รมว.พม.นำทีมเร่งเยียวยาครอบครัวผู้ประสบเหตุความรุนแรงที่ จ.หนองบัวลำภู ย้ำช่วยแก้ปัญหาระยะยาว...u - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565

รมว.พม.นำทีมเร่งเยียวยาครอบครัวผู้ประสบเหตุความรุนแรงที่ จ.หนองบัวลำภู ย้ำช่วยแก้ปัญหาระยะยาว...u





เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 65 เวลา 10.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อร่วมประชุมถอดบทเรียนการให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี นายสุวิทย์ จันทร์หวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมด้วยหน่วยงานทีม One Home พม. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ภูพานคำ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู จากนั้น เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ 6 ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น





นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ ตนพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อมาติดตามงานของรัฐบาล ด้วยการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุความรุนแรง อีกทั้งมาถอดบทเรียนและจัดการเรื่องเจ้าหน้าที่ดูแลเยียวยาโดยแบ่งออกเป็น 19 ทีมปฎิบัติการสังคมสงเคราะห์ พม. ซึ่งจะเข้าไปดูแลในเรื่องสภาพจิตใจ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต ให้ครบถ้วนทุกด้าน รวมทั้งการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชุมชนในภาพรวม ในขณะเดียวกันจะติดตามในเรื่องการสร้างเครือข่ายในการป้องกันเรื่องยาเสพติดและอาวุธปืนภายในชุมชนอีกด้วย ซึ่งวันนี้ ตนได้รับทราบแผนเผชิญเหตุทางสังคมของจังหวัดหนองบัวลำภู และหลังจากนี้ กระทรวง พม. ซึ่งมีหน้าที่ติดตามเยียวยาสังคม จะลงพื้นที่อย่างเข้มข้น ติดตามผล และรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบในทุกเดือน ทั้งนี้ หวังว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับสังคมไทย และขอใช้เหตุการณ์นี้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาของสังคมในเรื่องปัญหายาเสพติดและการใช้อาวุธปืนไม่เหมาะสม รวมถึงปัญหาความยากจน


นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ตนต้องขอขอบคุณข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องของจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดใกล้เคียง และของกระทรวง พม. ที่มาร่วมกันทำงานนี้ให้สำเร็จ โดยทราบว่าแต่ละท่านทำงานด้วยความยากลำบากในการเข้าไปเก็บข้อมูลของแต่ละครอบครัว เพื่อสำรวจความต้องการและปัญหาอุปสรรคต่างๆ เนื่องจากต้องพยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่กระทบกระเทือนจิตใจของผู้ประสบเหตุ สำหรับบางส่วนได้รับการเยียวยาด้วยการมอบเงินทุนในการดำรงชีวิต และต่อไป จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านอาชีพและโอกาสทางการศึกษาของเด็ก รวมถึงปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้ เรายังไม่เคยมีแผนประสบเหตุทางสังคมที่รุนแรงเช่นนี้มาก่อน และวันนี้ ได้เกิดเหตุนี้ เพราะปัญหาด้านยาเสพติดและอาวุธปืน ซึ่งจะนำมาเป็นแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวของสังคมไทย

นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการเยียวยาในฐานะของกระทรวง พม. คือ การทำหน้าที่ปัดกวาดหลังจากเรื่องสำคัญเสร็จสิ้นแล้ว เรามีการจัดการติดตามการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งไม่ต้องใช้เงิน แต่ต้องใช้ความเอาใจใส่ด้วยหัวใจที่เป็นจิตอาสาและเข้มแข็ง ซึ่งต้องลงพื้นที่ไปเยี่ยมครอบครัวผู้ประสบเหตุเพื่อให้กำลังใจและรับทราบข้อมูล สัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ สำหรับการสร้างขวัญกำลังใจในพื้นที่ กระทรวง พม. จะเร่งทำทันทีตามโอกาสที่อำนวย และจะทำตามความสบายใจของคนในพื้นที่ที่มีความไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งจำเป็นต้องดูแลควบคู่กันไป ฉะนั้น การจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับชุมชน การสร้างความตระหนักรู้ การสร้างความร่วมมือ ความรัก ความสัมพันธ์กันในชุมชน ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเราต้องเดินหน้าไปด้วยกันและเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง



นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เป็นต้นมา กระทรวง พม. โดยหน่วยงานทีม One Home พม. จังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดใกล้เคียง ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยได้ระดมทีมงานนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงานในจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดใกล้เคียง ภายใต้ทีมปฎิบัติการสังคมสงเคราะห์ พม. รวมทั้งสิ้น 19 ทีม อีกทั้งได้วางแนวทางการช่วยเหลือแผนปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์และพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ 1) ระยะวิกฤต (ช่วงวันที่ 6 - 11 ต.ค. 65) ได้แก่ การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและบันทึกข้อมูล การจัดตั้ง 19 ทีมปฎิบัติการสังคมสงเคราะห์ พม. การทำแผนช่วยเหลือรายบุคคลและครอบครัวระยะวิกฤต และการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ เป็นต้น 2) ระยะกลาง (ต.ค. - ธ.ค. 65) ได้แก่ การติดตามและประเมินผลการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ การจัดให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ร่วมเป็น Case Manager การทำแผนเยียวยาชุมชน และการจัดทำสมุดพกครัวเรือนเพื่อวางแผนการช่วยเหลือ เป็นต้น และ 3) ระยะยาว (ม.ค. - ธ.ค. 66) ได้แก่ การประเมินสุขภาพจิตร่วมกับ MCATT การประเมินความเข้มแข็งของครอบครัว การบูรณาการเครือข่ายในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามสภาพปัญหาและความต้องการ (5 มิติ) และการติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนองค์ความรู้ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น