นายกฯ เยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ โครงการก่อสร้างฝ่ายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (หนองขวัญ) คาดเมื่อแล้วเสร็จ ประชาชนกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ได้รับประโยชน์กว่า 100,000 ไร่ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

นายกฯ เยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ โครงการก่อสร้างฝ่ายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (หนองขวัญ) คาดเมื่อแล้วเสร็จ ประชาชนกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ได้รับประโยชน์กว่า 100,000 ไร่

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค.65 เวลา 14.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ การจัดหาแหล่งน้ำ และการเพิ่มพื้นที่ชลประทานของจังหวัดกำแพงเพชร ณ ฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) จ.กำแพงเพชร โดยมีประชาชนกลุ่มผู้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) จำนวนกว่า 1,500 คน ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะอย่างอบอุ่น

นายกรัฐมนตรีรับฟังรายงานการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ การจัดหาแหล่งน้ำ การเพิ่มพื้นที่ชลประทานของจังหวัดกำแพงเพชร และโครงการก่อสร้างฝ่ายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) จากนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ว่า พื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ต่อเนื่องกับจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ มีพื้นที่การชลประทานอยู่ในเขต ได้แก่ โครงการสูบน้ำท่อทองแดง วังบัว วังยาง หนองขวัญ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 1 ล้าน 9 แสนไร่ โดยมีการรับน้ำที่ชัดเจนจากลุ่มน้ำปิง (เขื่อนภูมิพล) การบริหารจัดการน้ำ ณ วันนี้ เขื่อนภูมิพลมีความจุทั้งสิ้น 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีน้ำอยู่ประมาณ 5,600 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นประมาณ 42% เป็นน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 1,854 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับโครงการหนองขวัญ กรมชลประทานได้จัดทำในปีงบประมาณ 2567 โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากวงเงินงบประมาณปกติ จำนวน 305 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2567 - 2569) ตั้งอยู่ที่ปากคลองหนองขวัญ ตำบลวังแขม อำเภอคลองขลุง รูปแบบโครงการฯ เป็นฝ่ายชั่วคราวมีลักษณะเป็นฝายกล่องลวดตาข่าย (Gabions) บรรจุหินก่อสร้างในแม่น้ำปิง เพื่อให้สามารถทดน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าสู่คลองส่งน้ำหนองขวัญไปยังพื้นที่ทำการเกษตร แต่เนื่องจากปัจจุบัน ระดับน้ำในแม่น้ำปิงต่ำกว่าธรณีประตูระบายน้ำเข้าคลองหนองขวัญเดิม ส่งผลต่อปัญหาการจัดการน้ำ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) จะส่งผลให้เกษตรกรในอำเภอของจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่โดยรวมประมาณกว่า 100,000 ไร่ ได้รับประโยชน์ มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ช่วยสร้างรายได้และลดการย้ายถิ่นฐานของประชาชนในพื้นที่ โดยขณะนี้มีความพร้อมในการดำเนินการสำรวจออกแบบแล้ว และพร้อมก่อสร้างเมื่อได้รับงบประมาณจากทางภาครัฐ

ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มผู้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) ได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่สนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) และขอเป็นกำลังใจในการทำงานให้นายกรัฐมนตรี และขอให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในสมัยหน้า

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวพบปะประชาชนกลุ่มผู้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) ว่า ดีใจที่ได้มาพบปะกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร รู้สึกดีใจที่ได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าทุกคนจะอยู่ในวัยใดก็ต้องช่วยกันพัฒนาประเทศชาติ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย ย้ำว่าทุกอย่างที่รัฐบาลทำก็ต้องการให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ เพื่อที่งานต่าง ๆ จะได้ไม่ค้างคา โดยในส่วนของโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) รัฐบาลพร้อมผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยสนับสนุนงบประมาณในปี 2567 ในการดำเนินการ ทั้งนี้ หากนายกรัฐนตรียังได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ก็จะเร่งรัดดำเนินการให้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมย้ำว่าการมาครั้งนี้ไม่ได้มาหาเสียง แต่มาติดตามการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำและคำนึงประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับเป็นสำคัญ ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รวมไปถึงในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รัฐบาลก็ได้ดำเนินการทั้งระบบ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ และระบบราง ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชน และการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่าง ๆ จะสำเร็จได้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน รวมถึงความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ในการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐบาลได้มีการศึกษาข้อมูลรอบด้านและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อนดำเนินการ โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ให้มีการทุจริต โดยต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นได้ภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่ ให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น