พช.เปิดนิทรรศการ “Weaving the Future เส้นใยแห่งภูมิปัญญา” ถอดอัตลักษณ์ไทยสู่สากล มุ่งขยายตลาดเล็งต่อยอดโครงการในปีต่อไป - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2565

พช.เปิดนิทรรศการ “Weaving the Future เส้นใยแห่งภูมิปัญญา” ถอดอัตลักษณ์ไทยสู่สากล มุ่งขยายตลาดเล็งต่อยอดโครงการในปีต่อไป

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน เชิญชม นิทรรศการ “Weaving the Future เส้นใยแห่งภูมิปัญญา”การแสดงผลงานการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ถอดอัตลักษณ์ภูมิปัญญาไทยสู่สากล กับสินค้าเกือบ 100 รายการ ที่นำมาอวดโฉมความงดงาม 26 – 30 ตุลาคม 2565 ณ ไอคอนคราฟท์ ไอคอนสยาม ชั้น 4เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวในการเปิดงานนิทรรศการ “Weaving the Future เส้นใยแห่งภูมิปัญญา”การแสดงผลงานการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ถอดอัตลักษณ์ภูมิปัญญาไทยสู่สากล ระหว่างวันที่ 26 – 30 ตุลาคม 2565 ณ ไอคอนคราฟท์ ไอคอนสยาม ชั้น 4 ว่า งานดังกล่าว กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนภูมิปัญญาต้นแบบ ได้ต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ ตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีความประสงค์จะนำ อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของผ้าไทย ให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของความเป็นไทยสู่ความร่วมสมัยเป็นสากล รวมถึง

การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านการตลาด สร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้า รวมถึงการจัดการระบบกระจายสินค้าของชุมชนให้มีระบบระเบียบเพื่อช่วยในการบริหารจัดการสินค้า และต้นทุน สำหรับ นิทรรศการที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการถอดองค์ความรู้ของชุมชนภูมิปัญญา ทั้ง 4 จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากอัตลักษณ์พื้นถิ่น สู่การแนะนำและพัฒนาจากฝีมือของผู้เชี่ยวชาญ และนักออกแบบแถวหน้าของไทย โดยจัดแสดงในรูปแบบของ กิจกรรมสาธิต หรือDisplay Show Case ที่จะทำให้เห็นถึงการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นในช่วง 3 วัย ได้แก่ รุ่นปู่ย่า ตายาย ถ่ายทอดสู่รุ่นลูก และ จากรุ่นลูกสู่รุ่นหลาน และได้นำมาต่อยอดเป็นผลงานผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาในครั้งนี้ กว่า 100 ผลิตภัณฑ์ จากชุมชนภูมิปัญญา จำนวน 4 ชุมชน อันได้แก่
- บ้านหนองเงือก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
- บ้านโคกหม้อ หมู่ที่ 3 ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี
- บ้านโนนกอก หมู่ที่ 18 ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
- บ้านสวนทุเรียน หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การจัดงานในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีการร่วมมืกันหลายฝ่าย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยตั้งใจไว้ ว่าทุกๆ งาน ถ้าหากมีการร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน รวมถึงพี่น้องประชาชน และสื่อมวลชน ก็จะทำให้งานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น วันนี้จะเห็นได้ว่ากรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เชื่อมโยง ร่วมมือกับศูนย์การค้า iconsiam ซึ่งเป็นภาคเอกชน พร้อมนักวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร