การมีส่วนร่วม การแสดงออก และความสนุก คือหัวใจหลักที่คนรุ่นใหม่ต้องการ และกทม.จะปรับเปลี่ยน เดินหน้าเพื่อพัฒนาเมืองในอนาค - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565

การมีส่วนร่วม การแสดงออก และความสนุก คือหัวใจหลักที่คนรุ่นใหม่ต้องการ และกทม.จะปรับเปลี่ยน เดินหน้าเพื่อพัฒนาเมืองในอนาค


“ท่านผู้ว่าฯ ได้พูดเสมอว่า หากพูดถึงเมืองไม่ได้หมายถึงสิ่งก่อสร้างต่างๆ แต่หมายถึงผู้คน หัวใจของการพัฒนาเมืองคือการทำอย่างไรให้คนได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ มีความหวัง และรู้สึกว่าเมืองนี้เป็นของเขา ปัจจุบันจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเมืองไม่ใช่ของเขาแล้ว และไม่ได้อยากที่จะอยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว ความท้าทายที่สำคัญคือการดูแลผู้คน ทำอย่างไรให้คนรู้สึกอยากมีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของเมือง” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสร่วมปาฐกถาในงาน 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ ในหัวข้อ “จินตนาการสร้างสังคมสุขภาวะของคนรุ่นใหม่” วันนี้ (28 ต.ค. 65) ณ โรงแรมอัศวินแกรนด์ เขตหลักสี่





ขอบคุณผู้ว่าฯที่ให้โอกาสได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งหลายคนอาจเห็นว่าควรจะมีอาวุโสมากกว่านี้ แต่จริงๆแล้วคนรุ่นใหม่ก็สามารถมีความคิดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ในปัจจุบัน บางเรื่องเด็กเป็นผู้ใหญ่ได้ดีกว่า เช่น เรื่องของโลกออนไลน์และโลกดิจิทัล ภารกิจสำคัญด้านการศึกษาของกทม. คือการทำให้คนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้ ทั้งนี้หากได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่พบว่าคนรุ่นใหม่มักจะพูด 3 เรื่อง คือ การมีส่วนร่วม การแสดงออก และความสนุก ซึ่งเป็น Keyword สำคัญที่ต้องมาดูว่าขณะนี้เป็นแบบนั้นหรือไม่ อาจเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ยังไม่เปิดกว้าง ทำให้การมีส่วนร่วมยังไม่มีในสังคมปัจจุบัน และยังคงเป็นในลักษณะผู้ใหญ่คิดและเด็กรับทำ แต่สช.ได้เปิดกว้างมากกว่านั้น และเปิดกว้างมาอย่างยาวนาน ในส่วนของเรื่องการแสดงออกพบว่ามีระเบียบที่ทำให้การแสดงออกทำได้ยาก ซึ่งเห็นว่าการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ต้องการพื้นที่ที่เปิดกว้างกว่านี้ ประกอบกับกิจกรรมไม่น่าสนใจ ไม่สนุก จึงควรทำให้กิจกรรมมีความสนุกและทำให้เด็กอยากเข้าร่วมมากขึ้น การจินตนาการว่าคนรุ่นใหม่จะมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมืองอย่างไรจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึง 3 ส่วนนี้

หากวิเคราะห์แล้วโครงสร้างการบริหารในปัจจุบัน จะเป็นลักษณะ Top down คือแบบ Traditional Leadership จึงควรเปลี่ยนโครงสร้างเป็นแบบ Servant Leadership เพื่อให้ผู้นำได้ลงไปหาปัญหาและมีส่วนร่วมกับผู้ปฏิบัติงาน จะต้องนำมาดำเนินการ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนวงประชุม ออกแบบใหม่ให้เกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนมากขึ้นเพื่อสร้างEmpower citizen ดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากทำได้จะทำให้ทุกส่วนสามารถมาร่วมและจินตนาการร่วมกันเพื่อสร้างเมืองน่าอยู่ได้

