ตรวจพื้นที่ทำการค้าถนนสังคโลก สำรวจพื้นที่นอกจุดผ่อนผันถนนลูกหลวง ตรวจติดตามค่าฝุ่นละออง PM2.5 สถานที่ก่อสร้างอาคารศูนย์มะเร็ง ม.นวมินทราชาธิราช เยี่ยมชมต้นแบบคัดแยกขยะชุมชนสื่อสารสะพานแดง ตรวจเยี่ยมศูนย์ฯ BFC เขตดุสิต - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ตรวจพื้นที่ทำการค้าถนนสังคโลก สำรวจพื้นที่นอกจุดผ่อนผันถนนลูกหลวง ตรวจติดตามค่าฝุ่นละออง PM2.5 สถานที่ก่อสร้างอาคารศูนย์มะเร็ง ม.นวมินทราชาธิราช เยี่ยมชมต้นแบบคัดแยกขยะชุมชนสื่อสารสะพานแดง ตรวจเยี่ยมศูนย์ฯ BFC เขตดุสิต

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.65 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตดุสิต เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าถนนสังคโลก ซึ่งย้ายผู้ค้าจากฝั่งโรงพยาบาลวชิรพยาบาล มาอยู่ฝั่งกรมตรวจสอบภายในกองทัพบก ให้ทำการค้าเพียงฝั่งเดียว ทางเท้ากว้าง 3 เมตร ความยาวจุด 210 เมตร จัดแผงผู้ค้า ขนาด 1 x 2 เมตร เวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. จำนวนผู้ค้า 78 ราย ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ต้นโพธิ์ถึงทางเข้าบ้านเลขที่ 157/15 ความยาว 57 เมตร ผู้ค้า 11 ราย ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ทางเข้าบ้านเลขที่ 157/15 ถึงทางเข้าบ้านเลขที่ 157/13 ความยาว 34 เมตร ผู้ค้า 13 ราย ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ทางเข้าบ้านเลขที่ 157/13 ถึงทางเข้าดุสิตคอนโดอเวนิว ความยาว 100 เมตร ผู้ค้า 46 ราย ช่วงที่ 4 ตั้งแต่ทางเข้าดุสิตคอนโดอเวนิว ถึงทางเข้ากรมตรวจสอบภายในกองทัพบก ความยาว 19 เมตร ผู้ค้า 8 ราย ตั้งเป็นรถเข็นและร่มรูปแบบเดียวกัน 






ช่วงที่ 5 พื้นที่ตั้งจุดล้างทำความสะอาดภาชนะรวมและบ่อบำบัดน้ำเสีย ความยาว 10 เมตร และที่ตั้งโต๊ะ เก้าอี้ รับประทานอาหาร จำนวน 21 ชุด ความยาว 42 เมตร ทั้งนี้ เขตฯ จะดำเนินการร่วมกับม.นวมินทราชาธิราช โดยจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตั้งบ่อดักไขมัน และจุดล้างรวมของผู้ค้า บริเวณหน้าสำนักงานตรวจสอบภายในกองทัพบก และสำรวจพื้นที่ทำการค้า ผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน ตลาดริมคลองผดุงกรุงเกษม (มหานาค) ถนนลูกหลวง จุดเริ่มต้นตั้งแต่สะพาน 7 จุดสิ้นสุดต้นโพธิ์ จัดแผงผู้ค้าขนาด 2 x 2 เมตร เวลาทำการค้า 06.00-24.00 น. จำนวนผู้ค้า 75 ราย ส่วนใหญ่จำหน่ายผลไม้ และผลไม้ดอง อย่างไรก็ตามเขตฯ จะหารือร่วมกับทางผู้ค้าและสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อพัฒนาตลาดมหานาคให้เป็นย่านการค้าต่อไป

จากนั้นติดตามการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 บริเวณสถานที่ก่อสร้างอาคารศูนย์มะเร็ง คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราชาธิราช ผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง NL development จำกัด มหาชน โดยมีมาตรการในการดำเนินการป้องกันฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้าง ดังนี้ 1.การกั้นล้อมอาคารที่ก่อสร้าง ด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง 2.การผสมคอนกรีต การไสไม้ การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง จะต้องทำในพื้นที่ปิดล้อมหรือมีผ้าคลุม หรือวิธีการป้องกันอย่างอื่นที่เหมาะสม 3.การทำความสะอาดล้อรถยนต์ทุกชนิดที่เข้า-ออกสถานที่ก่อสร้าง การจัดหาบริเวณที่ใช้ล้างทำความสะอาดที่เหมาะสม 4.จัดทำฐานข้อมูลเฝ้าระวังค่ามาตรฐานควันดำรถบรรทุกที่เข้าออกไซต์งานก่อสร้าง และ 5. อยู่ระหว่างการดำเนินการเสนอการติดตั้งสปริงเกอร์ฝุ่นน้ำละออง 