พี่น้องประชาชนทั้ง 4 ภูมิภาค รวมทั้งสื่อมวลชนได้มารวมกันอยู่ ณ ที่นี้ ทางกระทรวงมหาดไทย คาดหวังว่าจะได้รับการเผยแพร่ออกไปได้มาก รวมถึงชาวต่างชาติที่ได้มาเดินที่ iconsiam แห่งนี้ จะได้รับรู้ว่าผ้าไทยนั้นสวยงาม ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่นำมาแสดงโชว์ นั้นออกแบบได้ทันสมัย คนรุ่นใหม่สามารถสวมใส่ได้แบบไม่เคอะเขิน และจะเป็นการต่อยอดให้คนรุ่นใหม่ ที่มีพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย ที่ผลิตผ้าอยู่แล้ว ทำให้เขารู้สึกอยากเป็นเจ้าของธุรกิจนี้ อยากลงมือทำเอง และออกแบบ ตามที่นักวิชาการได้สอนไว้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นความยั่งยืนในอนาคต
ส่วนการต่อยอดของโครงการนี้ จะมีฝ่ายประชาสัมพันธ์ซึ่งมีสำนักภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นที่รู้จักกันดีคืองาน โอทอป ถ้าเคยไปงานที่เมืองทองธานี ก็จะได้พบกับงาน โอทอป มิดเยียร์ โอทอป ศิลปาชีพ 12 สิงหา และโอทอป ซิตี้ ในช่วงปลายปี จะนำผลิภัณฑ์จากทั่วประเทศมาแสดงสินค้า และนี่ก็เป็นเหมือนการต่อยอดให้พี่น้องประชาชนได้เรียนรู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเอง ในปีนี้จะเริ่มจาก 4 พื้นที่ก่อนและจะค้นหาเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งในบางแห่งถ้าได้เสริมความรู้เพิ่มเติมเข้าไป ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นสวยงามยิ่งขึ้น และที่สำคัญผลิตภัณฑ์ต้องใช้สีจากธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย พร้อมกันนั้นได้เชิญชวนชมนิทรรศการแห่งความงดงามตลอด 5 วันนี้
ดร.ศรายุทธ แสนมี ผู้อำนวยการสำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า นิทรรศการฯดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีมาก นอกจากจะช่วยให้ผู้คนได้เห็นถึงอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่แล้ว ยังได้ผ่านกระบวนการพัฒนาสินค้าให้มีความโดดเด่น และทันสมัยมากยิ่งขึ้น ผู้คนสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ชุมชนยังได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงช่องทางการตลาดอีกด้วย. กิจกรรมนิทรรศการในครั้งนี้ขนผลงานผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาจัดเต็มกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ จาก 4 ชุมชนต้นแบบ ประกอบไปด้วย บ้านหนองเงือก จากจังหวัดลำพูน , บ้านโคกหม้อ จากจังหวัดอุทัยธานี, บ้านโดนกอก จากจังหวัดอุดรธานี และบ้านสวนทุเรียน จากจังหวัดสงขลา ที่รับรองได้ว่าสินค้าผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจะต้องถูกใจผู้เข้าชมทุกท่านแน่นอน
นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีบทบาท และภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จึงได้จัดโครงการ “พัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์” ขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของภูมิปัญญาสืบสาน อนุรักษ์ ภูมิปัญญาไทย ให้สามารถสร้างรายได้สู่ชุมชน เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาต้นแบบให้มีความร่วมสมัย ตอบสนองความต้องการของตลาดในปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมการพัฒนาชุมชนมีชุมชนเป้าหมาย จำนวน 4 ชุมชน และได้ดำเนินการตามกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนภูมิปัญญา ตามที่ท่านอธิบดีได้กล่าวแล้วนั้น
ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศในสาขาต่าง ๆ อาทิคุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ คุณปฏิพัทธ์ วิเทศ ดร.วุฒิไกร ศิริผล คุณหิรัญกฤษฏิ์ ภัทรพิบูลย์กุล ผศ.ดร. วิทวัน จันทร ดร.สุภาวินี จรุงเกียรติกุล คุณเอก ทองประเสริฐ ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์ปัญญา พูลศิลป์ ดร.เรืองลดา ปุณยลิขิต อาจารย์ชัยนรินทร์ ชลธนานารถ ร่วมลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพให้แก่ชุมชนภูมิปัญญา ทั้ง 4 แห่ง และก่อให้เกิดผลงานการออกแบบและผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่นำมาจัดแสดงภายในนิทรรศการแห่งนี้ กว่า 100 รายการ
คุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ นักออกแบบแฟชั่นและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้าที่ผสานเทคนิคทางภูมิปัญญาพื้นบ้านกับการออกแบบเฉพาะตัวกลายเป็นผลงานร่วมสมัยมากมาย เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนพบผู้ประกอบการและชาวบ้าน พบว่า 70 % จะเน้นการต่อยอดให้ผู้ประกอบการขายได้ รูปแบบเสื้อผ้าก็จะเป็นไลฟ์สไตล์ ไม่ใช่เสื้อผ้าแฟชั่น เน้นตัวหลวม มีเข็มขัดผูก มีโบว์ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย จากฟีดแบค ที่ลงพื้นที่มาเกือบ 10 ปี เมื่อก่อนจะบ้าพลัง ออกแบบยุ่บยับยุบยับ พอเราได้ลงพื้นที่อีกรอบ ชาวบ้านเขาเปลี่ยนแบบเราเขาบอกว่ามันตัดเย็บลำบาก และแบบที่เขาเปลี่ยนก็ขายได้ เราได้เข้าใจว่าก็จริงนะ การเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ก็เป็นข้อดี แต่ข้อเสียเราอาจใส่ตัวตนลงไปในแบบมากๆทำให้เราลืมไปว่าคนที่มาซื้อเสื้อผ้าพื้นเมืองเขาต้องการแบบที่ใส่สบายๆ เรียบง่าย เราเลยเปลี่ยนทัศนคติใหม่ คือ มีจีบนิดหนึ่งและคิดถึงการตัดเย็บของเขาด้วย พอเปลี่ยนแล้วทำงานร่วมกับชาวบ้าน ผลตอบกลับมาคือขายดีมาก เราคิดแพทเทิน เทคนิคเราเพิ่มเติม เช่น ชุดหลวม มีสายรัดเอว แขนตกนิดหน่อย เมื่อมีโครงการก็ทำแพทเทินแจกให้ผู้ประกอบการ ทำให้เขาขายได้ เรามีความสุขทางใจเมื่อชาวบ้านหรือผู้ประกอบการทำขายได้ ชาวบ้านบางคนใช้แพทเทินของเรา 11 ปีแล้ว แต่เปลี่ยนผ้าไปเรื่อย ๆ และเราเองก็จับจุดได้ว่าแบบและเสื้อผ้าของเรามันคลาสสิคใส่ได้ตลอด เมื่อลงพื้นที่จะดูตัวตนของผู้ประกอบการ และดูตัวเราเองดูเทรนด์อะไรมา ดูสี เพื่อมิกซ์ให้ชาวบ้าน อย่างเรื่องการทอที่ยากและนานเช่น 1 เมตร ใช้เวลา 1 เดือน เราจะขอให้เขาทำ 1 เมตร 1 สัปดาห์ได้ไหม เอาเทคนิคของเขามาย่อให้เล็กลง และใส่สีลงไปทอสลับกันจะย่อเวลา เมื่อทำแบบนี้จากเมื่อก่อน เมตรหนึ่งราคา 2,500-3,000 บาท เมื่อปรับแล้วเหลือ 650 บาท ปรากกฎว่ายอดขยายถล่มทลาย มันกลายเป็นว่าคนปกติก็ซื้อได้ ข้าราชการก็ซื้อใส่ ไปตัดเสื้อผ้า ไม่ได้หมายความว่าผ้าทอโบราณไม่สวยแต่ประเด็นเราต้องการให้เขาไม่มีเวลาว่าง ผลผลิตออกมาก็ขาย ก่อนนี้ราคาจะแพงพอเหลือเท่านี้ก็ออเดอร์เยอะมาก ตอนนี้เขาก็เริ่มเชื่อดีไซเนอร์มีการปรับเปลี่ยนและขายดีมาก เราต้องดูว่าจุดขายของเขาคืออะไร จุดเด่นคืออะไร ทำให้เขาขายของได้