จากนั้นรองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวถึงนโยบายของกรุงเทพมหานครในด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ว่า อีกหัวใจนึงคือการเปิดเผยข้อมูล คนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการการมีส่วนร่วมเท่านั้น การเปิดเผยข้อมูล Open Data เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบ เพื่อความโปร่งใส ทั้งนี้กทม.จะได้มีการเปิดเผยข้อมูลในมิติอื่นด้วย จากการสำรวจพบว่ามีชุดข้อมูลที่คนอยากรู้ 416 เรื่อง แต่ กทม.เปิดเพียง 193 เรื่อง ซึ่งต่อไปก็ดำเนินการให้มากขึ้น เมื่อเปิดเผยข้อมูลแล้วกทม.ก็จัดงาน Hack BKK เพื่อให้ทีมคนรุ่นใหม่ร่วมเสนอ Solution ในการแก้ไขปัญหาเมือง 19 ปัญหา และกทม.จะได้นำมาใช้ 5 Solution ถือว่าไม่ได้เป็นแค่มิติแค่เปิดเผยข้อมูล แต่ยังชวนคนให้มาร่วมทำด้วย ในส่วนของการเปิด Traffy Fondue ก็พบว่าสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มาก เนื่องจากมีการตอบสนองโดยทันที ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องร้องเรียนแต่ยังทำให้ผู้บริหารสามารถประเมินศักยภาพของเขตได้ด้วย ลงลึกถึงระดับฝ่าย ซึ่งประชาชนจะเห็นการทำงานทั้งกระบวนการ ตรงตามความร่วมมือ

เยาวชนไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าพื้นที่ เพื่อให้เขาได้แสดงออก อาทิ การจัดแสดงดนตรีในสวน การจัดให้มีพื้นที่เรียนรู้ เพื่อผ่อนคลายและพัฒนาศักยภาพตัวเอง ซึ่งกทม.จะพยายามให้เกิดให้ได้มากที่สุด และกระจายให้มาก โดยตั้งเป้าให้ทุกเขตมีพื้นที่เรียนรู้ของตนเอง นอกจากนี้กทม.ยังมีการจัดเทศกาลในทุกเดือน โดยในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง BKK Ranger ได้รับเสียงตอบรับจากเด็กค่อนข้างดี การเปิด Saturday School เพื่อเป็น Active Learning สร้างหลักสูตรที่เด็กสนใจ สุดท้ายคือนำมาปรับให้เข้ากับหลักสูตรหลักที่สอนในวันจันทร์ถึงศุกร์ การประกาศสิทธิของเด็กในโรงเรียนอย่างชัดเจนก็เป็นเรื่องที่กทม.ได้ทำ

คนรุ่นใหม่เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะเขาจะเป็นคนที่ใช้เมืองนี้ในอีก 10 ปี 20 ปี 30 ปีจากนี้ ในอนาคตจึงจะจัดตั้งสภาคนรุ่นใหม่และสามารถเชิญผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุย โดยเด็กได้เตรียมพร้อมหัวข้อเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังจะจัดทำ Pubilc Space Platform เพื่อทำให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ในส่วนของเรื่องการปลูกต้นไม้ก็สอดคล้องกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่คือปลูกวันนี้แต่ไม่ได้ใช้ในวันนี้ เป็นการใช้งานในวันหน้า กทม.จึงจะจัดทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมทะเบียนของต้นไม้ทั้งหมด ผ่านทาง Tomorrow Tree/ Today Tree การเปิดรับอาสาสมัครเทคโนโลยี Technology Volunteers อยู่ระหว่างการรับสมัคร เพื่อให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนในชุมชน

“Education กับ Learning มีความสอดคล้องและต้องมีการปรับเปลี่ยนไป ทำอย่างไรจะเปลี่ยน Education ไปสู่ Learning ได้ เนื่องจากEducation คือการสร้างหลักสูตรให้เด็กมาเรียน แต่ Learning คือการให้เด็กได้เรียนรู้เอง ซึ่งการทำเรื่องคนรุ่นใหม่แยกออกจากการทำเรื่องการศึกษา หรือความเหลื่อมล้ำไม่ได้ การจะพัฒนาคนเพียงหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางครอบครัว ความมั่นคงทางอาหาร ความพร้อมและปลอดภัยของสถานศึกษาและครู ความปลอดภัยในการเดินทางและความพร้อมของชุมชน ท้องถิ่นในการสนับสนุนการศึกษา เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย 40 องค์กรจัดขึ้น เพื่อนำผลงานตลอดระยะเวลา 15 ปี ของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม มานำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยกำหนดจัดในรูปแบบ Hybrid Meeting กิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการนำเสนอผลงานของภาคีเครือข่าย เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม กระบวนการนโยบายสาธารณะ รวมทั้งทิศทางและโอกาสในการทำงานในอนาคต สำหรับผู้สนใจสามารถร่วมรับชมกิจกรรมของงานผ่านการถ่ายทอดสด Live เพจ “สช.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น