ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย กล่าวถึงผลการหารือว่า ไทยและซาอุดีอาระเบียเห็นพ้องให้มีกลไกความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน โดยฝ่ายซาอุฯ เสนอให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ที่จะครอบคลุมหลายด้าน เช่น ด้านการประมง เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และกฎระเบียบการลงทุนด้านกิจการประมงในซาอุดีอาระเบีย และด้านการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งซาอุฯเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง จะมีการขยายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในลักษณะ Business to Business (B2B) และการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) เพื่อเพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุนด้านเกษตรและอาหาร โดยสำนักการเกษตรต่างประเทศจะเป็นผู้ประสานงานในเรื่องดังกล่าวต่อไป มากไปกว่านั้น ทางซาอุฯ ยังได้เชิญชวนภาครัฐและภาคเอกชนของไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านการเกษตร ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ด้วย
นางสาวรัชดา กล่าวถึงข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยว่า ซาอุฯเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 29 ของไทย โดยระหว่างปี 2562-2564 มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ย 6,836 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 6,791 ล้านบาท ไทยนำเข้า 46 ล้านบาท ซึ่งสินค้าเกษตรส่งออกของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต 2) ข้าว 3) สับปะรด 4) ข้าวโพดหวาน 5) อาหารสุนัขหรือแมว ส่วนสินค้าเกษตรนำเข้าจากซาอุฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาหารปรุงแต่ง เช่น เต้าหู้ เครื่องดื่มสำเร็จรูป 2) อาหารสัตว์ 3) ลูกนัทหรือผลไม้แห้ง 4) ปลาหมึกกระดองและปลาหมึกกล้วยแช่แข็ง และ 5) ไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้กอ ที่ให้ผลไม้หรือลูกนัท
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ควบคู่ไปกับการสานสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ขับเคลื่อนเรื่องการตลาดคู่ขนานกันไป จากการไปเยือนซาอุฯก่อนหน้านี้ อาทิ 1)จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสภาเอกชนของไทยกับสภาเอกชนของซาอุฯ พร้อมจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบียขึ้น ตั้งเป้ามูลค่าการค้าร่วมกันไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี 2) ทำสัญญาซื้อขายนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดิอาระเบียทั้งหมด 425,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าฟอสฟอรัส กับยูเรีย ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนปุ๋ยภายในประเทศได้ และ 3)การพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการการผลิตสินค้าฮาลาลกับประเทศไทย
“นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการดำเนินการต่อยอดความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียมาโดยตลอด และเชื่อมั่นว่าจะมีสิ่งดีๆเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองประเทศเกิดขึ้นอีกมาก อันเป็นผลจากความร่วมมือในทุกมิติ และที่คาดว่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมคือโอกาสทางธุรกิจ ที่ปัจจุบันตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศมีแนวโน้มที่ดีเฉพาะ 7 เดือนแรกของปีนี้ สามารถส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้นถึง 26%
อีกทั้ง การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงของทั้งสองประเทศ จะส่งผลถึงการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนด้านการเกษตรและอาหารในอนาคตต่อไป รวมถึงการขยายตลาดสู่ประเทศอื่น เพราะซาอุฯเป็นประตูไปสู่ประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และมีความต้องการสินค้าไทยเช่นกัน” นางสาวรัชดา กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น