ดร.สุภาวินี อาจารย์คณะหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาศิลปะการออกแบบคณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร นักออกแบบแลอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทอและเป็นผู้สืบสานการทอผ้าภูมิปัญญาของไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้โอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบผ้าครั้งแรกร่วมกับโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ รับมอบหมายให้มาดูแลพัฒนาผ้าเกาะยอ หลังลงพื้นที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นช่างทอผ้าในท้องถิ่นที่อำเภอเกาะยอแล้ว มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เริ่มแรกเราได้นำเอาบริบทความเป็นพื้นบ้านของชาวเกาะยอมาเป็นแรงบันดาลใจต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายผสมผ้าไหมไว้ ในแต่ละผืน เช่นในเรื่องของสภาพสิ่งแวดล้อมการเพาะปลูกผลไม้แบบสมรม(แบบผสมผสาน) อาทิ ขนุน เงาะ ฯเราก็ดึงเอาโทนสีของผลไม้นานาชนิดนำมาต่อยอดกับลวดลายดั้งเดิมซึ่งมีหลากหลาย อย่าง ลายราชวัตร ลายลูกจัน ลายลูกแก้วใหญ่ ลายชวนชมดอกเล็ก ฯ นอกจากปรับเรื่องของเทรนด์สีเป็นสีพาสเทล เน้นโทนสีให้ดูสว่างขึ้นแล้วยังเพิ่มมูลค่าของเนื้อผ้าด้วยลวดลายเส้นใยใหม่ๆด้วยการใส่เส้นไหมแท้เพิ่มเข้าไป ทำให้เนื้อผ้ามีความนุ่มยิ่งขึ้นซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านใช้ไหมสังเคราะห์ในการถักทอ หลังจากนั้นจึงนำมาปรับการออกแบบดีไซน์ มีการจัดองค์ประกอบของลาย ยกดอกใช้ลายเส้นแนวตั้งและแนวนอน ทำให้ตัวผ้าพัฒนาต่อยอดไปได้หลายรูปแบบ เช่นนำไปตัดเย็บ เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่ดูเป็นสากลมากขึ้น นอกจากนี้ยังตัดแย็บเป็นผ้าเช็ดปาก ผ้ารองจาน รองแก้วน้ำฯลฯ จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้นในตลาดใหม่ๆ
ทางด้านคุณอุสรา ยงปิยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าปลีก บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวในฐานะเจ้าของพื้นที่จัดงานว่ามีความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง กับการเปิดนิทรรศการ “ Weaving the Future เส้นใยแห่งภูมิปัญญา” ณ ลานไอคอนคราฟต์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม หนึ่งในกิจกรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสยามพิวรรธน์ และไอคอนสยาม ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมกันรังสรรค์ (Co-creation) และการสร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกัน ซึ่ง สยามพิวรรธน์ และไอคอนสยาม ดำเนินธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ และมีความตั้งใจที่จะสร้างโอกาสให้คนไทย ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ได้ยกระดับขีดความสามารถและเผยแพร่ชื่อเสียงผลงานของตนเองให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยและประเทศชาติ โดยครั้งนี้ ICONCRAFT ได้ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน จัดแสดง นิทรรศการ “Weaving the Future เส้นใยแห่งภูมิปัญญา”ดังกล่าวขึ้น ถือได้เป็นกิจกรรมอันทรงคุณค่า และสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทย ผ่านมุมมองของนักออกแบบและผู้ประกอบการจากชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งเราพร้อมที่จะสนับสนุน และเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะผลักดันและเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในชุมชนต่างๆ และนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานที่ได้ต่อยอดจากภูมิปัญญาและสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าทั้งในรูปแบบของ ONLINE และ OFFLINE อีกด้วย



 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น