และเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ ประเทศได้ป่า ประชาชนได้เงิน และกฎหมายป่าชุมชน ส่งเสริมให้คนอยู่กับป่า ชุมชนหากินและดูแลป่า ควบคู่กันไปด้วย เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศชาติยังมีอีกหลายปัญหาที่รอการแก้ไข บางอย่างก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เช่น ปัญหาหวยแพง เกิน 80 บาท ซึ่งปัจจุบันก็ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหา โดยการต่อยอดจากการซื้อ-ขายหวยรัฐบาลผ่านแอปฯ เป๋าตัง ที่คนไทยหลายสิบล้านคนเคยใช้มาแล้ว ส่วนผลกระทบต่อผู้ขายเดิมนั้น ก็กำลังหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป การปรับปรุงสภาพแวดล้อมคลองโอ่งอ่างซึ่งทำเสร็จแล้ว และประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นต้นแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ ฟื้นวิถีชีวิตชุมชน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่กลางกรุง โดยได้รับรางวัล 2020 Asian Townscape Awards ของ UN การยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนริมคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ รวมกว่า 13,600 ครัวเรือนโดยการปรับภูมิทัศน์ สร้างบ้านหลังใหม่ และทยอยได้รับทะเบียนใหม่ ไม่ต้องเป็นผู้บุกรุกอีกต่อไป ส่วนการจัดระเบียบสายไฟฟ้าสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า หรือนำลงใต้ดินนั้น เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ก็ได้สั่งการให้ดำเนินการมาหลายปีต่อเนื่อง ในถนนสายหลักของกรุงเทพฯ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ รอบกระทรวงกลาโหม ตลอดจนเมืองหลัก-เมืองรองของประเทศ เช่น ภูเก็ต บุรีรัมย์ ตรัง เป็นต้น ในปี 2564 จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าแล้ว 100 กิโลเมตร ปี 2565-2567 มีแผนดำเนินการอีก ปีละ 450-500 กิโลเมตร เพื่อปรับทัศนียภาพให้บ้านเมืองสวย-ปลอดภัย และที่สำคัญคือ การปรับภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลกด้วย โดยที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นก้าวแรก ๆ ของการเดินทางไกล ซึ่งนายกฯ เชื่อในคำกล่าวที่ว่าระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน และค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน ดังนั้น สิ่งที่ริเริ่มหรือดำเนินการไป เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ฝากไว้ให้กับลูกหลานได้สานต่อ ทั้งนี้ ไม่มีใครจะอยู่ค้ำฟ้า แต่ประเทศไทยจะต้องยังคงดำรงอยู่ เป็นดินแดนแห่งความเจริญและสันติสุขบนแผนที่โลกตลอดไปโดยนายกฯ ขอฝากผลของการร่วมมือ ร่วมใจกันทำงาน ไว้เป็นความภาคภูมิใจของเราทุกคน จะได้พร้อมยืดอกแล้วพูดว่า “ฉันภูมิใจที่เป็นคนไทย”
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น