ปลัด พม. เสนอผลงานสร้างความเสมอภาคทางเพศท่ามกลางวิกฤตโควิด – 19 ของไทย พร้อมจับมือสมาชิกสหประชาชาติมุ่งบรรลุ SDGs ในปี 2030 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ปลัด พม. เสนอผลงานสร้างความเสมอภาคทางเพศท่ามกลางวิกฤตโควิด – 19 ของไทย พร้อมจับมือสมาชิกสหประชาชาติมุ่งบรรลุ SDGs ในปี 2030

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) นำเสนอผลการดำเนินงานของประเทศไทยในการสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 Gender Equality (ความเท่าเทียมทางเพศ) ร่วมกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ในการประชุมหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2565 (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF2022) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

นางพัชรี กล่าวในการประชุมว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการส่งเสริมสิทธิสตรีและสร้างความเท่าเทียมทางเพศหลายประการ อาทิ มาตรการการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศ การฟื้นฟูเยียวยาจากการเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การตั้งศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ รวมถึง “นโยบายการศึกษาเพื่อทุกคน” สำหรับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมของผู้หญิงและเด็กนางพัชรี กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยยังมีนโยบายและโครงการเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศในระดับพื้นที่ อาทิ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การสร้างความตระหนักรู้ด้านความเท่าเทียมทางเพศผ่านกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อให้สตรีสามารถมีอาชีพและรายได้ ตลอดจนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ อีกทั้งได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการและความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนในครอบครัว สังคม และชุมชน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ในปี 2030 โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2565 (HLPF2022) มีการประชุมไปจนถึงวันที่ 15 ก.ค. 65 เพื่อเป็นเวทีสำคัญสำหรับประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อขับเคลื่อนและบรรลุ SDGs ภายในปี 2030 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น