ทั้งนี้ในพื้นที่เขตดุสิต มีอาคารที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 7 แห่ง ได้แก่ 1.สถานที่ก่อสร้างอาคารศูนย์มะเร็ง คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราชาธิราช 2.อาคารที่พักอาศัย ซอยอาคารสงเคราะห์ ถนนพิชัย 3.คอนโดศุภาลัย-ราชวัตร 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ 5.กรมการขนส่งทหารบก 6.คอนโดแลนด์แอนด์เฮาส์ 7.กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนการตรวจมาตรการและประชาสัมพันธ์ ในการป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำให้เขตฯ ตรวจประเมินแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เช่น โรงงาน สถานประกอบการ ไซต์งานก่อสร้าง จำนวน 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษในอากาศ ตามมาตรการในการป้องกันฝุ่นละออง และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ต่อมาเยี่ยมชมชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนสื่อสารสะพานแดง กรมการทหารสื่อสาร ถนนพระราม 5 มีพื้นที่ 30 ไร่ ประชากร 974 คน จำนวน 270 ครัวเรือน การบริหารจัดการขยะในชุมชน มีการแยกประเภทเป็นขยะทั่วไป ขยะอันตราย และขยะติดเชื้อ โดยประสานทางเขตฯ เข้าไปจัดเก็บ เป็นระยะๆ สำหรับขยะชิ้นใหญ่ ชุมชนนี้จะนัดหมายเขตฯ เข้าจัดเก็บตามรอบเวลา โดยได้รับความร่วมมือจากผู้พักอาศัยในชุมชนเป็นอย่างดี สำหรับขยะทั่วไป รถเก็บขนมูลฝอยเข้าดำเนินการจัดเก็บทุกวันในเวลาประมาณ 06.00 น. ส่วนวัสดุรีไซเคิลที่คัดแยกได้ มีการนำไปจำหน่ายและนำเงินมาเป็นกองทุน จัดทำธนาคารขยะ ทอดผ้าป่ารีไซเคิลนำเงินที่ได้รวมกันไปถวายวัด ประดิษฐ์วัสดุเหลือใช้ประเภทยางรถยนต์เพื่อนำไปทำกระถางปลูกต้นไม้ ด้านขยะอินทรีย์ ส่วนใหญ่มีเกษตรกรมารับซื้อไปเลี้ยงสัตว์ บางส่วนนำมาหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ โดยปัจจุบันมีการทดลองใช้ถังขยะไม่เทรวมนำร่องในชุมชน และมีจุดพักรวม ขยะที่ชัดเจน สำหรับปริมาณขยะทั้งหมดก่อนดำเนินการ 1,750 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะทั้งหมดหลังดำเนินการ 1,500 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะส่วนต่างที่ลดลง 250 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ขยะอินทรีย์ 20 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิล 40 กิโลกรัม/วัน รวมปริมาณที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ 60 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับทางชุมชนในเรื่องของการคัดแยกขยะ นำชุมชนสื่อสารสะพานแดงเป็นแบบอย่างชุมชนคัดแยกขยะ เพื่อให้ครบทั้ง 43 ชุมชนในพื้นที่เขตฯ

ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารราชการฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตดุสิต เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการของกรุงเทพมหานคร โดยนำงานบริการของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายโยธา ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายรายได้ ฝ่ายคลัง ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม มาให้บริการรวมกันที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการและติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร จองคิวหรือนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Application “BMA Q” ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายต่างๆ พร้อมทั้งสอบถามปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความพึงพอใจต่อประชาชนที่มารับบริการ

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาวรุจิรา อารินทร์ ผู้อำนวยการเขตดุสิต พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดุสิต สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนสื่อสารสะพานแดง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#เศรษฐกิจดี #สุขภาพดี #สิ่งแวดล้อมดี #บริหารจัดการดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น