กทม.ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาด้านสาธารณสุข ให้สังคมผู้สูงอายุก้าวเดินไปพร้อมกับเมือง..D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565

กทม.ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาด้านสาธารณสุข ให้สังคมผู้สูงอายุก้าวเดินไปพร้อมกับเมือง..D



เมื่อวันที่ 28 ต.ค.65 เวลา 13.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรร่วมเสวนา ประเด็น วิเคราะห์ข้อมูลเมือง ต่อยอดสู่การแก้ปัญหาเมือง หัวข้อ “การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร” ในโครงการศึกษาอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนามหานคร (มหานคร รุ่น 10) ณ ห้องกรุงธนบอลล์รูม ชั้น 3 โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หนึ่งในหัวใจของนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือเปลี่ยน Education เป็น Learning ให้ทุกช่วงวัยมีพื้นที่เข้าถึงการเรียนรู้ได้ คือการนำการศึกษาไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษา (Education) เปรียบเสมือนสิ่งของที่เราเตรียมไว้ให้คนมาเรียน เช่น วิชาต่างๆ ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เมื่อผู้ศึกษาเรียนจบ สิ่งของที่เตรียมไว้ก็ยังอยู่ที่เดิม แต่ถ้าเราเปลี่ยนการศึกษาเป็นการเรียนรู้ (Learning) ซึ่งเป็นการเสาะหาสิ่งที่เราอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง และนำไปสู่การประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นสิ่งที่กทม.ต้องเร่งทำคือสร้างแหล่งเรียนรู้ พื้นที่เรียนรู้ตลอดชีวิตให้คนกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง Up Skill และ Re Skill เพื่อให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนไป หน้าที่ของกทม. คือต้องสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้ผู้สูงอายุเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงศักยภาพผู้สูงอายุให้มากขึ้น เช่น ศูนย์สร้างสุขทุกวัยที่ปัจจุบันมี 35 แห่ง ศูนย์ฝึกอาชีพ 10 แห่ง ห้องสมุดและบ้านหนังสือ ซึ่งเป็นการพัฒนาเส้นเลือดฝอย ทำให้มีการพัฒนาพื้นที่เล็กๆ ในชุมชน ช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีทักษะต่างๆ มากยิ่งขึ้น

“อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความต้องการ (Demand) ทำให้คนอยากรู้และอยากเข้าสู่พื้นที่การเรียนรู้ให้มากขึ้น โดยกทม.อาจจะสร้างกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ เช่น ชมรมผู้สูงอายุต้องมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง การสร้างกิจกรรมในระดับเมือง เช่น การประกวดภูมิปัญญาผู้สูงอายุคลังปัญญาผู้สูงอายุต่าง”

นอกจากนี้ กทม.ต้องเร่งพัฒนาด้านสาธารณสุขให้ผู้สูงอายุ โดยศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น เช่น นโยบาย Telemedicine การให้บริการทางการแพทย์ผู้สูงอายุถึงบ้านผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยรักษาสุขภาพกายของผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้น

“สุดท้ายแล้วสังคมผู้สูงอายุจะต้องเดินควบคู่ไปกับคนกรุงเทพฯ เนื่องจากปัจจุบันประชากรที่ลงทะเบียน 5.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี กว่า 1.2 ล้านคน และมีแนวโน้มที่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมืองของเราจึงต้องเป็นมิตรกับผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกายภาพ พื้นที่การเรียนรู้ สาธารณสุข รวมถึงแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันคนอายุ 60 ถึง 65 ปี ยังสามารถทำงานได้ ดังนั้นเมืองจึงต้องมีนโยบายที่จะสร้างงานให้ผู้สูงอายุมากขึ้น และเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้ไปเรียนรู้พัฒนาศักยภาพในด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่กทม. ตั้งเป้าหมายไว้และต้องระดมความคิดเพื่อหาแนวทางดังกล่าวต่อไป” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ พูดถึงเป้าหมาย








รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายของกทม. ในเรื่องผู้สูงอายุ คือการให้เข้าถึงพื้นที่สาธารณะให้สะดวกง่ายขึ้นและต้นทุนถูกลง ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ เดินทางไม่ค่อยจะสะดวก ปัญหานี้เป็นการตัดโอกาสในหลายเรื่อง เนื่องจากผู้สูงอายุต้องไปใช้บริการเอกชนที่มีราคาสูง เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของกทม. ที่จะต้องปรับปรุงการเดินทางสาธารณะให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงเราต้องทำพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ออกกำลังกายให้อยู่ใกล้บ้านมากขึ้น นั่นคือที่มาของนโยบายสวน 15 นาที เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย กทม.มีนโยบายสร้างศูนย์สร้างสุขทุกวัยให้ใกล้บ้านมากขึ้น กทม.มีนโยบาย 1 โรงเรียน 1 ศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รวมกลุ่มกัน และสิ่งที่ผู้สูงอายุชื่นชอบที่สุดก็คือสภากาแฟเพื่อรวมกลุ่มกันพูดคุยในยามเช้า ในอนาคตกทม. อาจจะมีการริเริ่ม “สภาอาชีพ” เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุต้องการที่จะมีสังคมที่ได้มีการพบปะพูดคุยสังสรรค์ร่วมกิจกรรมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกๆ วัน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชได้จัดโครงการศึกษาอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนามหานคร (มหานคร รุ่น 10) โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจด้านการพัฒนาและการบริหารจัดการมหานคร เปิดโอกาสให้บุคลากรจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐภาคเอกชนและองค์กรรูปแบบต่าง ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสนอแนะ ในมิติที่สามารถนำไปแก้ปัญหาหรือพัฒนาเมืองและมหานครได้ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในกระบวนการบริหารเมืองของกรุงเทพมหานคร และเข้าใจในบริบทความเชื่อมโยงด้านการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานคร การมีส่วนร่วมในมิติต่าง ๆ และการพัฒนาเมืองและมหานครที่ยั่งยืน ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมประกอบด้วย ข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับอำนวยการสูงหรือเทียบเท่าขึ้นไป และภาคเอกชน จำนวน 130 คน กำหนดการศึกษาอบรมระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยาย การอภิปราย การเสวนา รวมทั้งกิจกรรมดูงาน ณ สถานที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

#บริหารจัดการดี #โครงสร้างดี#เดินทางดี #สุขภาพดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น