นายกฯ ตอบรับเข้าร่วมประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 4 ตามคำเชิญ นายกฯ ญี่ปุ่น ร่วมขับเคลื่อนปฏิญญาคุมาโมโตะ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

นายกฯ ตอบรับเข้าร่วมประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 4 ตามคำเชิญ นายกฯ ญี่ปุ่น ร่วมขับเคลื่อนปฏิญญาคุมาโมโตะ



นางสาวรัชดา ธนาดิเรก
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีตอบรับเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “Water for Sustainable Development - Best Practices and the Next Generation” ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2565 ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสด ตามคำเชิญของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งวันนี้ ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาคุมาโมโตะ (Kumamoto Declaration) สำหรับการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (4th Asia – Pacific Water Summit : 4th APWS) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ความท้าทายและการฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการภัยพิบัติและการจัดหาน้ำ รวมทั้งการเข้าถึงน้ำที่สะอาด ปลอดภัย ประกอบกับอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว

2. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เปิดกว้างและโปร่งใส ส่งเสริมการใช้พลังงานน้ำควบคู่กับการลดการเกิดภัยพิบัติ

3.การเร่งรัดการปฏิบัติ อาทิ
1) การส่งเสริมความร่วมมือขององค์กรด้านน้ำและภาคประชาสังคม
2) การลงทุนด้านน้ำโดยรัฐบาล องค์กรนานาชาติ สถาบันการเงิน เอกชน และชุมชนท้องถิ่น
3) การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาด้านน้ำ

4. ผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ จะนำไปหารือในเวทีด้านน้ำระดับโลก อาทิ การประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษฯ (Midterm Review of the Water Action Decade) ของสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2566 การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมือง (High - level Political Forum) การประชุมเวทีระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Global Platform for Disaster Risk Reduction) การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UN Climate Change Conference) การประชุมสุดยอดผู้นำจี 7 (G7 Summit) และการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 (G20 Summit)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น