กทม. เตรียมปั้นชุมชนต้นแบบลดยาเสพติด 50 เขต - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565

กทม. เตรียมปั้นชุมชนต้นแบบลดยาเสพติด 50 เขต


เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 23/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

การประชุมในวันนี้มีการรายงานในเรื่องต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทงและการจัดงานเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2565 การดำเนินงานของศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear: BFC) เป็นต้น

● กทม. พร้อมรับมือค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ภายหลังการประชุมว่า เริ่มมีปริมาณฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง กทม. ได้เปิดศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม. เป็น Single Command ตั้งอยู่ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในส่วนของสถานการณ์ฝุ่น หากเทียบกับปี 2564 สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้น ในส่วนของปี 2565 สถานการณ์ยังไม่ได้รุนแรงมาก แต่ต้องรอดู

ฝุ่นละอองเกิดจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1. ปริมาณฝุ่น ที่มาจากการเผาไหม้ของรถยนต์ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง เผาไหม้ชีวมวล และจากโรงงานอุตสาหกรรม 2. ปริมาตรที่ฝุ่นมันอยู่ เป็นฝาที่ครอบไว้ ในช่วงฤดูร้อนฝาจะอยู่สูง ดังนั้น ปริมาณฝุ่นที่เท่ากันถ้าฝาอยู่สูงก็ไม่หนาแน่นมาก แต่พอหน้าหนาวตัวฝาถูกกดจากความกดอากาศสูง และ 3. เรื่องเกี่ยวกับสภาพความร้อนของอากาศ ฝุ่นเท่าเดิมเลยมีความหนาแน่นขึ้น และทำอันตรายให้กับเราได้มากขึ้น และในส่วนของลมที่พัด ถ้าสภาวะลมพัดไปก็ทำให้ฝุ่นออกจากพื้นที่ได้ ฝุ่นก็จะน้อยลง แต่ช่วงปลายปีลมตะวันออกเฉียงเหนือกับลมตะวันตกเฉียงใต้ปะทะกัน ทำให้ฝุ่นไม่ไปไหน เป็น 3 ส่วนที่ทำให้เกิดสภาวะฝุ่นที่สูงขึ้นได้

ดังนั้น มีอยู่ 2 ส่วน คือ สภาพอากาศที่กดลงกับภาวะลม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนที่เราดูแลได้คือเรื่อง การตรวจสภาพรถยนต์ ตอนนี้มีเรื่องรถยนต์เป็นหลัก เพราะดูแล้วไม่มีการเผาชีวมวล ดูจาก Heat Map ของ GISDA ที่ส่งมา ณ นาทีนี้ ฝุ่นที่เพิ่มขึ้นแถวหนองแขม เป็นเพราะว่าสภาวะที่กดลง ลมที่นิ่ง และฝุ่นจากรถที่ปล่อยควันออกมา ซึ่งตอนนี้ได้เน้นย้ำเรื่องมาตรการออกไปตรวจพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นคือ ตัวรถตามไซต์ก่อสร้าง แพลนท์ปูน และที่ที่มีการขนส่งมาก ๆ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกในการสำรวจวางแผน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีการคุยกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการออกตรวจ ในสัปดาห์นี้ได้นัดท่านอธิบดีลงไปตรวจ มีอยู่ 260 โรงงานที่มีความเสี่ยง เพราะมีหม้อไอน้ำ (Boiler) ที่สามารถปล่อยควันออกมาได้ ในส่วนนี้เราได้เดินหน้าเชิงรุกออกไป

สำหรับมาตรการเตรียมการ เรามีการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 3 วัน โดยเอาโมเดลความกดอากาศคือตัวครอบฝาชีกับตัวลมที่พัด ก็ทำให้พอคาดการณ์ปริมาณฝุ่นได้ ตอนนี้จะมีการเตือนภัยล่วงหน้า 3 วัน อย่างวันนี้ ฝุ่นสูงแต่จะค่อย ๆ ดีขึ้น ใน 2 วันถัดไปจากโมเดลล่าสุด ซึ่งจะได้มีการสื่อสารให้ประชาชนรู้ และมีการชักธงในโรงเรียน เพื่อให้เด็กฝึกดูสภาพอากาศ โดยใช้ค่าปริมาณฝุ่นละออง และชักธงสีออกเป็น 5 ระดับ คือ ฟ้า เขียว เหลือง ส้ม แดง ขณะเดียวกันให้ทางปลัด กทม. เตรียมอุปกรณ์ในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เช่น หน้ากาก N95 เครื่องกรองอากาศ โดยดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก มาตรการต่าง ๆ ก็เป็นไปตามแผนค่าระดับของฝุ่น ตอนนี้เราก็ได้ดำเนินการเต็มที่โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน

● คัดเลือกชุมชนต้นแบบลดยาเสพติด เพื่อขยายผล

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามแผนที่ทางรัฐบาลได้ให้มา ซึ่งตอนนี้เราเน้นในเชิงรุกให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง คือ ให้แต่ละเขตดูพื้นที่สีแดง กำหนดชุมชนที่มีปัญหาด้านยาเสพติด เขตละ 2 ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาแนวทางในการลดยาเสพติด และนำผลมาขยายต่อ เป็นการทำเชิงรุกว่าเราเข้าไปดูแลอย่างไร จะปรับกระบวนการอย่างไรเพื่อแยกคนเสพออกมาและให้การบำบัด มุ่งเน้นการลดปัญหาเรื่องยาเสพติดในชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมจริง ๆ

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครไม่ได้มีอำนาจในการจับ แต่จะเป็นการร่วมมือในแง่ของชุมชน ข้อมูลเรื่องผู้ป่วย ผู้ติดยา แยกคนเสพออกจากชุมชน รวมถึงมิติเศรษฐกิจ การหางาน การอบรม การบำบัด ซึ่งสถานพยาบาลและสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสังกัดกรุงเทพมหานคร มี 2 ประเภท ดังนี้ 1. บริการแบบผู้ป่วยนอก 71 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง (คลินิกก้าวใหม่ 52 แห่ง / คลินิกก้าวใหม่พลัส 17 แห่ง) คลินิกก้าวใหม่พลัส ลาดพร้าว และศูนย์ซับน้ำตาผู้ติดยาเสพติด โรงพยาบาลตากสิน 2. บริการรูปแบบผู้ป่วยใน 1 แห่ง ได้แก่ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (บ้านพิชิตใจ) ในส่วนของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมกรุงเทพมหานคร (สำนักพัฒนาสังคม) และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมระดับเขต 50 เขต

● เตรียมมาตรการความปลอดภัยเทศกาลลอยกระทง

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับการจัดงานเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ทั้งในแง่ของชีวิตและทรัพย์สิน อาทิ ห้ามจุดพลุ บั้งไฟ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน ขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง รวมตลอดถึงพลุ ประทัดไฟ และวัตถุอื่นใด อันมีสภาพคล้ายคลึงกัน เว้นแต้ได้รับอนุญาต แจ้งเตือนประชาชน ขอให้ยึดหลัก 3 ไม่ ได้แก่ ไม่ยืนใกล้ขอบบ่อ ไม่ลงน้ำเก็บเงินในกระทง และไม่ควรโน้มตัวไปลอยกระทง โดยเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบผู้บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน แจ้งศูนย์เอราวัณ โทร. 1669 การจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่าง ๆ รถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง หน่วยแพทย์ การตรวจสอบความพร้อมกล้อง CCTV ตรวจสอบความปลอดภัยท่าเทียบเรือและโป๊ะ เป็นต้น ซึ่งหากเกิดเหตุสาธารณภัย ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วน โทร. 199 รวมถึงได้เน้นย้ำเรื่องมาตรการป้องกันโควิดด้วย

● วัคซีนโควิด 19 เด็กเล็กพร้อมให้บริการ

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิดว่า ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. ระยะเวลาตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นมา เฉลี่ยวันละ 400 – 500 คน อาจจะมีบางวันขึ้นไปบ้าง เนื่องมาจากการสะสมเพราะว่า ตอนนี้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ข้อมูลจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่จะทำเป็นรอบอาทิตย์ แต่ว่าท่านผู้ว่าฯ สั่งการให้มีการติดตามทุกวัน ซึ่งอาจจะมีขึ้น ๆ ลง ๆ บ้าง แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยทั้งหมดกว่า 90% เป็นผู้ป่วยนอก (OPD) คือ ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก บางคนก็หายเอง บางคนก็ไปรับยา ดังนั้น ศักยภาพของโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งของ กทม. เอง และสังกัดอื่นที่อยู่ในเครือข่าย ยังสามารถดูแลภาคประชาชนได้

นอกจากนี้ กทม. ได้รณรงค์ฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้มีวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กเล็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี เป็นวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม ซึ่งขอรับการฉีดได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ซึ่งผู้ปกครองสามารถลองปรึกษาแพทย์เพื่อเป็นทางเลือกในการฉีดได้

● นำศูนย์ BFC กลับมา ตั้งเป้าให้บริการครบ 10 ฝ่าย ทั้ง 50 เขต ใน 1 ปี

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear: BFC) เป็นโครงการที่มีมานานแล้ว แต่ถูกละเลยไป เท่าที่คุยกับภาคเอกชน เราก็อยากจะทำตรงนี้ให้กลับคืนมา เราไม่ได้ตั้งชื่อใหม่เพราะมีการเปลี่ยนชื่อมาหลายรอบแล้ว

สำหรับบริการ BFC ประชาชนต้องการติดต่อเรื่องใดก็รับบัตรคิวจากตู้ BMAQ จุดเดียว แจ้งประเภทบริการที่จุดลงรับเรื่อง เจ้าหน้าที่ลงรับเรื่องด้วยระบบ กรณีเอกสารไม่ครบก็ต้องลงเลขรับเช่นกัน จากนั้น ประชาชนเข้ารับบริการที่เคาน์เตอร์เจ้าหน้าที่ในแต่ละฝ่าย ไม่ต้องไปเดินตามโต๊ะให้วุ่นวาย ซึ่งการเดินตามโต๊ะเป็นช่องทางของความไม่โปร่งใสและเกิดความล่าช้าด้วย แต่ BFC จะทำให้การบริการประชาชนรวดเร็วและโปร่งใสขึ้น โดยเจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายจะลงรายละเอียดการรับเรื่อง ในส่วนของการตรวจสอบและการดำเนินการ จะมีการออกรายงานจากระบบลงรับของประชาชนที่มาใช้บริการในวันนั้น ๆ และออกรายงานจากระบบ BFC เพื่อเปรียบเทียบจำนวนประชาชนที่มาติดต่อใช้บริการในแต่ละวัน

ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำจริงจัง แต่ละสำนักงานเขตมีความพร้อมในการเปิดให้บริการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบุคลากร ขนาดของพื้นที่ และจำนวนชุดอุปกรณ์ที่ได้รับการจัดหา ปัจจุบันให้ 16 สำนักงานเขต ที่เป็นศูนย์ BSC (Bangkok Service Center) ดำเนินการในรูปแบบศูนย์ BFC ต่อเนื่อง โดยเปิดให้บริการครบทั้ง 10 ฝ่าย ได้แก่ เขตคลองเตย คันนายาว จตุจักร บางกอกน้อย บางขุนเทียน บางเขน พญาไท พระโขนง มีนบุรี ยานนาวา ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ วังทองหลาง สาทร หนองแขม และห้วยขวาง อีก 34 เขต ให้ดำเนินการปรับเป็นศูนย์ BFC โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการทั้ง 10 ฝ่าย ให้ครบทั้ง 50 เขต ภายใน 1 ปี โดย 33 เขต เปิดให้บริการ BFC จำนวน 6 ฝ่าย (ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายการคลัง ฝ่ายโยธา ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ฝ่ายรายได้ และฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ) ได้แก่ เขตคลองสาน คลองสามวา จอมทอง ดอนเมือง ดินแดง ดุสิต ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ทุ่งครุ ธนบุรี บางกอกใหญ่ บางกะปิ บางคอแหลม บางแค บางซื่อ บางนา บางบอน บางพลัด บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ ป้อมปราบฯ พระนคร ภาษีเจริญ ลาดกระบัง ลาดพร้าว วัฒนา สวนหลวง สะพานสูง สัมพันธวงศ์ สายไหม หนองจอก และหลักสี่ ส่วนเขตบางรัก เปิดให้บริการ BFC จำนวน 2 ฝ่าย (ฝ่ายทะเบียน และฝ่ายการคลัง)

จริง ๆ แล้วแต่ละเขตอาจมีความต้องการไม่เหมือนกัน บางเขตที่ไม่ค่อยมีการก่อสร้าง อาจจะมีคนมายื่นในฝ่ายโยธาไม่กี่ราย ซึ่งก็ได้สั่งการให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ให้ทำ 2 ส่วน คือ ให้พัฒนา SLA (Service Level Agreement) ให้ชัดเจน คือ ประชาชนจะต้องได้รับอะไรบ้างจากการให้บริการ คุณภาพในการให้บริการ เวลาในการให้บริการ ฉะนั้น ทุกเขตจะต้องสรุปมาว่าใน 1 เดือน ให้บริการอะไรบ้าง และแต่ละบริการใช้เวลาเท่าไรในการให้บริการ โดยเฉพาะเรื่องการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ซึ่งทุกกิจกรรมจะมีระยะเวลากำหนดว่าต้องไม่เกินกี่วัน พร้อมได้สั่งการให้ไปถาม Feedback จากประชาชนด้วยว่าเขาพึงพอใจในการให้บริการหรือไม่ อย่างไร เพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น

● เตรียมต่อยอดอบรม CPR นักเรียน ครู บุคลากร กทม.

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณน้องศิราพัช ศรีงาม ที่ช่วยชีวิตเด็กอายุ 6 ขวบ เอาไว้ได้ โดยกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 65 ศูนย์วิทยุร่มไทร ได้รับแจ้งเหตุเด็กจมน้ำ ซอยราษอุทิศ 70 พื้นที่เขตมีนบุรี ถึงที่เกิดเหตุพบเด็กชาย 1 ราย (อายุ 6 ขวบ) ได้ถูกช่วยเหลือจากประชาชนและเยาวชนนักเรียนโรงเรียนศาลาคู้ด้วยการทำ CPR ผู้ช่วยเหลือและทำ CPR คือ ด.ช.ศิราพัช ศรีงาม อายุ 12 ปี นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศาลาคู้ เขตมีนบุรี ซึ่งได้ผ่านการอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน CPR@AED เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 65 จากวิทยากรของหน่วยกู้ชีพมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร

จริง ๆ แล้ว เราได้มีการสอนหลักสูตรเบื้องต้นเหล่านี้ให้กับเด็กบ้างแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเป็นพื้นฐานความรู้ที่ต้องสอนให้กับเด็ก ต่อไปคงต้องมีการจัดอบรมจากส่วนกลางให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรต่าง ๆ ก็คงทยอยทำไป รวมถึงพนักงานของกทม. พนักงานกวาด เจ้าหน้าที่ ก็ควรที่จะต้องเรียนรู้ไว้ เพื่อจะได้ช่วยชีวิตคนได้

อีกกรณีที่อยากฝากไว้ คือ เมื่อเช้ามืดของวันอาทิตย์ (23 ต.ค. 65) มีพนักงาน กทม. โดนรถชนบาดเจ็บสาหัสอยู่ที่ ICU โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ต้องขอฝากพวกเราด้วยว่า ขับรถช่วงเช้ามืดก็ขอให้ระมัดระวังพนักงานทำความสะอาดและผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วย


● กำชับเทศกิจตรวจตราเข้มขึ้น ป้องกันเหตุปาหินใส่เรือที่แสนแสบเกิดซ้ำ

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า จากเหตุปาหินใส่เรือโดยสารคลองแสนแสบเหตุที่เกิดขึ้นจากความคึกคะนองของเยาวชน ได้มีการปรึกษากับ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งทางท่านที่ปรึกษาฯ ได้กำชับเทศกิจให้มีการตรวจตราให้มากขึ้น เพิ่มรอบตรวจมากขึ้น และสอดส่องเหตุเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก ทั้งนี้ ทางตำรวจได้เรียกเยาวชนผู้ก่อเหตุมาแจ้งข้อหา พร้อมเปรียบเทียบปรับเรียบร้อยแล้ว








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น