มท.-ท้องถิ่น-ส.อุตฯจับมือใช้ปูนลดโลกร้อนในงานก่อสร้างภาครัฐ และปท.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565

มท.-ท้องถิ่น-ส.อุตฯจับมือใช้ปูนลดโลกร้อนในงานก่อสร้างภาครัฐ และปท.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


มท. - ท้องถิ่น - สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย จับมือใช้ปูนลดโลกร้อนในงานก่อสร้างภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ สร้างสมดุลให้กับโลกใบเดียวอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 65 เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือการใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิกสำหรับการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้แทนนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายวิทยา คุณปลื้ม ประธานสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคกลาง นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกัมพล กลั่นเนียม ผู้แทนนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย คณะกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ประธานสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาค ประธานคณะกรรมการสันนิบาตเทศบาลภาค คณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ  ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงมหาดไทยจะได้ร่วมกับผู้นำสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 แห่ง อันได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย มุ่งมั่นร่วมเป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ของเราให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีอายุยืนยาว อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะโลกร้อน ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 หรือ COP26 อย่างชัดเจนว่า “เราไม่มีแผนสำรอง No plan B เพราะเรามีโลกใบเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของมวลมนุษยชาติ” ด้วยการทำให้ประเทศไทยของเราไปสู่สังคม NetZero คือ มีการใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซทำลายชั้นสมดุลของอากาศ (ก๊าซเรือนกระจก) ให้ลดน้อยลง ขณะเดียวกันต้องช่วยกันเพิ่มกิจกรรมในการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ ของคนในสังคมให้เกิดสิ่งที่ดีเพิ่มมากขึ้น คือ ลดการปลดปล่อยของเสียให้น้อยลง เพิ่มการปล่อยของดีมากขึ้น ช่วยทำให้ระบบนิเวศน์เป็นระบบที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มปัจจัยเกื้อกูลที่เป็นยาอายุวัฒนะของโลกมากขึ้น หรืออาจเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า การปล่อยของเสียเป็นเหมือนรายจ่าย การสร้างระบบนิเวศน์เป็นเหมือนรายได้ ที่คนเราต่างมุ่งไปในทางเดียวกัน คือ ช่วยกันลดรายจ่ายให้น้อยลง ช่วยกันเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุล หรือทำให้ดุลของรายได้มีเพิ่มมากกว่ารายจ่ายจะเป็นการดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ ผู้นำที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด นั่นคือ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีอุดมการณ์ (Passion) เป็นผู้นำพี่น้องประชาชนทำกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนเป็นวิถีชีวิต โดยในส่วนของมาตรฐานงานก่อสร้าง มีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นส่วนราชการในการวางระเบียบ (Regulator) และมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นส่วนราชการในการกำกับและส่งเสริมการบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อ Change for Good ทำให้โลกใบเดียวของเรามีอายุยืนยาว มีสภาวะแวดล้อม สภาวะอากาศ เกื้อกูลทำให้ลูกหลานเราอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุขร่วมกับทุกคน

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประกาศ ‘MISSION 2023’ ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา (Ordinary Portland Cement : OPC) ที่มีการใช้งานมากกว่า 60% ทำให้ภาคอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้เกิดแนวคิดและขับเคลื่อนการผลิต “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ที่เป็นผลิตภัณฑ์การก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้มีการบูรณาการร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และสถาบันการศึกษา ทำการทดสอบการใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาเป็นระยะเวลากว่า 2-3 ปีแล้ว โดยภายในปี 2023 ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยจะผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา ซึ่งปูนชนิดนี้มีวิธีการผลิตเช่นเดียวกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา แต่ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยได้รับการรับรองมอก. 2594 มีจุดเด่น คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุใช้ในงานโครงสร้างอาคาร (มยผ.) ได้แก่ มยผ. 1101-64 : มาตรฐานงานคอนกรีตฯ มยผ. 1102-64 : มาตรฐานงานคอนกรีตอัดแรง มยผ. 1103-64 : มาตรฐานงานเหล็กเสริมคอนกรีต มยผ. 1104-64 : มาตรฐานงานไม้ มยผ. 1105-64 : มาตรฐานงานฐานราก และ มยผ. 1106-64 : มาตรฐานงานเสาเข็ม ซึ่งในขณะนี้ได้รับการยืนยันแล้วว่าสามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภทที่ 1 และมีมติร่วมในการให้นำปูนนี้มาใช้ในการก่อสร้างภาครัฐได้ โดยในโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกประเภท GU (General Used) 100%

