ผู้ว่าฯ ชัชชาติ มุ่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ความหวังในระบบประชาธิปไตย ตั้งเป้าทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน..o - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ มุ่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ความหวังในระบบประชาธิปไตย ตั้งเป้าทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน..o

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาในงาน Bangkok Post Forum 2022 ในหัวข้อ Bangkok 2030: Vision and Strategy ณ ห้อง World Ballroom โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 76 ปี ของ Bangkok Post จากนั้นกล่าวว่า เรื่องที่จะพูดวันนี้คล้ายกับที่พูดหลาย ๆ งานก่อนหน้านี้ แต่ได้พัฒนาให้ดีขึ้น สำหรับหัวข้อในวันนี้เกี่ยวกับ อนาคต : วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ ซึ่งโดยปกติเราอาจลืมนึกถึงปัจจุบัน แต่วันนี้จะมี 3 หัวข้อ ที่จะพูดถึง ได้แก่ 1. ปัจจุบัน 2. อนาคต : วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ และ 3. โครงการสำคัญ

● ปัจจุบัน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตนได้อ่านหนังสือของ บิล เบอร์เนตต์ (Bill Burnett) ซึ่งเกี่ยวกับ YOU ARE HERE คือ ก่อนที่เราจะวางแผนอนาคตได้เราต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เราต้องพูดถึงปัจจุบันก่อน เพราะยุทธศาสตร์สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เพื่อจะแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครให้ก้าวต่อไปในอนาคต

- สิ่งสำคัญแรก คือ ความโปร่งใส จากดัชนีชี้วัดคะแนนปลอดคอร์รัปชัน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศ นับว่าเป็นอันดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ซึ่งกทม.จะต้องจริงจังกับปัญหานี้

- สิ่งสำคัญต่อมา การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง (Productivity) เราต้องสนับสนุนให้การทำธุรกิจมีความสะดวกขึ้น จากรายงาน Doing Business พ.ศ. 2563 พบว่า อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศของโลก ซึ่งในส่วนของกทม. เราจะต้องพัฒนาในเรื่องการขอใบอนุญาต แก้ไขระเบียบข้อบังคับที่ล้าสมัยต่าง ๆ

- สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง คือ แรงงาน ปัญหาคือเรามีความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำ ดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ (English Proficiency Index) ของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 100 เมื่อเทียบกับ 112 ประเทศ ซึ่งเราต้องแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนในระยะต่อไป

ในส่วนของทักษะที่จำเป็นในแรงงาน จะต้องมีการพัฒนาในกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) เราจึงต้องพัฒนาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยไม่ให้เพียงท่องจำจากแค่ตำราเรียนเท่านั้น ซึ่งเหตุผลที่กทม.จะต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะเรามีโรงเรียน 437 แห่งในสังกัด และเด็กกทม.ประมาณ 49% เรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้และคุณภาพของโรงเรียนจะเป็นสิ่งที่สำคัญในอนาคตสำหรับแรงงาน เราจึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนในสังกัดให้ได้มาตรฐานตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพราะปัจจุบัน PISA (โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล) ได้ประเมินสมรรถนะความฉลาดรู้ ( Literacy) ของนักเรียนโรงเรียน กทม. พบว่า ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ 1% ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ 5% และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ 3%

- สิ่งสำคัญมาก ๆ อีกสิ่ง คือ คุณภาพชีวิต ซึ่งเมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้จะต้องนึกถึง ปัญหาฝุ่น PM2.5 กทม.ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 40 ล้านตัน โดยสาเหตุหลักมาจากการขนส่งทางถนน จาก รายงาน Global Climate Risk Index 2021 ของ Germanwatch ประเทศไทยได้ถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัญหาการจราจร จากรายงาน Traffic Index 2020 ของ TomTom เผยกรุงเทพมหานครอยู่อันดับที่ 10 ของเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นมากที่สุด มีระดับความแออัด 44% ซึ่งเราจะต้องปรับปรุงความคล่องตัวของเมือง ในส่วนของพื้นที่สีเขียว เกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกนั้น กำหนดให้แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตารางเมตรต่อคน ปัจจุบันกทม.มีพื้นที่สีเขียว 6.9 ตารางเมตรต่อคน แต่พื้นที่สีเขียวที่คนใช้งานได้มีเพียง 09.2 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งเราจะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนกรุงเทพฯ

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ปัญหาเส้นเลือดฝอย เป็นสิ่งที่ตนพูดหลายครั้ง จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของกรุงเทพมหานครเปรียบเหมือนเส้นเลือด ซึ่งมีทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมาเรามักจะลงทุนเมกะโปรเจกต์ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ยกตัวอย่างโซ่ หากเรามีโซ่เส้นหนึ่งที่มีข้อต่อที่แข็งแรงจำนวนมาก และเราให้ความสำคัญแค่นั้น แต่มีข้อต่อหนึ่งที่ไม่แข็งแรงหรือชำรุด หากเราไม่สนใจ โซ่ก็จะขาด ที่ผ่านมาคนจะให้ความสำคัญกับโครงการใหญ่ ๆ อาทิ

* รถไฟฟ้า เรามีรถไฟฟ้าซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หลากสายหลายสีเหมือนสีรุ้ง แต่การที่ประชาชนจะเข้าถึงบ้าน ที่ทำงาน จะต้องอาศัยเส้นเลือดฝอย เช่น รถประจำทาง แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ทางเดินเท้าที่ปลอดภัย

* เตาเผาขยะ เรามีเตาเผาขยะที่หนองแขมและอ่อนนุช เป็นเส้นเลือดใหญ่ แต่ปรากฎว่าบริเวณหน้าบ้าน เรานำขยะใส่ถุงดำวางไว้ที่ทางเท้า นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเส้นเลือดฝอยเรายังอ่อนแออยู่

* อุโมงค์ระบายน้ำ เรามีอุโมงค์ระบายน้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่เพียง 4 แห่ง ความยาวรวมกว่า 19 กิโลเมตร มีการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลกับโครงการดังกล่าว แต่ประสิทธิภาพการระบายน้ำอยู่ที่ประมาณ 10% จากประสิทธิภาพการระบายน้ำทั้งหมด เพราะแท้จริงแล้วระบบระบายน้ำที่สำคัญคือเส้นเลือดฝอย ได้แก่ คลอง ซึ่งมีความยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตร รวมถึงท่อระบายน้ำ ซึ่งมีความยาวกว่า 6,000 กิโลเมตร

* โรงพยาบาล เรามีโรงพยาบาลตติยภูมิไม่กี่แห่ง เช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ และเราก็มีโรงพยาบาลทุติยภูมิไม่กี่แห่ง เช่น โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน แต่ในส่วนของปฐมภูมิ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข ในสังกัดสำนักอนามัย กทม. เรามีจำนวน 69 แห่ง และยังมีศูนย์สุขภาพชุมชนในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา จะเห็นว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการแพทย์ปฐมภูมิ จึงทำให้ไปแออัดอยู่ในโรงพยาบาลทุติยภูมิและตติยภูมิ และเกิดคนไข้ล้นโรงพยาบาล นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยและพัฒนาให้ดีขึ้น

- นอกจากนี้ กทม. ยังขาดอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ กล่าวคือ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีหลายหน่วยงานที่ข้องเกี่ยวในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การคมนาคมขนส่ง มีประมาณ 37 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กทม. ขสมก. BTS MRT ตำรวจ รถไฟ ฯลฯ การแก้ปัญหาต่าง ๆ จึงต้องมีการประสานงานกันในหลายหน่วยงาน

● อนาคต : วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงบทละครโดย วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ซึ่งเขียนไว้ว่า What is the city but the people? นั่น หมายถึง อนาคตของเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับเมกะโปรเจกต์ แต่ขึ้นอยู่กับ “คน” และเอ็ดเวิร์ด เกลเซอร์ (Edward Ludwig Glaeser) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้กล่าวไว้ว่า เพื่อให้เจริญเติบโต เมืองต้องดึงดูดคนฉลาดและทำให้พวกเขาทำงานร่วมกันได้ ไม่มีเมืองใดที่ประสบความสำเร็จได้โดยปราศจากต้นทุนที่เรียกว่า “คน” ผู้ว่าฯ ย้ำว่า นี่คือสิ่งสำคัญ ถ้าคุณเก่ง ฉลาด คุณจะมีตัวเลือกที่ดี ๆ และคุณจะไปที่ไหนก็ได้ที่ต้องการ ซึ่งหากเมืองไม่มีงานที่ดี ไม่มีนักคิดสร้างสรรค์ เมืองจะตาย โดยปัจจุบัน 51.9% ของเยาวชนในประเทศ ไม่อยากทำงานในประเทศ เราจึงต้องสร้างโอกาสให้กับเยาวชน และรักษาคนเก่ง คนมีความสามารถ รักษาแรงงานให้อยู่ในกรุงเทพฯ

จากนั้น ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง ตัวเลขสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ ได้แก่ 1 และ 98 โดย กทม.เป็นเมืองที่คนอยากมาท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก แต่อยู่อันดับที่ 98 ของเมืองน่าอยู่ จาก 140 เมืองทั่วโลก (จากดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ หรือ The Global Liveability Index ของ Economist Intelligence Unit หรือ EIU) เราเป็นประเทศที่คนอยากมาเที่ยวในระยะสั้น แต่ไม่อยากอยู่ในระยะยาว เราจะต้องพัฒนาตัวเลขนี้ให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้น เพื่อดึงดูดคนเก่ง คนมีความสามารถ เพราะคนเหล่านี้ไม่อยากอยู่ในเมืองที่มีปัญหาจราจร ปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาคุณภาพอากาศ ดังนั้น กทม. จึงมีวิสัยทัศน์ คือ “กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยมีสิ่งสำคัญคือจะต้องน่าอยู่ “สำหรับทุกคน”

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า กทม.ใช้ดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ ของ EIU โดยโจทย์คือเมืองจะต้องผ่านตัวชี้วัดมากกว่า 30 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 5 หมวดหลัก ได้แก่ 1. ความมั่นคง 2. สาธารณสุข 3. วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 4. การศึกษา และ 5. โครงสร้างพื้นฐาน เราจึงมากำหนดเป็นนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ได้แก่ ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดี บริหารจัดการดี และแตกย่อยออกมาเป็น action plans หรือแผนปฏิบัติการ จำนวน 216+ ข้อ โดยครอบคลุมในทุก ๆ เรื่อง ตอบสนองต่อคนเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ได้หลากหลายกลุ่ม และเราได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและร่วมเสนอความคิดเห็นได้ โดยขณะนี้หลายแผนปฏิบัติการอยู่ระหว่างการดำเนินการ

สำหรับเป้าหมายในปี 2570 คือ กรุงเทพมหานคร เป็น 1 ใน 50 เมืองน่าอยู่ โดยกทม.มีหน้าที่ในการเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสให้ทุกคน และสร้างความไว้วางใจ

ยกตัวอย่างตัวชี้วัดที่สำคัญ เช่น Open Bangkok / สวน 15 นาที สร้างสวนขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วกรุงฯ ใกล้บ้าน / การแยกขยะอย่างเต็มรูปแบบ ลดการฝังกลบขยะ / สร้างทางเท้าที่ปลอดภัย เชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสะดวก / พัฒนาระบบจัดการน้ำ สำรวจจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวัง พัฒนาประสิทธิภาพคลอง ตรวจสอบความพร้อมสถานีสูบน้ำ / เพิ่มพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน / พัฒนาระบบจัดการจราจร ให้มี CCTV มากกว่า 7 หมื่นตัว มีฐานข้อมูลการเชื่อมต่อ การวิเคราะห์การจราจรด้วย AI เป็นต้น

● โครงการสำคัญ

ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงโครงการสำคัญต่าง ๆ อาทิ

- Open Bangkok ให้กรุงเทพฯ เป็นรัฐที่โปร่งใส (Transparency) รัฐที่รับผิดชอบ (Accountability) รัฐที่ประชาชนมีส่วนร่วม (Participatory) เช่น Open Data โดยกทม.ได้เปิดเผยร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 บนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามการใช้งบประมาณของกทม.ได้ นำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เข้ามาใช้เพื่อรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งเป็นการมอบอำนาจ (empower) ให้ประชาชน ทลายไซโล (การทำงานแบบแยกส่วน) เมื่อหลายหน่วยงานเริ่มนำระบบดังกล่าวมาใช้ การทำงานจะไร้รอยต่อ ทลายการทำงานระบบท่อ (pipe line) ลดขั้นตอนการเดินทางของเรื่องต่าง ๆ เพื่อทำให้การทำงานหรือแก้ไขปัญหารวดเร็วขึ้น อีกทั้งการทำงานบนแพลตฟอร์มทุกคนจะมีความเท่าเทียม ไม่มีระบบเส้นสาย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนสามารถเห็นปัญหาและการแก้ไขปัญหาได้เท่าเทียมกัน ปัจจุบันมีคนแจ้งเรื่องร้องเรียนในระบบ 137,738 เรื่อง ได้รับการแก้ไข 75,137 เรื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 65 เวลา 16.45 น.) มากกว่า 50% แล้ว ซึ่งการแก้ไขเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ผู้บริหารสั่งการ แต่ผู้รับผิดชอบโดยตรงแก้ไขได้เลย ผู้ว่าฯ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่านี่คือประชาธิปไตย เราไม่รู้ว่าคนร้องเรียนคือใคร ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ไม่มีเส้นสายว่าเพื่อนคนใหญ่คนโตจากไหน

- การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การที่คนมาที่กรุงเทพฯ เพราะเศรษฐกิจ เพราะธุรกิจ เมืองคือตลาดแรงงาน (labor markets) หน้าที่ของผู้ว่าฯ คือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีทิศทางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน อาทิ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เครื่องประดับ อุตสาหกรรม MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) เป็นต้น

- One Stop Service เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง ลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ

- การจัดเทศกาลตลอดปี ดนตรีในสวน หนังกลางแปลง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านื้ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกใหม่ เมืองนี้เป็นของเขา เมืองแห่งความหวัง เปลี่ยนมุมมอง

- การประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยยกตัวอย่าง การปลูกต้นไม้ล้านต้น ที่ตอนแรกหลายคนไม่คิดว่าจะทำได้จริง ปัจจุบันมีจองปลูกต้นไม้ (ระยะ 4 ปี) แล้วจำนวน 1,641,310 ต้น ดำเนินการปลูกไปแล้ว 112,085 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 65 เวลา 17.45 น.)

- โครงการแยกขยะ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เราเริ่มในวันอาทิตย์นี้ (4 ก.ย. 65) โดยเปิดตัวรถขยะแบบใหม่และเส้นทางนำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม เพื่อขยายผลต่อไป

- Saturday School / Sunday Funday เปิดโรงเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยมีอาสาสมัครมาช่วยสอน ซึ่งไม่ใช่หลักสูตรทางการศึกษา แต่เป็นการสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้
- หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อเข้าถึงเส้นเลือดฝอย รถ Motor lance หน่ายเคลื่อนที่เร็วเพื่อประเมินปฐมพยาบาลและกู้ชีวิตรักษาทันทีที่เกิดเหตุ รถเทเลเมด (telemedicine)

- โครงการจัดระเบียบสายไฟสายสื่อสาร

- ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน เป็นต้น

จากนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงปัจจัยที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ การประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างภาคีเครือข่าย

“งานของเราไม่ใช่แค่การจัดการเมือง เราต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ความหวังในระบบประชาธิปไตยให้กลับคืนมา ที่ผ่านมาคนอาจจะคิดว่าระบบไม่โปร่งใส ไม่มีประสิทธิภาพ เราต้องทำให้เขาเห็นว่าประชาธิปไตยและการเลือกตั้งยังเป็นความหวังและเป็นคำตอบให้กับเรื่องต่าง ๆ ได้ แล้วเราจะเห็นรอยยิ้มของทุกคน และท้ายที่สุด กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย  (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจprbangkok.com)

อนึ่ง ประชาชนสามารถรับชมปาฐกถาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/feHXxMkgpx

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น