ยอดเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูง 57 ราย “นายกฯ” ห่วงช่วงปิดเทอมใหญ่ วอนผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด เน้นฝึกว่ายน้ำเป็นช่วยเหลือตัวเองได้แนะสวมชูชีพ/ห่วงยางก่อน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

ยอดเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูง 57 ราย “นายกฯ” ห่วงช่วงปิดเทอมใหญ่ วอนผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด เน้นฝึกว่ายน้ำเป็นช่วยเหลือตัวเองได้แนะสวมชูชีพ/ห่วงยางก่อน


โฆษกรัฐบาลเผย “นายกฯ” ห่วงเด็ก ๆ ช่วงปิดเทอมใหญ่ มีโอกาสบาดเจ็บจากอุบัติเหตุตกน้ำ/จมน้ำ ขอผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิด เน้นการป้องกัน ฝึกว่ายน้ำให้เด็กมีพื้นฐานช่วยเหลือตัวเองได้ขณะเกิดเหตุ แนะสวมเสื้อชูชีพ/ห่วงยางเพื่อความปลอดภัยก่อนลงเล่นน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ระบบรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 30 มีนาคม 2565 พบเหตุการณ์เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำรวมทั้งหมด 64 เหตุการณ์ เสียชีวิต 57 ราย บาดเจ็บ 13 ราย แหล่งน้ำที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุด ได้แก่ คลอง แม่น้ำ แหล่งน้ำที่ใช้ในเกษตรกรรม ทะเล และสระว่ายน้ำ ตามลำดับ ลักษณะเหตุการณ์ที่พบบ่อยได้แก่ เด็กลงเล่นน้ำโดยไม่แจ้งผู้ปกครองหรือไม่มีผู้ปกครองดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา อุบัติเหตุพลัดตกแหล่งน้ำที่ไม่มีขอบกั้น และเล่นน้ำในบริเวณที่มีคลื่นลมแรง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในชีวิตของเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ที่เด็ก ๆ อาศัยอยู่ที่บ้านเป็นหลัก ประกอบกับสภาพอากาศร้อน เด็กอาจชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร หรือบ่อน้ำชุมชน จึงอาจมีความเสี่ยงเหตุการณ์เด็กได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุตกน้ำหรือจมน้ำ ในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี มากขึ้นได้ พร้อมเตือนให้ผู้ปกครองระวังดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการเห็นภาพการเสียชีวิตจากการจมน้ำในช่วงปิดเทอมใหญ่ โดยได้ กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล อบต. ที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ต้องพยายามควบคุมพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ต้องร่วมกับชุมชนสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่น การสร้างรั้วกั้น ป้ายเตือน เตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง และให้ความรู้เรื่องแหล่งน้ำเสี่ยง การป้องกัน และการปฏิบัติตัวเมื่อพบคนตกน้ำ หรือจมน้ำให้กับประชาชน รวมถึงเน้นย้ำโรงเรียนให้ความรู้เรื่องดังกล่าวกับนักเรียนอย่างต่อเนื่องตามบริบทพื้นที่ ให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศร่วมมือกันลดปัญหาเด็กจมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมให้เป็นศูนย์ ลดความสูญเสียให้ได้ เพราะเด็ก ๆ คือบุตรหลานของเราทุกคน

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยในช่วงฤดูร้อนนี้ที่เด็กกับน้ำมักเป็นของคู่กัน พร้อมย้ำว่าการป้องกันเหตุการณ์เด็กจมน้ำต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผู้ปกครองควรดูแลความปลอดภัยเด็กอย่างใกล้ชิด ช่วยกันตรวจตรา คอยให้คำชี้แนะ เตือนบุตรหลานของตัวเองอยู่เสมอ เน้นย้ำไม่ให้เด็กไปเล่นน้ำตามลำพัง ไม่ไปตรงบริเวณห้ามเล่นน้ำ เช่น แหล่งน้ำลึก มีคลื่นลมแรง เป็นต้น รวมทั้งขอให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญในเรื่องการว่ายน้ำ ให้เด็กมีพื้นฐานการเอาตัวรอดขณะตกน้ำ หากผู้ปกครองสามารถที่จะให้บุตรหลานฝึกว่ายน้ำ ร่วมกับการขอความช่วยเหลือ สวมอุปกรณ์ป้องกันก่อนลงเล่นน้ำ เช่น เสื้อชูชีพหรือห่วงยาง ก็จะเป็นตัวช่วยอย่างดีหากเกิดเหตุการณ์จมน้ำขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเน้นเรื่องการป้องกัน ให้ความรู้เด็ก ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ขณะเกิดเหตุ” นายธนกรกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น