จากนั้น ผู้แทนคณะกรรมการสมาคมฯ ได้ร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งผู้แทนสมาคมฯ มีความเห็นตรงกันว่า ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เป็นนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างชนิดใหม่ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานลดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก ด้วยการใช้วัสดุทดแทน ลดการเผาลง เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น และจะได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ พร้อมทั้งมีความเห็นขอให้สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกให้เพียงพอและมีแหล่งกระจาย Supply ให้ครอบคลุมทั่วประเทศรองรับความต้องการ (Demand) และมีราคาที่เป็นมาตรฐานตามกลไกตลาด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้ทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทดแทนในงานก่อสร้างที่สามารถทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดาได้ และขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้นำมาตรฐานกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุใช้ในงานโครงสร้างอาคาร (มยผ.) ซึ่งได้กำหนดแนวทางการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดาในงานก่อสร้างภาครัฐแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้ส่วนราชการในจังหวัดนำไปใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อน และขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้นำมาตรฐานฯ ดังกล่าวแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเพื่อเป็นแนวปฏิบัติ นอกจากนี้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย จัดทำคู่มือประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดาในรูปแบบและภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีความเข้าใจว่าปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นปูนที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ทำให้การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก ไม่ทำลายโลกของเรา อันเป็นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในด้านการก่อสร้างอีกด้วย

“กระทรวงมหาดไทยจะได้เชิญนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย เพื่อกำหนดให้การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นแนวปฏิบัติในการใช้ปูนซีเมนต์สำหรับการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการทั่วไป อันส่งผลให้ประเทศไทยมีความสง่างามด้านการลดภาวะโลกร้อนในงานก่อสร้างบนเวทีโลก และทำให้สิ่งที่พวกเราตั้งใจไว้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ววัน พร้อมเชิญชวนให้พวกเราทุกคนช่วยกันขับเคลื่อน ช่วยกันผลักดัน และกลับไปดำเนินการโดยทันที เพื่อให้โลกของเราอยู่คู่กับมนุษยชาติเพื่อลูกหลานของเราอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

ในช่วงท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นอกเหนือจากกิจกรรมงานด้านการก่อสร้างที่มีผลิตภัณฑ์ช่วยในเรื่องการลดภาวะโลกร้อนแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,849 แห่ง เป็นส่วนสำคัญในการบูรณาการงานเพื่อส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอน การสวมใส่เสื้อผ้า และการรับประทานอาหาร ด้วยการน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นในการรักษาและต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการรักษาภูมิปัญญาอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษให้คงอยู่แล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดภาวะโลกร้อนด้วย เพราะสิ่งที่เป็นพระวิสัยทัศน์อันแสดงถึงสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระองค์ท่านในเรื่องดังกล่าวที่อยู่ในพระดำริ นั่นคือ ทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตด้วยการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน ทั้งการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และย้อมสีผ้าด้วยสีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้นำในการแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำทุกวัน เพื่อเป็นตัวอย่าง “ผู้นำต้องทำก่อน” ให้กับข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และประชาชนในท้องถิ่น และต้องเอาจริงเอาจังให้เกิดการคัดแยกขยะ ทำให้พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นเป็นมนุษย์ 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยการรับสมัครอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 อย่างน้อยครัวเรือนละ 1 คน เพื่อสามารถใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างพลังเครือข่ายที่เป็นกลไกในการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในครัวเรือนทุกครัวเรือน เช่น การทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การปลูกต้นไม้ ปลูกป่า เพื่อเพิ่มพูนสิ่งที่ดี Change for Good ให้วงจรชีวิตของเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% ให้แล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 รวมทั้งร่วมกันส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้ริเริ่มกิจกรรมในการส่งเสริมให้เกิดการทอ การถัก การทำผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ (36 พรรษา) ในวันที่ 8 มกราคม 2566 อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad