“บิ๊กโจ๊ก” เร่งหารือ อธิบดีกรมการจัดหางาน แก้ปัญหานายหน้าเถื่อนระบาดหลอกคนหางานต่างประเทศผ่านสื่อ Social - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2565

“บิ๊กโจ๊ก” เร่งหารือ อธิบดีกรมการจัดหางาน แก้ปัญหานายหน้าเถื่อนระบาดหลอกคนหางานต่างประเทศผ่านสื่อ Social


พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล
ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะ เดินทางเข้าพบเพื่อหารือร่วมกับนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน อย่างเร่งด่วนถึงแนวทางการตรวจสอบและดำเนินคดีผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 

นายไพโรจน์ เปิดเผยว่า จากกรณีพบสาย – นายหน้าเถื่อนระบาดหลอกลวงคนไทยที่ต้องการหางานในต่างประเทศผ่านระบบอินเตอร์เน็ตโดยใช้แพลตฟอร์ม Facebook TikTok Twitter และแอปพลิเคชัน Line โดยโพสต์โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ การเดินทางไปทำงานเกษตรในเครือรัฐออสเตรเลีย งานนวดสปาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และการหลอกลวงไปทำงานชาอุดีอาระเบียด้วยวิธีผิดกฎหมาย ซึ่งมีคนหางานหลงเชื่อทำให้สูญเงินจำนวนมาก

โดยหลังการหารือได้ข้อสรุปว่า กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการใน 3 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. ด้านการป้องกัน โดยมีการจัดอบรม/ให้ความรู้ความเข้าใจกับคนหางานผู้ถูกระงับการเดินทาง ผู้นำชุมชน บุคคล/นิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการไปทำงานต่างประเทศ และตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทจัดหางานทั่วประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนหางาน ณ ด่านตรวจคนหางาน 2.ด้านการปราบปราม ตรวจสอบ ติดตามผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน และดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 3. ด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โดยรณรงค์และประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อให้คนหางานและผู้ที่สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศมีความรู้ความเข้าใจถึงขั้นตอนการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อควรระวังก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ 

โดยนอกจากการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อหลัก สื่อออนไลน์ เช่น Facebook TikTok Twitter ที่คนหางานส่วนใหญ่เข้าถึงแล้ว ยังมอบหมายให้สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ประสานผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่น หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เอกสารแผ่นพับ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล มีความรู้เท่าทันกลุ่มมิจฉาชีพ

“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใยคนหางานที่ถูกหลอกลวง โดยมีข้อสั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบผู้มีพฤติกรรมกระทำการโฆษณาจัดหางาน และชักชวนคนไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ หากสืบสวนพบการกระทำความผิดให้เจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เพื่อดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ขอย้ำว่า การโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิดตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการโฆษณาการจัดหางานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น