ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม JTC ไทย-ภูฏาน ที่ภูเก็ต 26-29 เม.ย.นี้ พร้อมผลักดันการทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า PTA ร่วมกัน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม JTC ไทย-ภูฏาน ที่ภูเก็ต 26-29 เม.ย.นี้ พร้อมผลักดันการทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า PTA ร่วมกัน


นางสาวรัชดา ธนาดิเรก
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ว่า ในวันที่ 26 - 29 เมษายนนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระหว่างไทยกับภูฏาน ครั้งที่ 4 ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏาน รวมถึงแนวทางการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ซึ่งในวันนี้ ครม.มีมติเห็นชอบท่าทีไทยในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า JTC ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 4 เพื่อให้ผู้แทนไทยโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานฝ่ายไทยใช้ท่าทีเป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายภูฏาน อาทิ

1.ไทยจะหารือความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade agreement : PTA) ระหว่างกัน ซึ่งความตกลง PTA นี้ เป็นการให้สิทธิพิเศษทางการค้าหรือความร่วมมือเฉพาะสินค้าที่มีความสนใจร่วมกันบางส่วนเท่านั้น จะต่างจากเขตเสรีทางการค้า (FTA) ที่มีการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางการค้าในภาพรวมทั้งหมด เช่น การค้า บริการ ลงทุน และการเงิน

2.ด้านการค้าและการลงทุน ไทยขอให้ภูฏานแจ้งความประสงค์เกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการนำเข้า เพื่อใช้ในการวางแผนขยายตลาดการค้าการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าการลงทุนให้นักธุรกิจไทยที่สนใจเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะสาขาที่ภูฏานมีความต้องการ

3.ด้านการเกษตร ไทยพร้อมสนับสนุนด้านการเกษตรภายใต้กลไกการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรไทย-ภูฏาน รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับสินค้าเกษตรของภูฏาน

4.ด้านหัตถกรรม ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับการทบทวนแผนการจัดกิจกรรมระหว่างกันภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านศิลปหัตถกรรมระหว่างสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์กรมหาชน) (สศท.) กับกรมอุตสาหกรรมในครัวเรือนของภูฏาน

5.ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายจะหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับภูฏาน ภายใต้แนวคิด “Two Kingdoms One Destination” และส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกัน อาทิ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ (National Single Window: NSW) การพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) และการพัฒนา SMEs ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า การประชุม JTC ไทย-ภูฏาน ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในหลายด้านมายาวนาน เช่น เศรษฐกิจ ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์พิเศษในระดับราชวงศ์ แม้ว่าภูฏานจะเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 2.6 แต่ด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์การสหประชาชาติประกาศให้ภูฏานพ้นจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2566

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad